xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียส่งยานอวกาศมุ่งสู่ดวงจันทร์

เผยแพร่:   โดย: ราชา มุรธี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

It’s all go for moon-struck India
By Raja Murthy
21/10/2008

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ การออกเดินทางมุ่งสู่ดวงจันทร์ในวันพุธ(22) ก็จะเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนักแน่นถึงฐานะความเป็นมหาอำนาจอวกาศชั้นนำของอินเดีย ภารกิจคราวนี้ นอกเหนือจากเป็นการสำรวจอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดทำแผนที่ดวงจันทร์ซึ่งมีความละเอียดทั่วด้านเป็นครั้งแรก ตลอดจนเป็นการเสาะแสวงหาลู่ทางโอกาสที่จะทำเหมืองขุดค้นแร่ธาตุบนดวงจันทร์แล้ว ยังได้มีการบรรทุกเอาเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์จากหลายๆ ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ ติดขึ้นไปด้วย

มุมไบ – การเดินทางมุ่งสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกของอินเดีย เริ่มต้นนับถอยหลังเป็นเวลา 52 ชั่วโมงตั้งแต่เช้าวันจันทร์(20) ภารกิจครั้งนี้ซึ่งเป็นการส่งยานอวกาศไร้คนที่ใช้ชื่อว่า “จันทรายาน 1” (Chandrayaan 1) ไปเข้าวงโคจรรอบๆ ดวงจันทร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเร่งเครื่องเพิ่มความเร็ว เพื่อให้บรรลุความทะเยอทะยานในด้านอวกาศของแดนภารตะ โดยที่เป้าหมายของความทะเยอทะยานดังกล่าวนี้ มีอาทิ การเดินทางไปยังดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ขึ้นไปด้วยภายในปี 2015, การไปเยือนดาวอังคารโดยใช้หุ่นยนต์ในการปฏิบัติการภายในปี 2012, และกระทั่งการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์เพื่อเป็นฐานสำหรับการสำรวจดวงดาวต่างๆ

ยานจันทรายาน 1 รูปทรงลูกบาศก์น้ำหนัก 1.3 ตัน ซึ่งแลดูคล้ายกับห่อของขวัญที่ถูกห่อเอาไว้อย่างเร่งรีบด้วยกระดาษสีทอง กำหนดทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจากท่าอวกาศ “ศรีหริโคตา” ใกล้ๆ เมืองเจนไน (มัทราส) ในตอนรุ่งเช้าของวันพุธ(22) ถ้าหากพระผู้เป็นเจ้าทรงคอยปัดเป่าให้ลมฝนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหนีถอยออกไป

ภารกิจสู่ดวงจันทร์ของจันทรายาน 1 มีความโดดเด่นแตกต่างไปจากการเดินทางจากโลกสู่ดาวบริวารดวงนี้ครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยยานอวกาศของอินเดียลำนี้จะสร้างประวัติศาสตร์ ในฐานะยานสู่ดวงจันทร์ลำแรกซึ่งจะทำการโคจรสำรวจอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดทำแผนที่ของดวงจันทร์ทั้งดวงและอย่างครอบคลุมทั่วด้าน ไม่ใช่มุ่งสนใจเพียงแค่บางเขตบางอาณาบริเวณหรือบางแง่บางด้าน

จันทรายาน ซึ่งมีความหมายว่า “ยานแห่งดวงจันทร์” ในภาษาฮินดี จะ “จัดเตรียมข้อมูลสำหรับทำสมุดแผนที่แบบสามมิติ [ด้วยความละเอียดคมชัดที่สามารถบอกตำแหน่งระยะและความสูงได้ในระดับ 5 มิลลิเมตร ต่อ 10 เมตร] ทั้งทางด้านใกล้และทางด้านไกลของดวงจันทร์” ทั้งนี้ตามคำแถลงขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization หรือ ISRO)

การที่อินเดียจะยิงจรวดส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังซวนเซอย่างน่ากลัวเช่นนี้ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอันน่าประทับใจของแดนภารตะเท่านั้น หากยังบ่งชี้ให้เห็นถึงคุณภาพของบรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศของประเทศนี้ด้วย พวกเขาทำให้เป็นที่มั่นใจได้ว่า จันทรายาน 1 ยังจะสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นเอกอัครราชทูตจากโลกสู่ดาวจันทร์ที่มีราคาถูกที่สุดอีกด้วย

