xs
xsm
sm
md
lg

"ค้างคาวแวมไพร์" เจ้าอยู่ได้อย่างไร ถ้าแค่ดูดเลือดเพียวๆ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ค้างคาวแวมไพร์ชนิดที่รู้จักกันทั่วไป (ภาพนิวไซแอนทิสต์/Barry Mansell/naturepl.com)
สงสัยกันหรือไม่ว่า "ค้างคาวแวมไพร์" มีชีวิตอยู่ได้อย่างไร แค่ดูดเลือดเป็นอาหารอย่างเดียว งานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้ศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของ "นกมีหู หนูมีปีก" นี้ ช่วยให้ค้างคาวมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดูดเลือดเพียวๆ

กุญแจสำคัญที่ทำให้ค้างคาวแวมไพร์มีชีวิตอยู่ได้ ด้วยการดูดเลือดอย่างเดียว ก็คือการที่เลือดซึ่งเป็นอาหารอย่างเดียวของมันไม่แข็งตัว โดยนิวไซแอนทิสต์รายงานว่า ค้างคาวรักษาเลือดที่ดูดกินไม่ให้แข็งตัว โดยอาศัยยีนซึ่งพบในสัตว์ชนิดอื่นที่เรียกว่า "พลาสมิโนเจน แอคทีเวเตอร์" (plasminogen activator) หรือพีเอ (PA)

สำหรับในคนแล้ว ยีนดังกล่าวช่วยป้องกันภาวะหัวใจวาย โดยการผลิตโปรตีนที่สลายลิ่มเลือด และเคลียร์พื้นที่ภายในหลอดเลือด และก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ยีนนี้ทำงานได้ในน้ำลายของค้างคาวแวมไพร์ด้วย

อย่างไรก็ดี เดวิด ไลเบอร์เลส (David Liberles) นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไวโอมิงในลารามี (University of Wyoming in Laramie) สหรัฐฯ กล่าวว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและมีปีกนี้ ได้ดัดแปลงยีนพลาสมาเจน แอคทิเวเตอร์ หลังจากแยกสายวิวัฒนาการออกมาจากค้างคาวที่กินผลไม้และแมลง

ทั้งนี้เราพบค้างคาวแวมไพร์ได้ในบริเวณระหว่างอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ และจะดูดเลือดจากนกและปศุสัตว์อย่างตะกละตะกลาม ซึ่งทีมวิจัยของไลเบอร์เลสได้เลือกค้างคาว 3 สปีชีส์ ซึ่งมีพฤติกรรมเหมือนแวมไพร์

เหยื่อของค้าวคาวแวมไพร์ขาขน (Hairy-legged vampire bat) คือ นกเท่านั้น ขณะที่ญาติใกล้ๆ ค้างคาวแวมไพร์ปีกขาว (white-winged vampire bat) จะดูดเลือดสัตว์จำพวกนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ที่สำคัญมีเพียงค้างคาวแวมไพร์สามัญ ซึ่งเป็นสปีชีส์ที่รู้จักโดยทั่วไป ที่ดูดเลือดเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น โดยค้างคาวแวมไพร์ประเภทหลังนี้ ชื่นชอบสัตว์จำพวกวัว-ควายมากเป็นเป็นพิเศษ รวมถึงปศุสัตว์อื่นๆ แต่คนที่เผลอนอนหลับนอกบ้านก็อาจเป็นเหยื่อของสัตว์ดูดเลือดชนิดนี้ได้

