xs
xsm
sm
md
lg

วงการฟิสิกส์อิตาลีขุ่น "คาบิบโบ" ควรได้โนเบลด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิโคลา คาบิบโบ พลาดโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 2551 ไปอย่างค้านสายตานักวิทย์ร่วมชาติอย่างไม่น่าให้อภัย
เรื่องความขัดแย้งจากการประกาศผลรางวัลโนเบล ที่เริ่มตั้งแต่สาขาแรกการแพทย์ ที่มีเสียงบ่นดังมาจากฟากสหรัฐฯ แล้ว ก็ลุกลามมาถึงสาขาที่สอง ทางด้านฟิสิกส์เอง ก็มีเสียงคัดค้านดังมาจากอิตาลีเช่นกัน ถึงความมีส่วนร่วมต่อการค้นพบและพัฒนาศาสตร์ดังกล่าว

หลังจากการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2551 ได้เพียงวันเดียว สำนักข่าวเอเอฟพีก็รายงานว่า บรรดานักฟิสิกส์ชั้นนำแห่งแดนมักกะโรนี ก็ออกมาส่งเสียงบ้างว่า น่าจะให้ "นิโคลา คาบิบโบ" (Nicola Cabibbo) ได้รับเกียรตินี้ ร่วมกับนักฟิสิกส์เชื้อชาติญี่ปุ่นทั้ง 3 บ้าง

ทั้งนี้ โยอิชิโร นามบุ (Yoichiro Nambu) มาโกโต โคบายาชิ (Makoto Kobayash) และโตชิฮิเดะ มัสกาวา (Toshihide Maskawa) ซึ่งได้รับรางวัลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้นั้น ได้รับคำวิจารณ์ว่า สร้างขึ้นบนพื้นฐานงานของคาบิบโบที่ทำไว้เมื่อปี 2506 โดยสิ่งที่ทั้ง 3 คนค้นพบ ได้นำไปสู่คำอธิบายแนวคิดธรรมชาติของสสาร และการกำเนิดจักรวาล รวมถึงการเกิดบิกแบง เมื่อ 14,000 ล้านปีก่อน

ตามคำสดุดีของคณะกรรมการโนบลระบุว่า นามบุ วัย 87 ปี ได้รับรางวัลครึ่งหนึ่ง ในฐานะที่ศึกษากลไกการทำลายสมมาตรที่เกิดขึ้นเอง (spontaneous broken symmetry) ขณะที่โคบายาชิ วัย 64 ปี และมัสกาวา วัย 68 ปี ซึ่งแบ่งรางวัลครึ่งที่เหลือนั้น พวกเขาค้นพบกำเนิดของการทำลายสมมาตรดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เหล่านักฟิสิกส์อิตาลีชี้ว่า ขอบเขตงานของคาบิบโบ ซึ่งได้รับการขยายความเพิ่มเติม โดยโคบายาชิและมัสคาวานั้น เป็นที่รู้จักในวงการฟิสิกส์ว่า "ซีเคเอ็ม เมทริกซ์" (CKM matrix) ซึ่งเป็นชื่อย่อของทั้งคาบิบโบ โคบายาชิและมัสกาวา

โรเบอร์โต เปตรอนซิโอ (Roberto Petronzio) ประธานสถาบันวิจัยนิวเคลียร์ฟิสิกส์แห่งอิตาลี (Italian Institute of Nuclear Physics) ออกมาแถลงว่า คาบิบโบคือคนแรก ที่เข้าใจกลไกปรากฏการณ์ของควาร์ก ซึ่งได้รับการต่อยอดโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีนี้

"ผมไม่อาจซ่อนความขมขื่นไว้ได้ เพราะโคบายาชิและมัสคาวาได้รับคุณงามความดีไปทั้งหมด จากการนำแนวคิดของคาบิบโบไปต่อยอด" เปตรอนซิโอ กล่าว

ขณะเดียวกัน เซอร์จิโอ เบอร์โตลุซชี (Sergio Bertolucci) ผู้อำนวยการวิจัยขององค์กรความร่วมมือวิจัยระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์หรือเซิร์น (CERN) ในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากจะหาคำใดมาอธิบายจริงๆ

อย่างไรก็ดี เพื่อขยายความและความเข้าใจต่อประเด็นนี้เพิ่มเติม ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามไปยัง ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง ดร.อรรถกฤตได้ให้ความเห็นว่า ผลงานของคาบิบโบก็มีความสำคัญ แต่ผลงานของโคบายาชิและมัสกาวาก็ "เหนือชั้นกว่า" ตรงที่อธิบายอันตรกริยาของควาร์กทั้งหมด 6 ตัว ขณะที่ผลงานของคาบิบโบ ครอบคลุมแค่ 3 ตัวเท่านั้น

"น่าเสียดายแทนเขาที่ไม่ได้ แต่โคบายาชิและมัสกาวามาเหนือเมฆ และมองครอบคลุมมากกว่า โดยเฉพาะการอธิบายอันตรกริยาใน "บิวตีควาร์ก" (Beauty Quark) ซึ่งมีผลมากต่อการพิสูจน์เรื่อง "ซีพีไวโอเลชัน" (CP Violation) ที่อธิบายว่า ทำไมเอกภพถึงมีแต่สสาร แต่ไม่มีปฏิสสาร ขณะที่คาบิบโบไปไม่ถึงตรงนั้น" ดร.อรรถกฤตกล่าว และบอกว่าการมอบรางวัลโนเบลนั้นเหมาะสมแล้ว

ปัจจุบันคาบิบโบเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโรม (University of Rome) และเขาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นแก่สื่อ ต่อประเด็นนี้ ทว่าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในอิตาลีอ้างข้อมูลจากคนใกล้ชิดคาบิบโบว่า ศ.คาบิบโบ รู้สึกขมขื่นไม่น้อย

ที่สำคัญ รางวัลโนเบลในแต่ละสาขานั้น ไม่สามารถให้เกินกว่า 3 คนได้ในแต่ละปี นี่จึงอาจเป็นเงื่อนไขทำให้คาบิบโบไม่ได้ร่วมรับรางวัลก็เป็นได้
มัสกาวา และ โคบายาชิ 2 นักฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเขาทั้งคู่ร่วมกันพัฒนา CKM matrix ซึ่ง M ย่อมาจากมัสกาว, K ย่อมาจากโคบายาชิ แต่ไฉนตัว C ที่ย่อมาจาก คาบิบโบ กลับไม่ทำให้เขาได้มีส่วนร่วมในรางวัลดังกล่าว (ภาพ AFP)



การประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2008

คาบิบโบ และ โคบายาชิ เมื่อครั้งร่วมเวิร์กชอป CKM ในเมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2549 (ภาพ Marcella Bona, Geneva, Switzerland)
กำลังโหลดความคิดเห็น