ทั้งนี้ จันทรายาน 1 สิ้นค่าใช้จ่ายไป 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับ ยานสำรวจดวงจันทร์ “เซเลเน” (Selene ที่ย่อมาจาก Selenological and Engineering Explorer) ของญี่ปุ่นซึ่งมีมูลค่า 279 ล้านดอลลาร์ และถูกส่งทะยานขึ้นจากท่าอวกาศเกาะทาเนกาชิมะ ของแดนอาทิตย์อุทัยในวันที่ 14 กันยายน 2007

ยิ่งกว่านั้น ในจำนวนค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 74 ล้านดอลลาร์ของจันทรายาน 1 มีถึง 20 ล้านดอลลาร์ทีเดียวที่เป็นการใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันมีค่าที่สามารถใช้สอยต่อไปได้อีก อาทิ การก่อสร้าง สถานีบนโลกเพื่อตรวจจับข้อมูลที่ส่งจากการปฏิบัติภารกิจรอบดวงจันทร์รวม 3 สถานี ที่เรียกกันว่า เครือข่าย “Deep Space Network”, ศูนย์ควบคุมยานอวกาศ, และศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์อวกาศอินเดีย ทั้งหมดเหล่านี้ตั้งอยู่ที่เมืองไบอาลาลู ใกล้ๆ นครบังคาลอร์ ทางภาคใต้ของประเทศ

“เรากำลังใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของเราแทบจะไม่ถึง 0.5% ไปในโครงการวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ของเรา และสิ่งที่เรากำลังใช้จ่ายไปกับจันทรายาน ก็แทบจะไม่ถึง 3% ของงบประมาณของเราตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา” มัธราวัน แนร์ ประธานของไอเอสอาร์โร แถลงต่อผู้สื่อข่าว

แนร์ผู้มีความฝันที่จะจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านอวกาศแห่งแรกของโลก ที่ใช้เวลาร่ำเรียน 4 ปีก็จะสำเร็จการศึกษา และมีโอกาสได้งานทำที่ไอเอสอาร์โร ชอบเล่าอยู่เรื่อยว่าเขารู้สึกประหลาดใจแกมยินดีปรีดา กับผลการศึกษาของสถาบันเศรษฐศาสตร์มัทราส (Madras School of Economics) เมื่อ 5 ปีก่อน ที่ชี้ให้เห็นว่าอินเดียได้ผลตอบแทนกลับมาถึง 2 ดอลลาร์จากทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนไปในโครงการอวกาศของตน งบประมาณด้านอวกาศของอินเดียที่มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์นั้น คิดเป็นแค่หนึ่งในสิบของงบประมาณขององค์การการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) หรือเทียบกับของจีน ก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของโครงการอวกาศของแดนมังกร

อย่างไรก็ดี แนร์ไม่ได้พูดออกมาว่าในงานการศึกษาชิ้นดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่า เงินเดือนเฉลี่ยของพวกนักวิทยาศาสตร์ไอเอสอาร์โรนั้น เป็นเพียงหนึ่งในแปดของเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันในสหรัฐฯและยุโรป ต้นทุนแรงงานที่ต่ำมากๆ เช่นนี้คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อินเดียมีความได้เปรียบในด้านการผลิตดาวเทียมและด้านต้นทุนการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ทั้งนี้ตามรายงานศึกษาวิจัยชิ้นนั้นของสถาบันเศรษฐศาสตร์มัทราส

สภาพเช่นนี้ยิ่งต้องเพิ่มเครดิตให้แก่บรรดานักวิทยาศาสตร์อินเดีย ในเมื่อการได้ค่าจ้างน้อยกว่าไม่ได้ทำให้พวกเขาผละหนีไปหางานในต่างแดนซึ่งจ่ายแพงกว่า หรือลดทอนคุณภาพในการผลิตเทคโนโลยีอันก้าวหน้าทันสมัยต่างๆ เฉกเช่นที่ติดตั้งอยู่ในจันทรายาน 1 ซึ่งกำหนดใช้เวลาท่องอวกาศ 5 วันจึงจะไปถึงดาวจันทร์ แล้วก็จะโคจรรอบๆ ดาวบริวารของโลกดวงนี้เป็นเวลา 2 ปี

