"เรามาจากไหน" "จักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร" และ ยังมีอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้หน้ากาก ที่เรามองเห็นอีกหรือไม่ หล่านี้..จึงเป็นเหตุให้นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาความลับ ที่ซ๋อนอยู่ในธรรมชาติ และมุ่งมันที่จะเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริง ของสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในจักรวาล ซึ่งส่วนหนึ่งถูกร้อยเรียงออกมา ผ่านหนังสือ "ทอถักจักรวาล
ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลีกเวลาว่างจากงานสอน มาจับปากกาแปลหนังสือเล่มแรก "ทอถักจักรวาล" (The Fabric of the Cosmos) ผลงานของ ไบอัน กรีน (Brian Greene) นักฟิสิกส์แถวหน้าของโลก ที่ว่าด้วยเรื่องเวลา อวกาศ และจักรวาล อ่านเข้าใจง่าย พร้อมความตื่นเต้นและท้าทายในการค้นหาปริศนาที่ซ่อนเร้นอยู่ในธรรมชาติ
"ไบอัน กรีน เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลก มีความเชี่ยวชาญในฟิสิกส์อย่างลึกซึ้ง และสามารถถ่ายทอดออกมา เป็นหนังสือที่คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ไม่ยาก โดยใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบแทนการอธิบายด้วยสมการที่ซับซ้อน" ดร.อรรถกฤต บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ และเล่าถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ว่า
"ทอถักจักรวาล" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาทั้งหมด อธิบายเนื้อหา ตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน ระดับมัธยมปลาย ไปจนถึงชั้นสูงขึ้นไป จักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิวัฒนาการมาอย่างไร และจะเป็นไปในรูปแบบไหน ซึ่งผู้เขียนค่อยๆ ร้อยเรียงเรื่องราวเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ขณะที่ "เดอะ อิลีแกนต์ ยูนิเวิร์ส" (The Elegant Universe) ผลงานเรื่องแรกของไบรอัน กรีน เจาะจงไปที่เรื่องของทฤษฎีสตริง ซึ่งมีเนื้อหาที่ยากและลึกมากกว่า แต่ว่าเขาก็สามารถอธิบายให้คนอ่านเข้าใจได้เช่นกัน
ดร.อรรถกฤต บอกว่า ตั้งแต่เห็นหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก โดยที่ยังไม่ได้อ่าน ก็คิดแล้วว่า ถ้าหากแปลออกมาดี ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างมาก และคะเนว่าน่าจะใช้เวลาราว 3-4 เดือน ก็แปลเสร็จ เพราะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขาก็ทำงานในสาขานี้อยู่แล้ว แต่พอแปลจริงๆ กลับใช้เวลานานกว่านั้น รวมแล้วประมาณ 1 ปี
"เป็นหนังสือแปลเล่มแรก จึงได้ขอคำปรึกษาจากนักเขียนนักแปลท่านอื่นๆ ด้วย ในส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นั้นไม่มีปัญหา แต่ความยากอยู่ตรงที่ ผู้เขียนอธิบายด้วยการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ จากวัฒนธรรมของเขาเอง ซึ่งแตกต่างจากของเรา จึงต้องใช้เวลาพอสมควร ที่จะอธิบายให้คนไทยอ่านแล้วเข้าใจได้ โดยที่เนื้อหายังถูกต้องตามต้นฉบับเดิม" ดร.อรรถกฤต เผยถึงอุปสรรคของการแปลหนังสือเล่มแรกของเขา
"เวลาพูดถึงอวกาศ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงแต่ดวงดาว ทว่าจริงๆ แล้วยังมีสิ่งอื่นซ่อนอยู่ในนั้นอีกมาก"
"สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันอาจขัดกับสามัญสำนึกของเราโดยสิ้นเชิง หลายๆ ครั้งที่เราคิดว่าเราเข้าใจดีแล้ว หรือเปิดเผยความลับของธรรมชาติได้แล้ว กลับพบว่าเราเพียงแค่ถอดหน้ากากอันหนึ่งออก เพื่อไปพบกับหน้ากากอันใหม่ใ ห้เราพยายามถอดอีก และอาจจะถอดยากกว่าอันแรกเสียด้วยซ้ำ"
"ขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านก็จะได้เห็นว่าแท้จริงแล้วธรรมชาติเจ้าเล่ห์แสนกลเพียงใด แม้ในปัจจุบันเราอาจมีเทคโนโลยีมากมาย แต่เรายังเข้าใจธรรมชาติเพียงแค่ 5% เท่านั้นเอง" ดร.อรรถกฤต เล่า
