xs
xsm
sm
md
lg

รอมากว่า 20 ปี ลำโปรตอนแรกสู่เครื่องเร่งอนุภาคใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บีมแรก เดินทางผ่านท่อที่ขดเป็นทางยาว 27 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดินระหว่างพรมแดนสวิส-ฝรั่งเศส หากการยิงลำแสงครั้งนี้ ลำอนุภาคโปรตอนสามารถเดินทางครบวง ตามทิศทางที่คาดไว้ จะนำไปสู่การยิงอนุภาคชนกันถัดมา
"เซิร์น" กดปุ่มเดินเครื่องแอลเอชซี ยิงบีมแรก ทดสอบลำอนุภาควิ่งครบรอบ ในห้องทดลองยักษ์ใต้ดิน เปิดประเดิมภารกิจไขปริศนากำเนิดจักรวาล ที่นักฟิสิกส์ตั้งตาคอย

นับเป็นวันที่หลายคนลุ้นว่า เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ที่สุดในโลก "แอลเอชซี" (Large Hadron Collider : LHC) ที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) หรือชื่อย่อตามภาษาฝรั่งเศสอันเป็นต้นกำเนิดเดิม นามว่า "เซิร์น" (CERN) กำหนดให้วันที่ 10 ก.ย.51 เป็นเวลาแห่งการเดินเครื่อง เพื่อการทดลองค้นหาคำตอบที่นักฟิสิกส์ตั้งคำถามมายาวนาน

ณ เดอะโกลบ อันเป็นห้องรับแขกของเซิร์น บริเวณนอกเมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ คึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อต้อนรับนักข่าวจากทั่วโลก โดยเซิร์นพร้อมเปิดบ้าน ให้ผู้สื่อข่าวเป็นสักขีพยานในการยิงลำแสงแรก ในช่วงเช้าของเวลาทำการ ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง พร้อมทั้งส่งสัญญาณดาวเทียมสู่สถานีโทรทัศน์ทั่วโลก (หากสถานีใดต้องการ) และยังมีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บแคสต์ ให้ได้ชมกันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ดูเหมือนว่าการจราจรบนโลกไซเบอร์จะคับคั่งกว่าที่เซิร์นคาดการณ์ไว้ จึงทำให้หลายๆ พื้นที่ไม่สามารถเข้าชมได้ (รวมถึงทีมงานผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย)

ทั้งนี้ ในเวลา 09.30 น. หรือ 14.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ลำโปรตอนลำแรกได้ถูกยิงเข้าสู่เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุด ซับซ้อนที่สุด และมีมูลค่ามากที่สุดในโลก โดยใช้เวลาสร้างนานถึง 20 ปี กว่าจะได้เดินหน้ายิงลำแสงแรกในวันนี้

เมื่อยิงลำโปรตอนไปแล้ว ต้องรอประมาณ 5 วินาที จึงจะได้ข้อมูลการเดินทางของลำแสง เพื่อวิเคราะห์ต่อไป

อย่างไรก็ดี ในวันแรกของการเปิดใช้เครื่องเร่งอนุภาค หรือ เฟิร์สต์บีมเดย์ (LHC First Beam Day) ครั้งนี้ จะยังไม่มีการชนกันของลำโปรตอนแต่อย่างใด เป็นแค่เพียงการยิงลำแสง 1 ลำเพื่อตรวจสอบดูว่า ลำโปรตอนสามารถเดินทางได้รอบท่อตามที่คำณวนไว้หรือไม่

ส่วนการทดลองยิงลำโปรตอนเพื่อชนกันของอนุภาคครั้งแรกนั้น ทางเซิร์นเปิดเผยว่า คงจะอีกหลายสัปดาห์ถัดจากนี้.
ภายในห้องควบคุมการทำงานของเครื่องเร่งอนุภาค และเครืองตรวจจับอนุภาค ที่วันนี้เปิดรับผู้สื่อข่าวและนักฟิสิกส์เต็มไปหมด (ภาพจากแฟ้ม / AFP)



Special : "เซิร์น" กับปฏิบัติการค้นหาต้นตอจักรวาล

เหล่านักวิทยาศาสตร์ปรบมือแสดงความยินดี ที่ลำแสงแรกได้ยิงเข้าสู่เรื่องเร่งอนุภาค ถือเป็นการตัดริบบิ้นเปิดภารกิจประสาเซิร์น (ภาพ AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น