xs
xsm
sm
md
lg

เก็บตกตัวเลขน่ารู้ จากเครื่องเร่งอนุภาคยักษ์ LHC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องตรวจวัดอนุภาค CMS หนึ่งในเครื่องตรวจวัดอเนกประสงค์ ที่จับอนุภาคต่างๆ (ภาพ CERN)
หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่า เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของ "เซิร์น" จะยิ่งใหญ่อลังการ หรือมีมูลค่ามหาศาลเพียงใด ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้ จากนิตยสารเนเจอร์ และสำนักข่าวเอเอฟพีมาให้อ่านกัน

- อุโมงค์ใต้ดินของแอลเอชซีขดเป็นวงกลม ยาว 27 กิโลเมตร

- ถนนที่ตัดไว้บนอุโมงค์ จำกัดความเร็วรถยนต์ไว้ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ความเร็วสูงสุดในการเคลื่อนที่ของอนุภาคโปรตอนในเครื่องเร่งอนุภาค เท่ากับ ประมาณ 1,000 ล้าน กิโลเมตร/ชั่วโมง (99.9999991% ของความเร็วแสง)

- ถ้านักฟิสิกส์จะขับรถให้ได้ 1 รอบ บนเครื่องเร่งอนุภาค ต้องใช้เวลา 32 นาที แต่อนุภาคโปรตอนเคลื่อนที่ในอุโมงค์ครบ 1 รอบ ด้วยเวลาเพียง 1 ใน 10,000 วินาที

- มวลของอนุภาคโปรตอนทั้งหมด ที่เคลื่อนที่ในเครื่องเร่งอนุภาค ณ เวลานั้น เท่ากับ 0.00000000047 กรัม

- น้ำหนักทั้งหมดของเรือรบบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน (USS Ronald Reagan) เท่ากับ 88,000 ตัน

- ขณะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุด อนุภาคโปรตอนในเครื่องเร่งอนุภาคจะมีพลังงานสะสม 362 เมกะจูล ขณะที่เรือยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน แล่นด้วยความเร็ว 5.6 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง จะมีพลังงานสะสม 361 เมกะจูล

- มูลค่าของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี คือ 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 140 พันล้านบาท) ส่วนเรือยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน มีมูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 155 พันล้านบาท)

- ระบบที่เป็นสุญญากาศในเครื่องเร่งอนุภาค มีปริมาตรทั้งหมดประมาณ 9,000 ลูกบาศก์เมตร

- ปริมาตรภายในหอนาฬิกาบิกเบน (Big Ben clock tower) ประเทศอังกฤษ เท่ากับ 4,650 ลูกบาศ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของเครื่องเร่งอนุภาค

- เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ใช้เวลาสร้าง 14 ปี ส่วนหอนาฬิกาบิกเบน ใช้เวลาสร้าง 13 ปี

- ต้องใช้แผ่นดีวีดีประมาณ 6 ล้านแผ่น สำหรับเก็บข้อมูลทั้งหมด ที่ได้จากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี

- แผ่นดีวีดี 4 ล้านแผ่น วางซ้อนกัน ได้ความสูงถึง 6.9 กิโลเมตร แต่ภูเขามองต์บลังค์ (Mount Blanc) ในเทือกเขาแอลป์ สูง 4.8 กิโลเมตร

- ลูกโป่งสวรรค์ใช้ก๊าซไฮโดรเจนลูกละ 0.75 กรัม ส่วนเครื่องเร่งอนุภาคต้องการไฮโดรเจนวันละ 0.000000002 กรัม ดังนั้นก๊าซไฮโดรเจนจากลูกโป่ง 1 ลูก สามารถป้อนให้กับเครื่องเร่งอนุภาคได้นานถึง 1 ล้านปี

- อุโมงค์สุญญากาศในท่อส่งลำแสงของเครื่องเร่งอนุภาคมีความดันเท่ากับ 10^-13 บรรยากาศ ความดันบรรยากาศบนดวงจันทร์ มีค่าเท่ากับ 10^-12 บรรยากาศ

- เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีมีแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวดอยู่ทั้งหมด 1,232 ตัว โดยที่แต่ละตัวมีความแรงของสนามแม่เหล็กเท่ากับ 8.3 เทสลา (สนามแม่เหล็กไฟฟ้าต้นแบบมีความแรงเท่ากับ 1 เทสลา)