นอกจากนี้ ดร.อรรถกฤต ยังได้กล่าวถึงหนังสืออีก 3 เล่ม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกัน และอยู่ในชุดเดียวกันกับทอถักจักรวาล ได้แก่ ประวัติย่อของหลุมดำ, ควอนตัมจักรวาลใหม่, เรื่องของเวลา ซึ่งพิมพ์ออกมาก่อนไม่นานนัก และไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่หนังสือแปลชุดนี้ ถูกพิมพ์ออกมาในขณะที่เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ (LHC) ของเซิร์น (CERN) กำลังเดินเครื่องอยู่ในขณะนี้
"คนทั่วไป ที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน ก็สามารถอ่านเข้าใจได้ไม่ยาก และอาจได้ไอเดียใหม่ๆ ยิ่งหากเป็นคนที่สนใจในวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ยิ่งต้องไม่พลาดเด็ดขาด"
"หนังสือชุดนี้ จะบอกให้รู้ถึงขอบเขตของวิทยาศาสตร์ ทำไมต้องศึกษาวิทยาศาสตร์ และศึกษาไปเพื่ออะไร หลังจากที่เซิร์นเดินเครื่อง LHC แล้ว ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เราจะได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และจะมีการทดลองอื่นๆ ตามมาอีกมากมายที่จะพิสูจน์ทฤษฎีต่างๆ ซึ่งเราอาจไม่เคยคาดคิดว่าจะทำได้"
"มันจะทำให้เราได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น เข้าใจจักรวาลมากขึ้น ซึ่งอาจเปลี่ยนมุมมองของเราในขณะนี้ไปได้โดยสิ้นเชิง เหมือนเมื่อ 100 ปีก่อน ที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องของอะตอม คนส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ ทั้งยังกลับมองว่าศึกษาไปทำไม รู้แล้วได้อะไรขึ้นมา แต่ระยะเวลาหลังจากนั้นไม่ถึง 50 ปี ก็มีทรานซิสเตอร์เกิดขึ้น และอีกมากมายจนมาถึงยุคนาโนเทคโนโลยีในปัจจุบัน" ดร.อรรถกฤต แจง
ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ ยังสอดแทรกวิธีคิด กระบวนการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คน เช่น ไอแซค นิวตัน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่ง ดร.อรรถกฤต บอกว่า อยากให้เด็กและเยาวชนได้อ่าน และซึมซับส่วนนี้ให้มากๆ ไม่อยากให้มอง แต่ผลสำเร็จปลายทางของพวกเขาเพียงอย่างเดียว แล้วคิดว่า เป็นเพราะความอัจฉริยะเท่านั้น ที่ทำให้พวกเขาสำเร็จได้
"อัจฉริยะอย่างเดียวไม่พอหรอก มันต้องมีสิ่งอื่นประกอบด้วย ทั้งความอดทน ความอุตสาหะ ความเพียรพยายาม"
"คนทั่วไปมักคิดว่า ขณะที่นิวตันนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิล เมื่อลูกแอปเปิลหล่นใส่หัว เขาก็คิดกฏความโน้มถ่วงได้ทันที แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ นิวตันต้องศึกษาค้นคว้าต่อมาอีกหลายปีถึงจะเข้าใจทฤษฎีนี้"
"ไอน์สไตน์ก็เช่นเดียวกัน เขาใช้เวลานับ 10 ปีเพื่อที่จะทำความเข้าใจ กับเพียงทฤษฎีเดียวให้ได้ และในเล่มนี้ก็กล่าวถึงพวกเขาด้วย ซึ่งเด็กไทยส่วนใหญ่ยังขาดสิ่งเหล่านี้อยู่" อาจารย์ฟิสิกส์ จากจุฬาฯ กล่าว
ดร.อรรถกฤต ทิ้งท้ายไว้ว่า หนังสือวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยยังมีน้อยมากๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร จึงอยากเห็นหนังสือแนวนี้ที่มีคุณภาพพิมพ์ออกมามากขึ้นในบ้านเรา ซึ่งผู้เขียนหรือผู้แปล อาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่มีความสนใจและสามารถถ่ายทอดเรื่องราววิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปเข้าใจได้
วิทยาศาสตร์อาจไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เราอยากรู้ได้ทั้งหมด แต่อยากให้เข้าใจในหลักของวิทยาศาสตร์ คือกระบวนการคิดแบบมีเหตุผล อยากให้คนไทยคิดเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ถ้าคิดมีเหตุผลก็จะเกิดผลดีต่อสังคมตามมา.