xs
xsm
sm
md
lg

"เซิร์น" ย้ำไม่ทำโลกหายนะ ซ้ำน้อยกว่าอนุภาคชนกันในธรรมชาติเสียอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพกราฟิกจากเซิร์นแสดงแท่งแม่เหล็กชิ้นสำคัญของเครื่องเร่งอนุภาค (ล่าง) ซึ่งฝังอยู่ใต้แผ่นดินของสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส (ภาพบน)
"เซิร์น" ออกรายงานยืนยัน โลกไม่หายนะแน่นอน เมื่อเดินเครื่องเร่งอนุภาคไขความลับเอกภพ ระบุธรรมชาติมีอนุภาคชนกันมากกว่าเครื่องเร่งของเซิร์นเป็นล้านเท่า ในช่วงหลายพันล้านปีมานี้ แต่โลกยังคงอยู่ได้ ส่วนข้อกังวลว่าจะเกิดหลุมดำกลืนกินโลก ก็แจงว่าหลุมดำจิ๋วจะสลายไปในเวลาอันสั้น

หลายคนกำลังหวั่นวิตกว่า หากองค์การวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organiztion for Nuclear Research) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อย่อภาษาฝรั่งเศสว่า "เซิร์น" (Cern) เดินเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ "แอลเอชซี" (Large Hadron Collider: LHC) เมื่อใด โลกจะตกอยู่ในอันตรายที่ไม่อาจคาดเดาได้

บางคนก็วิจารณ์ว่า หลุมดำจิ๋วที่อาจเกิดขึ้นจากการชนกันของอนุภาคนั้น จะกลืนกินโลกทั้งใบ บ้างก็วิเคราะห์ว่าอนุภาคแปลกๆ ที่เกิดจากเครื่องเร่งอนุภาคจะเผาไหม้โลกจนถึงจุดจบ

ทั้งนี้ เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีซึ่งขดเป็นวงกลมยาว 27 กิโลเมตร ที่ลึกลงไปใต้ชายแดนสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส 100 เมตรนั้น จะบังคับให้อนุภาคโปรตรอนชนกันที่ระดับใกล้ความเร็วแสง

จากนั้นเครื่องตรวจวัดอนุภาคขนาดใหญ่ 6 ตัว ซึ่งทำงานแยกกันโดยอิสระ ก็จะนับ ติดตามและวิเคราะห์อนุภาค ที่ถูกปลดปล่อยออกจากการชนกันดังกล่าว อันจะเป็นการไขความลับเอกภพตามทฤษฎีของนักฟิสิกส์

หากแต่ล่าสุด เซิร์นได้เสนอรายงานที่ระบุว่า การทดลองที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือนี้ "ไม่มีอันตรายใดๆ ที่พอจะเป็นไปได้"

อีกทั้ง บีบีซีนิวส์ได้สรุปรายงานจากการศึกษาโดยนักทฤษฎีชั้นนำของเซิร์น ว่า ตลอดหลายพันล้านปีที่ผ่านมานั้น โลกได้รับผลจากการชนกันของอนุภาคในธรรมชาติเป็นล้านเท่าๆ เมื่อเทียบกับการทดลองของแอลเอชซี แต่โลกก็ยังคงอยู่ และไม่มีหลักการรองรับความกังวลใดๆ เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอนุภาคใหม่หรือการก่อตัวของสสารที่อาจจะเกิดจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี

ทางด้านเดลีเมลรายงานว่า แม้นักวิจัยจะยอมรับว่าเครื่องเร่งอนุภาคนี้ ทดลองที่ระดับพลังงานสูง ในระดับที่ไม่เคยมีเทคโนโลยีใดของมนุษย์ทำได้มาก่อน แต่รังสีคอสมิคจากนอกโลก ที่เกิดจากการชนกันของอนุภาค ก็ทำให้เกิดพลังงานที่สูงกว่าเครื่องเร่งแอลเอชซีมาก ถึงอย่างนั้นก็ไม่ทำให้เกิดผลเสียแต่อย่างใด

เดลีเมลยังระบุด้วยว่าเมื่อปี 2543 ได้มีรายงานว่าเครื่องเร่งอนุภาคอาจทำให้เกิดอนุภาคที่เรียกว่า "สแตรงเลตส์" (stranglets) ซึ่งจะเปลี่ยนนิวเคลียสในอะตอมตั้งต้น ให้กลายเป็นสสารแปลกๆ ที่สร้างความหายนะให้กับโลกได้

หากแต่ในปี 2546 ดร.แอเดรียน เคนท์ (Dr.Adrian Kent) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) สหราชอาณาจักร ได้โต้แย้งว่านักวิทยาศาสตร์คำนวณแล้วว่าไม่พบความเสี่ยงจากอนุภาคแปลกๆ

สอดคล้องกับรายงานล่าสุดของเซิร์นซึ่งนำโดยจอห์น เอลลิส (John Ellis) นักฟิสิกส์ทฤษฎีซึ่งระบุว่า การทดลองก่อนหน้านี้ นักวิจัยไม่สามารถสร้างอนุภาคที่ว่าได้ และอุณหภูมิที่เกิดขึ้นก็ไม่สูงอย่างที่กังวล

และแม้นักวิทยาศาสตร์จะยอมรับว่าเครื่องเร่งอนุภาค ทำให้เกิดหลุมดำจิ๋วขึ้นมาได้ แต่หลุมดำที่ว่านั้นเกิดขึ้นได้จากการชนกันของควาร์ก (quark) และกลูออน (gluon) ซึ่งอยู่ในอนุภาคโปรตรอน ดังนั้นจึงสลายไปอยู่ในรูปของอนุภาคที่สร้างหลุมดำนั้นขึ้นมาได้ และคาดว่าช่วงอายุของหลุมดำจิ๋วนั้นจะสั้นมากๆ

สำหรับกำหนดการเดินเครื่องเร่งอนุภาคของเซิร์นนั้น เดิมกำหนดไว้วันที่ 26 พ.ย.50 แต่ก็เลื่อนออกมาหลายครั้ง โดยการเลื่อนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือน มี.ค.ของปีที่แล้ว อันเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแม่เหล็กชิ้นสำคัญ ส่วนกำหนดล่าสุดอยู่ในช่วงปลายฤดูร้อนของซีกโลกเหนือซึ่งอยู่ในราวเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

*หมายเหตุ ภาพประกอบทั้งหมดจากเซิร์น
เจ้าหน้าที่กำลังติดตั้งชิ้นส่วนปลีกย่อยในเครื่องตรวจจับอนุภาคอลิซ (ALICE)
ภาพการติดตั้งท่อลำเลียงอนุภาคชิ้นสุดท้าย
กังหันยักษ์ (Big Wheel) ของเครื่องตรวจจับอนุภาคแอตลาส (ATLAS)
กำลังโหลดความคิดเห็น