xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียเปิดตัวสู้ศึกอวกาศแห่งภูมิภาค ส่ง “จันทรายาน” สำรวจผิวดวงจันทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารโครงการอวกาศอินเดีย ชูมือไชโย พร้อมๆ ภาพถ่ายทอดสดจรวดสัญชาติอินเดียที่กำลังนำยานสำรวจดวงจันทร์สัญชาติอินเดีย เป็นฉากหลัง ทะยานสู่ห้วงอวกาศมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ (ภาพ AFP)
“อินเดีย” มาแล้ว หลังตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำด้าน “อวกาศ” แห่งเอเชียมาหลายปี ในที่สุดก็นำส่ง “จันทรายาน” เก็บข้อมูลแข่ง “ญี่ปุ่น-จีน” ที่กำลังง่วนอยู่บนดวงจันทร์ หวังได้แผนที่ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมก้าวสู้ 2 มหาอำนาจอวกาศแห่งเอเชียอย่างเต็มตัว ฝันเป็นเจ้าของเส้นทางการคมนาคมสู่ดวงจันทร์

เสียงยินดีและปรบมือด้วยความดีใจ ดังขึ้นที่ศูนย์อวกาศเมืองสาธิตดาวัน รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย เมื่อจรวดสัญชาติอินเดียนำ "จันทรายาน 1" (Chandrayaan-1) ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกแห่งแดนภารตะทะยายสู่ท้องฟ้าตามเป้าหมาย เมื่อเวลา 7.22 น. ของวันที่ 22 ต.ค.51 (ตามเวลาประเทศไทย) ท่ามกลางท้องฟ้าที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหนา

"นี่นับเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ การเดินทางสู่ดวงจันทร์ของพวกเราเริ่มต้นขึ้นแล้ว และเที่ยวแรกก็เป็นไปอย่างสวยงาม" คำกล่าวแรกระหว่างการแถลงข่าว ของมาธาวัน แนร์ (Madhavan Nair) ประธานองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย หรือ ไอเอสอาร์โอ (Indian Space Research Organisation : ISRO)

ทั้งนี้ ไอเอสอาร์โอมีแผนให้ “จันทรายาน1” ปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์เป็นเวลา 2 ปี โดยโคจรรอบดวงจันทร์ และบันทึกภาพความละเอียดสูง เพื่อสร้างแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์ ที่มีรายละเอียดลักษณะภูมิประเทศ แร่ธาตุ และสภาพทางเคมีต่างๆ

โครงการสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อข้อมูลที่ทันสมัยจากดาวบริวารของโลกเท่านั้น แต่อินเดียต้องการกระโดดเข้าร่วมวงการแข่งขันทางด้านอวกาศของภูมิภาคเอเชีย โดยมีญี่ปุ่นและจีนที่ยังขับเคี่ยว ช่วงชิงการเป็นผู้นำอยู่

ที่สำคัญยานสำรวจดวงจันทร์ของทั้งญี่ปุ่นและจีน ต่างก็ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่เป้าหมายของ “จันทรายาน” ในขณะนี้ มาราวปีกว่าแล้ว แทบจะเรียกได้ว่า สมรภูมิบนดวงจันทร์เป็นสนามช่วงชิงฝีมือแห่งอวกาศของชาติเอเชีย

อย่างไรก็ดี แม้ว่า “จันทรายาน” จะมาทีหลัง แต่อินเดียการันตีว่า เยี่ยมกว่าคากุยะ (Kaguya) ของญี่ปุ่น และฉางเอ๋อ (Chang'e-1) ของจีนอย่างแน่นอน

เพราะอินเดียได้ร่วมมือกับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) ร่วมกันติดตั้งอุปกรณ์มูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อทำแผนที่ดวงจันทร์ที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ทั้งนี้ อินเดียได้อาศัยความร่วมมือจากหลายชาติ ในการสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้ โดยอุปกรณ์ 11 ชิ้นที่จันทรายานบรรทุกขึ้นไปใช้งานที่ดวงจันทร์นั้น ผลิตโดยอินเดีย 5 ชิ้น จากองค์การอวกาศยุโรป 3 ชิ้น อีก 2 ชิ้นจากสหรัฐฯ และอีก 1 ชิ้นจากบัลแกเรีย

”เรายังไม่มีแผนที่ดวงจันทร์ที่ดีและทันสมัยจริงๆ จะมีก็แต่แผนที่ดวงอังคารที่มีคุณภาพ ซึ่งแผนที่ดวงจันทร์ที่เรากำลังจัดทำนี้ถือว่าดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และมีความละเอียดชัดเจนกว่าแผนที่ที่เคยทำไว้ในยุคอะพอลโล” คำวิเคราะห์ของสก็อต เพส (Scott Pace) ผู้อำนวยการนโยบายอวกาศ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน (George Washington University) ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวเอพี

อีกทั้ง ในสายตาของเพสเองก็เห็นว่า กิจการอวกาศของอินเดียเริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ทั้งดาวเทียมเตือนภัยภูมิอากาศ และดาวเทียมระบบสื่อสารที่อินเดียสามารถผลิต ก็มีประสิทธิภาพดี

