xs
xsm
sm
md
lg

"ฮอว์กิง" ทำ "ฮิกกส์" เดือดหลังวางร้อยเหรียญ พนัน "เซิร์น" ไม่เจออนุภาคพระเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตีเฟน ฮอว์กิง (ภาพจากแฟ้ม เอพี/รอยเตอร์)
"ฮอว์กิง" นักฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหลุมดำที่สุดในโลก วางเดิมพัน 100 เหรียญ ฟันธง "เซิร์น" ไม่เจออนุภาคพระเจ้าแน่นอน ซ้ำยังบอกน่าตื่นเต้นหากหาไม่เจอ เพราะจะชี้ชัดว่ามีบางอย่างที่ผิด ด้าน "ฮิกก์ส" เจ้าของทฤษฎีอนุภาคออกมาโต้แสบ บอกไม่เคยอ่านวิจัยที่ฮอว์กิงยืนยันว่าไม่มี "อนุภาคฮิกก์ส" แต่เท่าที่อ่านงานบางชิ้นผลงานก็เขียนไม่ดีสักเท่าไหร่

การตัดริบบิ้นเดินเครื่องการทดลองวิทยาศาสตร์อันซับซ้อนผ่านไปด้วยดี เมื่อเซิร์น (CERN) หรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) ปล่อยลำแสงแรกเข้าเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ไปเมื่อวันที่ 10 ก.ย.51 หากแต่การทดลอง "ของจริง" ที่จะเร่งอนุภาคโปรตอนชนกันนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกนาน

ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ซึ่งฝังตัวอยู่ได้พรมแดนสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส คือ การค้นหาสัญญาณของอนุภาคฮิกก์ส (Higgs boson) หรือที่ขนานนามกันว่า "อนุภาคพระเจ้า" (God Particle) ซึ่งคาดว่าจะเผยออกมา หลังการเร่งอนุภาคให้ชนกัน ที่ความเร็วใกล้แสง

อย่างไรก็ดี นักฟิสิกส์ชื่อก้อง สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) ได้ออกมาพนันด้วยเงิน 100 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,500 บาท ว่า การทดลองของเซิร์นนั้น จะไม่พบอนุภาคที่เปรียบเสมือน "จอกศักดิ์สิทธิ์" (holy grail) แห่งวงการจักรวาลวิทยาอย่างแน่นอน

สำนักข่าวเอเอฟพีซึ่งอ้างรายงานจากวิทยุบีบีซีระบุ ถึงคำให้สัมภาษณ์ของฮอว์กิงว่า แอลเอชซีจะเพิ่มระดับพลังงาน จนเราสามารถศึกษาอันตรกริยาของอนุภาคได้ และเชื่อว่ากันว่า ที่ระดับพลังงานดังกล่าวจะทำให้พบอนุภาคฮิกก์ส

"ผมว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยิ่งกว่า หากเราหาอนุภาคฮิกก์สไม่พบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีบางอย่างที่ผิดพลาด และเราต้องกลับมาคิดกันอีกครั้ง ผมพนัน 100 เหรียญเลยว่าเ ราจะไม่พบฮิกก์ส" ฮอว์กิง เจ้าของงานเขียน "ประวัติย่อกาลเวลา" (A Brief History of Time) กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์คนอื่นยังมีความคิดในบวก โดยฮูแบร์ต รีฟส์ (Hubert Reeves) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์เลอมาร์แตง (Le Matin) ของสวิตเซอร์แลนด์ว่า เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีนั้น อาจเปลี่ยนแปลงวงการฟิสิกส์อนุภาคไปตลอดกาล

"เครื่องจักรนี้อาจนำมาซึ่งผลอันไม่อาจคาดเดา ที่สามารถเปลี่ยนทิศทางวงการฟิสิกส์อนุภาคได้ มันเป็นเครื่องมือที่น่าประทับใจมาก" รีฟส์กล่าว และเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ของสถานที่ตั้งเครื่องเร่งอนุภาค ราวกับเป็นโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์

ขณะที่มีคำถามถึงความเป็นไปได้ ในการพบอนุภาคฮิกก์ส ทางด้านฮอว์กิงก็กล่าวการทดลองที่จะเกิดขึ้นอาจค้นพบ "คู่ยิ่งยวด" (superpartner) ซึ่งเป็นอนุภาคที่จะเป็น "คู่สมมาตรยิ่งยวด" (supersymmetric partners) กับอนุภาคซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว

"การมีอยู่ของอนุภาคคู่ยิ่งยวด จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะยืนยันทฤษฎีสตริง และอนุภาคเหล่านี้ สามารถสร้างสสารมืดอันลึกลับซึ่งยึดกาแลกซีไว้ด้วยกัน ไม่ว่าแอลเอชซีจะพบอะไร หรือล้มเหลวที่จะพบ ผลที่ออกมาก็จะบอกเราถึงโครงสร้างของเอกภพ" ฮอว์กิงกล่าว

ปัจจุบันฮอว์กิงวัย 66 ปีนี้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) สหราชอาณาจักร ทั้งนี้เขาป่วยเป็นโรคเซลล์ประสาทเคลื่อนไหวผิดปกติ (motor neuron disease) ตั้งแต่อายุ 22 ปี ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และต้องนั่งอยู่บนรถเข็นและพูดผ่านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สังเคราะห์เสียง

อย่างไรก็ดี เมื่อฮอว์กิงออกมาท้าทายเช่นนี้ ปีเตอร์ ฮิกก์ส (Peter Higgs) ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (Edinburgh University) แห่งสหราชอาณาจักร ผู้นำเสนอการมีอยู่ของอนุภาค "ฮิกก์ส" ก็ได้แถลงกับสื่อมวลชน บนเกาะอังกฤษตอบโต้การแสดงความเห็นดังกล่าวของเพื่อนร่วมชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตามรายงานของไทม์

"ผมขอสารภาพว่า ผมไม่เคยอ่านงานวิจัยที่สตีเฟน ฮอว์กิงทำ เพื่อยืนยันในสิ่งที่เขาอ้าง แต่ผมได้อ่านหนังสือที่เขาเขียน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องพื้นๆ ของการคำนวณที่เขาทำ และขอพูดอย่างตรงไปตรงมาเลยนะ ผมไม่คิดว่าสิ่งที่เขาทำมันดีนักหรอก ในความเข้าใจของผม เขาจับทฤษฎีฟิสิกส์อนุภาค มารวมกับแรงโน้มถ่วง ในวิธีที่ไม่มีนักฟิสิกส์อนุภาคคนไหน เชื่อว่าจะเป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง" ไทม์รายงานคำพูดของฮิกก์ส ระหว่างการแถลง

ฮิกก์สยังกล่าวอีกว่า ในความเห็นของเขานั้น การทำให้ทฤษฎีฟิสิกส์อนุภาค ทฤษฎีควอนตัม เป็นทฤษฎีที่สอดคล้องกันแล้ว ต้องใส่อะไรลงไปมากกว่าแค่แรงโน้มถ่วง  ซึ่งเขาเชื่อว่าฮอว์กิงคงไม่ได้ทำอย่างนั้น และกล่าวด้วยว่า เขาสงสัยอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคำนวณของฮอว์กิง แต่เมื่อพูดถึงจุดนี้ไทม์ระบุว่า ภายในการแถลงข่าวได้เปลี่ยนเรื่อง เพื่อยุติการแสดงความเห็นนี้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ไทม์ระบุว่าฮอว์กิงและฮิกก์ส ต่างเป็นคู่แข่งที่จะได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งจะได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลการทดลองที่จะออกมาจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีของเซิร์น และการโต้เถียงของทั้งสอง ทำให้เกิดแรงกดดันมหาศาลต่อองค์กรวิทยาศาสตร์แห่งนี้

ฮิกก์สซึ่งปัจจุบันอายุ 79 ปีแล้ว ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับอนุภาคฮิกก์สตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ซึ่งก่อนหน้านั้นนักฟิสิกส์ ต่างสงสัยมานานว่าอนุภาคมีมวลได้อย่างไร โดยเขาอธิบายว่าไ ด้เขียนเอกสารยาว 2 หน้า ที่กลายเป็นพื้นฐานของฟิสิกส์อนุภาคในปัจจุบัน ซึ่งงานของเขาได้แสดงให้เห็นว่า อนุภาคที่ไม่มีมวลเปลี่ยนไปเป็นอนุภาคที่มวลได้อย่างไร.
ปีเตอร์ ฮิกก์ส ภายในอุโมงค์ที่บรรจุเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (ภาพจากแฟ้มเอเอฟพี)



Special : "เซิร์น" กับปฏิบัติการค้นหาต้นตอจักรวาล

เจ้าหน้าที่ของเซิร์นตรวจความเรียบร้อยของสถานีต่างๆ ในเครื่องเร่งอนุภาคผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งแถบสีเขียวแสดงความปกติ (ภาพจากเซิร์น)
กำลังโหลดความคิดเห็น