ความสำเร็จของจันทรายานของอินเดีย ซึ่งตามหลังยานฉางเอ๋อของจีน และยานสำรวจดวงจันทร์เซเลเนของญี่ปุ่น ทำให้เอเชียดูจะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ ในย่างก้าวแรกๆ ของมนุษยชาติสู่การสำรวจรอบๆ ดวงจันทร์ และเลยพ้นจากดาวบริวารดวงนี้ออกไปอีก

นิตยสารนิวสวีกฉบับ 29 กันยายน 2008 ตีพิมพ์รายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่พาดหัวว่า “การแข่งขันด้านอวกาศที่แท้จริงบังเกิดขึ้นในเอเชีย” นิวสวีกยังเสนอรายงานข่าวต่อไปในฉบับล่าสุด โดยประกาศยกอินเดียว่าเป็นผู้นำรายหนึ่งของโลกในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ โดยสามารถส่งผลให้เกิดการปรับปรุงยกระดับคุณภาพของชีวิตบนโลก เป็นต้นว่า การใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อช่วยเรื่องการสื่อสาร, การเกษตร, การทำนายดินฟ้าอากาศ, การพัฒนาชนบท, และการแพร่ภาพทางโทรทัศน์

นอกเหนือจากการเฉลิมฉลองต่างๆ ในระดับชาติที่จะต้องติดตามมา เมื่อการส่งยานอวกาศประสบความสำเร็จ การสำรวจอวกาศคราวนี้ยังมีโอกาสที่จะได้ผลประโยชน์ชนิดจับต้องได้ในอนาคตอีกด้วย อาทิ การสำรวจอย่างละเอียดของจันทรายาน 1 จะทำให้เพิ่มโอกาสลู่ทางที่จะเสาะหาขุดค้นแร่ธาตุที่มีอยู่บนดวงจันทร์ ซึ่งมีทั้ง แมกนีเซียม, อลูมิเนียม, ซิลิคอน, แคลเซียม, เหล็ก, และ ไททาเนียม

ความยินดีปราโมทย์จะต้องเพิ่มพูนขึ้นอีกมหาศาล ถ้าสามารถค้นพบแหล่งแร่ยูเรเนียม และ ธอเรียม เพื่อนำมาป้อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนโลก รวมทั้งเป็นที่หวังกันว่า จันทรายาน 1 อาจจะสามารถระบุตำแหน่งบริเวณที่มี ฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์ ซึ่งถือกันว่าเป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แน่นอนทีเดียวว่าในความคิดของแดนภารตะแล้ว จันทรายาน 1 จะทำให้อินเดียมั่นคงอยู่ในฐานะมหาอำนาจอวกาศชั้นนำรายหนึ่งของโลก ดังที่ประธานแนร์ ของไอเอสอาร์โรชี้ว่า จวบจนถึงเวลานี้อินเดียสามารถที่จะส่งดาวเทียมออกไปสู่อวกาศเป็นระยะทางไกล 36,000 กิโลเมตรเพื่อเข้าสู่วงโคจรรอบโลกแบบค้างฟ้า แต่จากภารกิจสู่ดวงจันทร์ครั้งนี้ จะทำให้ธงชาติสามสีของอินเดียเดินทางไปไกลจากโลกถึง 400,000 กิโลเมตรทีเดียว

นอกจากนั้น บนยานอวกาศอินเดียลำนี้ ยังบรรทุกเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์รวม 11 รายการ ซึ่งมาจากประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐฯ, เยอรมนี, สวีเดน, และบัลแกเรีย

“ไอเอสอาร์โรไม่ได้คิดเงินสำหรับการบรรทุกเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้เลย” ศรีธาร์ มุรธี กรรมการบริหารของแอนตริกซ์ ซึ่งเป็นกิจการด้านการตลาดของไอเอสอาร์โอ แถลงยืนยัน “จันทรายาน 1 เป็นภารกิจเพื่อวิทยาศาสตร์อย่างบริสุทธิ์ ไม่ได้มีเรื่องการพาณิชย์มาเกี่ยวข้องเลย”

มุรธีบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า ภารกิจสู่ดวงจันทร์ของอินเดียหนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายกิจการทางด้านอวกาศ ซึ่งมีโครงการอย่างเช่น การเพิ่มสมรรถนะของจรวดส่งดาวเทียมแบบให้เข้าสู่วงโคจรค้างฟ้า รุ่น จีเอสแอลวี-3 (Geosynchronous Satellite Launch Vehicle 3) เพื่อให้สามารถนำดาวเทียมขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นสู่อวกาศ (ปัจจุบันจรวดรุ่นนี้สามารถส่งดาวเทียมขนาด 2.5 ตัน) , การส่งดาวเทียมติดตามสังเกตการณ์มหาสมุทรดวงใหม่, และการส่งดาวเทียมสื่อสารที่ก้าวหน้าทันสมัย