”คุณกำลังจะเห็นอินเดียยกสถานภาพตัวเอง” เพสชี้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เงินทุนอันมหาศาล ส่งผลให้ทั้งภาคการเมืองและการทหารสามารถลงทุนทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูงได้ พร้อมทั้งต้องการขึ้นมายืนในฐานะผู้นำโลกบ้าง ซึ่งโครงการอวกาศก็นับเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ต่อภาพลักษณ์สภาพทางเศรษฐกิจในสายตานานาชาติ

อินเดียเริ่มโครงการอวกาศตั้งแต่ปี 2506 ด้วยความพยายามพัฒนาดาวเทียมและจรวดนำส่งขึ้นเอง เพื่อลดการพึ่งพาบริษัทขนส่งอวกาศต่างชาติ ซึ่งผลงานการขนส่งอวกาศครั้งแรก ได้เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยนำส่งดาวเทียมพาณิชย์ของอิตาลี และเมื่อต้นปีก็ได้นำส่งดาวเทียมจารกรรมให้แก่อิสราเอล

อีกทั้งการส่งจันทรายานครั้งนี้ นับว่าเป็นการสำรวจอวกาศครั้งแรกของอินเดีย ซึ่งการตั้งเป้าที่จะไล่ตามจีนให้ทันนั้น ยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะตอนนี้เรียกได้ว่า จีนสามารถขึ้นเทียบชั้นสหรัฐฯ, รัสเซีย หรือองค์การอวกาศแห่งยุโรปแล้ว

อีกทั้งจีนเองก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะส่งคนสู่ดวงจันทร์ ตามรอยสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียตในไม่ช้า หลังจากสามารถส่งนักบินอวกาศของตัวเองทดลองเดินอวกาศได้สำเร็จ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนเป้าหมายเฉพาะหน้าของจีนก็คือ ต้องการมีห้องทดลองอวกาศโคจรรอบโลก โดยพยายามขอมีส่วนแบ่งพื้นที่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่กำลังต่อเติมส่วนขยาย โดยมีสหรัฐฯ, รัสเซีย, ญี่ปุ่น แคนนาดา และบางประเทศสมาชิกยุโรปร่วมลงขัน

ส่วนญี่ปุ่นซึ่งมีโครงการด้านอวกาศมายาวนาน ก็มีแผนในอีก 12 ปีข้างหน้าว่าจะส่งคนสู่ดวงจันทร์ พร้อมทั้งยังส่งดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวง เพื่อศึกษาสนามโน้มถ่วงของดวงจันทร์ไปเป็นที่เรียบร้อย

ขณะเดียวกัน การพัฒนาโครงการอวกาศเชิงพาณิชย์ในเอเชีย ก็กำลังขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพในการประยุกต์พัฒนาทางการทหาร อาทิ อาวุธสงครามที่ใช้ฐานบนอวกาศ

ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นก็พยายามหาช่องทางในสนธิสัญญาการห้ามใช้อวกาศเพื่อการทหาร โดยหวังจะนำอุปสรรคทางกฎหมายบางข้อออกจากสนธิสัญญาดังกล่าว เพื่อถางทางสู่การพัฒนาดาวเทียมสอดแนมที่ก้าวล้ำกว่าที่หลายๆ ประเทศผลิตอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ก็ยังเริ่มเข้าร่วมวงแข่งขันด้านอวกาศ โดยการปล่อยดาวเทียมพาณิชย์ไปแล้ว 3 ดวงตั้งแต่ปี 2538 และยังส่งดาวเทียมสื่อสารทางการทหารไปแล้วอีก 1 ดวงในปี 2549

ทว่า อินเดียก็มีแผนก้าวสู่ดวงจันทร์ต่อจากนี้ ด้วยการส่งยานโรลเวอร์ลงจอดที่ดวงจันทร์ เพื่อสำรวจภาคพื้นดินในปี 2554 (อีก 2 ปีข้างหน้า) พร้อมทั้งแผนการส่งมนุษย์สู่ดวงจันทร์ แต่ยังไมได้กำหนดระยะเวลา

นอกจากนี้ องค์การอวกาศอินเดียยังตั้งเป้าไว้อย่างสวยหรูว่า ถ้าอนาคตอวกาศคือเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะระหว่างโลกและดวงจันทร์ อินเดียจะเป็นประเทศแรกที่พัฒนาเส้นทางดังกล่าว

อย่างไรก็ดี การปล่อย “จันทรายาน” อันเป็นก้าวแรกสู่การแข่งขันทางด้านอวกาศครั้งนี้ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลหมดเงินไปกับโครงการอวกาศหลายร้อยล้าน แต่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ก็ยังคงประสบปัญหาความยากจนอย่างรุนแรงอยู่ต่อไป.
มาธาวัน แนร์ ประธานองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย แสดงท่าทางแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ระหว่างการแถลงข่าวปล่อย จันทรายาน1  นับเป็นก้าวแรกของอินเดียสู่การแข่งขันทางด้านอวกาศ (ภาพ AFP)
แบบจำลองของ จันทรายาน1 ที่จะสร้างแผนที่ดวงจันทร์ที่ดีที่สุด (ภาพ AFP)
แม้ท้องฟ้ายามเช้าจะเต็มไปด้วยเมฆหนา แต่ก็สามารถปล่อยจรวดสู่อวกาศได้ด้วยดี (ภาพ AFP)
สื่อมวลชนทั้งอินเดียเอง และนานาชาติจับภาพสำคัญครั้งนี้ (ภาพ AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น