xs
xsm
sm
md
lg

2 นักวิจัยแพทย์รับรางวัล "นักวิทย์ดีเด่น"51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์
"นักวิทย์ดีเด่น" ประจำปี 2551 ตกเป็นของ 2 นักวิจัยด้านการแพทย์รับรางวัล หนึ่งเป็นนักวิจัยแอนติบอดีจากเทคนิคการแพทย์ มช. เจ้าของชุดตรวจนับเม็ดเลือดขาวผู้ป่วยเอดส์ "ดร.วัชระ กสินฤกษ์" และอีกหนึ่งเจ้าของผลงานศึกษาลงลึกระดับดีเอ็นเอ "ดร.อภิวัตน์ มุทิรางกูร"

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2551 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.51 ณ โรงแรมสยามซิตี โดยปีนี้รางวัลตกเป็นของ ศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ อาจารย์จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานของ ศ.ดร.วัชระศึกษาคือการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตและโมโนโคลนอลแอนติบอดี ซึ่งเป็นสารชีวโมเลกุลที่ทำปฏิกิริยากับแอนติเจนได้อย่างจำเพาะและสามารถผลิตได้ในห้องปฏิบัติการ จึงมีการนำโมโนโคลนอลแอนติบอดีนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรค รวมถึงการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรค

ทั้งนี้เขาได้นำความรู้ซึ่งศึกษาต่อเนื่องมา 15 ปีนี้ไปพัฒนาชุดน้ำยาตรวจนับเม็ดเลือดขาวชนิด "ซีดีโฟร์ โพสิทีฟ ลิมโฟไซต์" (CD4+ lymphocytes) สำหรับผู้ป่วยเอดส์ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ (Flow cytometer) ที่มีอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลและยังลดเวลาตรวจน้อยลง 4 เท่า

ศ.ดร.วัชระยังเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์และผู้สื่อข่าวที่มาร่วมงานแถลงว่า ได้นำความรู้แอนติบอดีนี้ไปใช้พัฒนาชุดตรวจผู้เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งไม่สามารถแยกแยะได้จากภายนอกแต่เมื่อผู้เป็นพาหะโรคมีลูกด้วยกัน และเด็กที่เกิดมาก็จะเป็นโรคธาลัสซีเมียหรืออาจจะเสียชีวิตตั้งแต่เกิด

ทั้งนี้ ชุดตรวจพาหะธาลัสซีเมียดังกล่าวเป็นแบบแถบคล้ายชุดตรวจการตั้งครรภ์ ซึ่งเพียงหยดเลือดผสมในน้ำยาแล้วใช้แถบกระดาษจุ่มลงไปเพียง 3 นาทีก็ทราบผล หากเป็นแถบม่วง 2 แถบแสดงว่าเป็นพาหะแต่ถ้าเป็นแถบเดียวแสดงว่าไม่ใช่

นอกจากนี้ ศ.ดร.วัชระยังมีโครงการที่จะพัฒนาชุดตรวจวัณโรค รวมถึงได้ศึกษาวิจัยชุดตรวจระยะเริ่มต้นก่อนที่จะเป็นมะเร็ง แต่พัฒนามาได้ 3 ปีแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากโรงพยาบาลศิริราชพัฒนาชุดตรวจไข้เลือดออก โดยเขารับผิดชอบในการผลิตแอนติบอดี ซึ่งเขาได้สรุปสั้นๆ ว่าชุดตรวจต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นนั้นมีฐานจากการศึกษาแอนติบอดี

ทางด้าน ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ศึกษาโรคมะเร็งในระดับพันธุกรรม โดยเชื่อว่าหากเข้าใจการเปลี่ยนแปลงระดับยีนของเซลล์จะนำไปสู่เทคนิคการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต ทั้งนี้การรักษามะเร็งด้วยยาในปัจจุบันมีผลกระทบที่ไม่สามารถฆ่าเฉพาะเซลล์มะเร็ง หากเราทราบว่าเซลล์ไหนคือมะเร็งก็สามารถพัฒนายาที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็งชนิดนั้นได้ และผลจากการศึกษาพบว่ามีดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอพสไตน์บาร์หรืออีบีวี (Epstein Barr virus: EBV) ปะปนในกระแสเลือดซึ่งยังไม่มีใครค้นพบมาก่อน ซึ่งนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคมะเร็งโพรงจมูกและเป็นมาตรฐานในการคัดกรองมะเร็งชนิดนี้