- การชนกันของอนุภาคโปรตอน ที่เกิดขึ้นในเวลาเศษเสี้ยวของชั่วพริบตา จะทำให้เกิดความร้อนสูง มีอุณหภูมิมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 100,000 เท่า ซึ่งคล้ายกับสภาวะการณ์หลังการเกิดบิกแบง (Big Bang) เมื่อ 13.7 พันล้านปีก่อน

- เครื่องตรวจจับที่ติดตั้งอยู่โดยรอบ จะบันทึกภาพ 3 มิติ ขณะดำเนินการทดลอง ทำให้เห็นภาพอนุภาคใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการชนกันของอนุภาคโปรตอน เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนที่และคุณสมบัติโดยละเอียด

- เมื่อเดินเครื่องด้วยกำลังสูงสุด เครื่องเร่งอนุภาคจะทำให้เกิดการชนกันของอนุภาคได้ประมาณ 1,000 ล้านครั้ง/วินาที และคอมพิวเตอร์กริดติดตั้งไว้เหนือพื้นดินบริเวณนั้น 3,000 เครื่อง จะคัดกรองข้อมูลการชนที่น่าสนใจประมาณ 100 ครั้ง และข้อมูลที่ได้จะถูกส่งวิเคราะห์ยังคอมพิวเตอร์กริดที่กระจายอยู่ในสถาบันต่างๆ ทั่วโลก

- ภายในอุโมงค์เครื่องเร่งอนุภาค คล้ายกับเป็นเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอุณหภูมิ -271 องศาเซลเซียส เย็บเฉียบยิ่งกว่าห้วงอวกาศลึก แต่เป็นอุณภูมิที่เหมาะสม สำหรับหล่อเย็นให้แม่เหล็กตัวนำยิ่งยวดในการเอาชนะความต้านทานได้

- เครื่องตรวจวัดอนุภาคแอตลาส (ATLAS) มีขนาดใหญ่ที่สุด ในจำนวนเครื่องตรวจวัดอนุภาคทั้งหมด 4 เครื่อง โดยมีความกว้าง 46 เมตร และสูง 25 เมตร หรือมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่ง ของวิหารนอเทอร์แดม (Notre Dame Cathedral) ในกรุงปารีส มีน้ำหนัก 7,000 ตัน ซึ่งพอๆ กับหอไอเฟล (Eiffel Tower) และมีสายเคเบิลยาว 3,000 กิโลเมตร

- ต้องใช้ก้อนหิน 300,000 ตัน และคอนกรีตอีก 50,000 ตัน จึงจะฝังเครื่องตรวจวัดอนุภาคแอตลาสนี้ไว้ได้

- ใน 1 ปี เครื่องตรวจวัดอนุภาคแอตลาส สามารถสร้างข้อมูลดิบได้ 3,200 ล้านล้านไบต์ (terabytes) หรือประมาณ 160 เท่าของหนังสือ 3,000 ล้านเล่มที่ห้องสมุดรัฐสภาของสหรัฐฯ (US Library of Congress) จะบรรจุได้

- ช่วงเวลาทดลองแต่ละครั้งใช้เวลา 10 ชั่วโมง ลำแสงจะเคลื่อนที่ไปเป็นระยะทางมากกว่า 10,000 ล้านกิโลเมตร ซึ่งไกลพอจะเดินทางไปกลับระหว่างโลกและดาวเนปจูนได้

- ที่ความแรงเต็มพิกัด ลำแสงแต่ละลำจะมีพลังงานเทียบเท่ากับ พลังงานในการเคลื่อนที่ของรถยนต์ที่ความเร็ว 1,600 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเครื่องเร่งอนุภาคจะต้องใช้พลังงาน 120 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้ในครัวเรือนทั้งหมดในกรุงเจนีวา

- การชนกันของอนุภาคที่เกิดขึ้นในเครื่องเร่งอนุภาค จะก่อให้เกิดพลังงาน 14 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ (ล้านล้านอิเล็กตรอนโวลต์) (TeV) โดย 1 TeV เทียบเท่ากับพลังงานในการเคลื่อนที่ของยุง 1 ตัว ซึ่งไม่เป็นอันตรายแม้แต่น้อยตามคำกล่าวของเซิร์น.
เครื่องตรวจวัดอนุภาค ATLAS ใหญ่ที่สุดในบรรดาเครื่องตรวจวัดทั้ง 4 คุณสมบัติคล้ายๆ CMS ที่จับอนุภาคต่างๆ (ภาพ CERN)



Special : "เซิร์น" กับปฏิบัติการค้นหาต้นตอจักรวาล

ท่อนำส่งลำแสง ขดเป็นวงกลมยาวถึง 27 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น