ในค้างคาวแวมไพร์ 3 สปีชีส์ ยีนพีเอของค้างคาวแวมไพร์ขาขนดูคล้ายกับยีนในค้างคาวที่ไม่ดูดเลือดมากที่สุด การกระตุ้นให้ยีนพีเอทำงานได้ในน้ำลายนั้น ไลเบอร์เลสอธิบายว่า ช่วยให้เลือดของนกไหลได้อย่างอิสระ ส่วนค้างคาวแวมไพร์อีก 2 สปีชีส์ที่เหลือ ซึ่งล่าปศุสัตว์นั้นจำเป็นต้องอาศัยการกลายพันธุ์ของยีน เพื่อปกป้องโปรตีนที่สร้างขึ้นโดยยีนพีเอ ไม่ให้ถูกปิดกั้นการทำงานโดยตัวยับยั้งตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยตัวยับยั้งตามธรรมชาติเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด

"การที่ต้องดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือปัจจัยหลักของการดัดแปลงยีน" ไลเบอร์เลสกล่าว

สำหรับค้างคาวแวมไพร์ชนิดที่ดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ยังต้องการสำเนาของยีนพีเออีหลายสำเนา แต่ทีมวิจัยของลิเบอร์เลสก็ไม่เข้าใจนักว่าทำไม ส่วนค้างคาวแวมไพร์อีก 2 สปีชีส์ที่เหลืออยู่ภายใต้การคัดเลือกทางวิวัฒนาการอย่างเหนียวแน่น ไม่ใช่จากการกลายพันธุ์ แต่อยู่ภายใต้ความจำเป็นทางชีววิทยาเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ยีนพีเอเสื่อมถอยลงได้ หากขาดการใช้งาน ซึ่ง บรูซ แพทเทอร์สัน (Bruce Patterson) นักสัตววิทยาจากพิพิธภัณฑ์ฟิลด์ (Field Museum) ในชิคาโก สหรัฐฯ ระบุว่า การปรับตัวมีบทบาทสำคัญ ต่อวิวัฒนาการของพฤติกรรมแบบแวมไพร์อย่างไม่ต้องสงสัย

อีกทั้งเขาให้ข้อมูลว่า สัตว์แวมไพร์ตัวแรกอุบัติขึ้นบนโลกเมื่อ 26 ล้านปีมาแล้ว โดยบอกได้จากหลักฐานที่เป็นซากฟอสซิล และสัตว์ชนิดนั้นก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับค้างคาวกินแมลง ซึ่งในยุคนั้นอาจจะกินสัตว์อื่นๆ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

ต่างไปจากค้างคาวอื่นๆ ค้างคาวแวมไพร์ จะมีฟันหน้าที่คมราวมีดอวดหลาอยู่ ซึ่งแพทเทอร์สันระบุถึงความคมของฟันค้างคาวแวมไพร์ว่า กะโหลกของเวมไพร์ซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้นแหลมคมพอที่จะบาดมือเราได้ และลิ้นของค้างคาวนี้ก็มีร่องพิเศษที่ช่วยให้เลือดซึ่งเป็นอาหารไหลผ่านหลอดเลือดฝอยได้ ไม่ใช่การดูดกินจ๊วบๆ อย่างที่เข้าใจ

"พวกมันเป็นสัตว์ที่น่าทึ่งจริง" แพทเทอร์สันกล่าว

ด้านลิเบอร์เลสกล่าวว่า หนึ่งในความท้าทายในการประเมินว่าคุณลักษณะอย่างนี้วิวัฒนาการขึ้นเมือใด และอย่างไรนั้นยังขาดข้อมูลพันธุกรรมของค้างคาวแวมไพร์อยู่ และศูนย์สำหรับทำลำดับพันธุกรรมก็ศึกษาเพียงจีโนมของค้างคาวสีน้ำตาลขนาดเล็กเท่านั้น

"โครงการจีโนมค้างคาวแวมไพร์ท่าจะเยี่ยมนะ" ไลเบอร์เลสกล่าว แม้ว่าเขารู้ดีว่าไม่มีโครงการที่จะถอดรหัสพันธุกรรมค้างคาวแวมไพร์ ให้นักวิทยาศาสตร์ได้กระเทาะคำแนะนำหนังสือ "กลายเป็นค้างคาวแวมไพร์" อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น