พร้อมกันนี้มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ยังได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2551 จำนวน 5 รางวัลได้แก่ ผศ.นพ.ดร.นรัตถพล เจริญพันธุ์ จากเครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมุ่งวิจัยเพื่อตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรให้กระดูกของคนไทยสมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด จึงได้วิจัยเพื่อทำความเข้าใจกลไกควบคุมสมดุลแคลเซียมทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและรักษาภาวะการเสียมวลกระดูก

จากผลการวิจัยของ ผศ.นพ.ดร.นรัตถพล ทำให้เกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับกลไกดูดซึมแคลเซียมของลำไส้และความเข้มข้นของแคลเซียมในโพรงลำไส้ที่เหมาะสมต่อการดูดซึม เพื่อนำไปสู่วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของยาเสริมแคลเซียมและอาหารแคลเซียมสูง อีกทั้งยังมีงานวิจัยตรวจหายีนรวมถึงโปรตีนชนิดใหม่ในเซลล์ลำไส้และเซลล์กระดูก ซึ่งอาจช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก

ผศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิจัยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของไหลวิกฤติยิ่งยวดเพื่อสกัดพืชสมุนไพร และใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทำปฏิกิริยาชีวมวลจากการเกษตรเพื่อเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม

ดร.นราธิป วิทยากร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ศึกษาวิจัยในการพัฒนาเพียโซอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเซรามิกส์ที่เปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้าและเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานกลได้ คุณสมบัติดังกล่าวนำไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ พรินเตอร์อิงค์เจ็ท เป็นต้น โดยได้ทำการวิจัยหาองค์ประกอบเคมีที่เหมาะสมเพื่อให้ได้วัสดุที่มีคุณสมบัติเพียโซเซรามิกส์ ทั้งนี้ได้ศึกษาเซรามิกส์ 2 ชนิดคือชนิดที่มีตะกั่วและไม่มีตะกั่วเป็นองค์ประกอบ

ผศ.ดร.สาธิต แซ่จึง ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำงานวิจัยคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาการลู่เข้าของแบบแผนเวียนบังเกิดจุดตรึงในปริภูมิบานาค (Convergences of fixed point iteration schemes in Banach spaces) ซึ่งเขาอธิบายง่ายๆ ว่างานวิจัยที่เขาศึกษาคือ การหาคำตอบของสมการไม่เชิงเส้น ซึ่งเป็นสมการที่มักใช้ในการแก้ปัญหาในทางเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำวิจัยทางด้านจัรวาลวิทยา ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นการศึกษาที่รวมศาสตร์ทางด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ ทั้งนี้ปัญหาในทางจักรวาลวิทยาคือพบว่าเอกภพขยายตัวด้วยอัตราเร่งซึ่งยังไม่มีทฤษฎีที่จะอธิบายได้ และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einsteim) ที่อธิบายเรื่องความโน้มถ่วงได้ดีที่สุดก็ไม่สามารถอธิบายปัญหาดังกล่าว

เขาจึงได้พยายามขยายความทฤษฎีโน้มถ่วงของไอน์สไตน์ โดยเพิ่มมิติที่ 5 และพลังงานมืด (Dark Energy) เข้าไปในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และยังใช้ผลทางจักรวาลวิทยาเพื่อตรวจสอบว่าทฤษฎีใดควรจะเป็นทฤษฎีสรรพสิ่ง (Theory of Everything) ที่สามารถรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปและทฤษฎีควอนตัมไว้ด้วยกันได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ใครสามารถรวมทฤษฎีที่อธิบายเรื่องความโน้มถ่วงกับทฤษฎีที่อธิบายเรื่องอะตอมและอนุภาคได้ที่สุดทั้งสองได้

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นนั้น ดร.กอปร กฤตยากีรณ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าเริ่มมีการมอบรางวัลเมื่อปี 2525 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองและสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีและเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย" และในปี 2526 ก็ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นการถาวร

ปีนี้ทางมูลนิธิได้เพิ่มรางวัลให้กับผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นจากเดิมที่ได้ให้คนละ 200,000 บาท เป็นคนละ 400,000 บาท และ ดร.กอปรยังได้เผยอีกว่าในส่วนของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้เริ่มขึ้นในปี 2534 เพื่อมอบรางวัลให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี.
ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
พิธีประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น