ขณะที่การอวดอ้างของแนร์ที่บอกว่าอินเดียมีโครงการอวกาศที่ใช้เทคโนโลยีเหนือชั้นกว่าของจีน น่าจะก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน แต่เวลานี้อินเดียสามารถคุยว่าได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศมา 50 ดวงแล้ว นับแต่ที่ดาวเทียมดวงแรกของตนซึ่งใช้ชื่อว่า “อารยะภัตตะ” ถูกส่งโดยจรวดส่งดาวเทียมรุ่น อินเตอร์คอสมอส ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 1975

เรื่องที่สำคัญมากก็คือ ความสำเร็จของยานอวกาศงบประมาณต่ำอย่าง จันทรายาน 1 จะยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า อินเดียกำลังสร้างชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็วยิ่ง ในฐานะผู้เล่นสำคัญที่เน้นเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และกำลังขยายส่วนแบ่งในกิจกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ของโลกได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อินเดียสามารถพัฒนาจรวดส่งดาวเทียมได้ด้วยตนเองถึง 2 ประเภท นั่นคือ จรวดส่งดาวเทียมแบบให้เข้าสู่วงโคจรผ่านขั้วโลก (Polar Satellite Launch Vehicle หรือ PSLV) และ จรวดส่งดาวเทียมแบบให้เข้าสู่วงโคจรค้างฟ้า (Geosynchronous Satellite Launch Vehicle หรือ GSLV)

ในวันที่ 28 เมษายน อินเดียกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถส่งดาวเทียม 10 ดวงด้วยการส่งขึ้นสู่อวกาศเพียงครั้งเดียว เมื่อจรวดส่งดาวเทียมรุ่น PSLV-C9 ทะยานขึ้นจากท่าอวกาศศรีหริโคตา โดยบรรทุกดาวเทียม 2 ดวงของอินเดีย ได้แก่ คาร์โตแซต-2เอ กับ ไอเอ็มเอส-1 พร้อมด้วยดาวเทียมขนาดจิ๋วอีก 8 ดวงจากประเทศลูกค้าอื่นๆ

จันทรายาน 1 ก็เช่นเดียวกัน ใช้บริการควบขี่ไปกับ “แท๊กซี่อวกาศ” ของอินเดีย นั่นคือ จรวดส่งดาวเทียมแบบ PSLV ซึ่งผลิตกันออกมาใช้งาน 14 ปีแล้ว แต่เป็นเวอร์ชั่นอัปเกรด รุ่น PSLV-C11 ที่มีความสูง 45 เมตร และน้ำหนัก 295 ตัน

สำหรับเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จันทรยาน 1 บรรทุกขึ้นไปด้วยนั้น ได้แก่ เรดาร์ Miniature Synthetic Aperture Radar (MiniSAR) ของสหรัฐฯ โดยเป็นโครงการร่วมของ ศูนย์ทดลองปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ (Applied Physics Laboratory) มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ และศูนย์สงครามทางอากาศของกองทัพเรือสหรัฐฯ (Naval Air Warfare Center), เครื่อง Sub KeV Atom Reflecting Analyser (SARA) จากสถาบันฟิสิกส์อวกาศของบัลแกเรีย, เครื่อง Near Infra Red spectrometer (SIR-2) จากสถาบันแมกซ์ แพลงค์ เมืองลินเดา ของเยอรมนี, เครื่อง Radiation Dose Monitor Experiment (RADOM) ของบัลแกเรีย, และ เครื่อง Moon Mineralogy Mapper (M3) จากมหาวิทยาลัยบราวน์ และ ศูนย์ทดลองปฏิบัติการ NASA Jet Propulsion Laboratory ของสหรัฐฯ

(หมายเหตุผู้แปล: การส่งยาน “จันทรายาน 1” ขึ้นสู่อวกาศเมื่อตอนเช้าวันพุธ(22) ประสบความสำเร็จเป็นอันดี เวลานี้ยานอวกาศของอินเดียลำนี้กำลังเดินทางมุ่งสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น