เหตุความไม่สงบในชายแดนใต้ ที่ผู้ก่อเหตุอาศัยช่องทางของเทคโนโลยี จุดระเบิดสังหารผู้บริสุทธิ์ ทำให้ "นักวิจัย" กลุ่มหนึ่ง ต้องลุกขึ้นมาจับมือกับ "นักรบ" สร้างอุปกรณ์ตัดสัญญาณจุดระเบิดจากมือถือ และยังพัฒนาไปถึงอุปกรณ์ ที่สามารถตัดสัญญาณควบคุมจากรีโมตรถยนต์ได้ด้วย
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อความมั่นคงของประเทศ ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้พัฒนาขึ้นโดยเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ "ที-บ็อกซ์ 3.0" (T-Box 3.0) และเครื่องรบกวนสัญญาณเครื่องควบคุมระยะไกล "ที-บ็อกซ์ 3.0อาร์" (T-Box 3.0R) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในภารกิจป้องกันและปราบปราม กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของหน่วยงานเพื่อความมั่นคงและการป้องกันประเทศ
ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศ ของเนคเทค กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ช่วงปี 2548-2549 มีข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนออกมารายวัน และที่น่าจะจำกันได้ดีคือเหตุระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งคนทั่วประเทศได้เห็นภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เขาคิดว่าใ นฐานะที่ตัวเองเป็นนักวิจัยนั้นจะทำอะไรเพื่อชาติได้บ้าง และได้คำตอบว่าน่าจะเครื่องรบกวนสัญญาณจุดระเบิด
กอปรกับช่วงนั้น ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตตระกูล ผู้อำนวยการเนคเทคในขณะนั้น และ ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้นเช่นกัน ได้เสนอให้ "นักรบ" ได้พบ "นักวิทยาศาสตร์" และได้ข้อสรุปว่าน่าจะทำเครื่องรบกวนสัญญาณจุดระเบิดมือถือ โดยเขามีเวลาในตอนนั้นเพียง 60 วัน สำหรับผลิตเครื่องรบกวนสัญญาณจำนวน 40 เครื่อง เพื่อใช้ในภารกิจชายแดนภาคใต้
"ตอนนั้นเราทำงานกัน 24 ชั่วโมง กิน-นอนอยูที่แล็บ แต่ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ ผลรุ่นแรกที่ผลิตออกมาก็ใช้งานได้ผลพอสมควร แม้ประสิทธิภาพจะยังไม่เยอะมาก พอได้เห็นภาพข่าวว่าทหารเอาไปใช้งานจริง ก็ภูมิใจ หายเหนื่อย และเชื่อว่าคนที่ถูกทำร้ายด้วยวิธีนี้น้อยลงอย่างแน่นอน จนผู้ก่อการร้ายต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น"
ดร.ศิวรักษ์กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหารในบางพื้นที่ ไม่มีเครื่องมือสำหรับตัดสัญญาณจุดระเบิดจากโทรศัพท์มือถือใช้เลย หรือที่มีอยู่ก็ใช้ของที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงมาก จึงมีจำนวนไม่มาก และหากจัดซื้อก็ไม่ทันการณ์ สำหรับรุ่นแรกที่ส่งไปภาคสนามก็ได้รับความเห็นจากเจ้าหน้าที่ทหารกลับมาว่า เครื่องดังกล่าวดีหรือไม่ดีอย่างไร แล้วนำกลับมาปรับปรุง
ปัจจุบันเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่พัฒนามาถึงรุ่นที่ 3 แล้ว โดยมีประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น รบกวนสัญญาณได้ระยะทางมากขึ้น อีกทั้งปัญหาประสิทธิภาพที่ลดลงเมื่อใช้งานนาน ซึ่งเกิดขึ้นกับเครื่องทั้งที่เนคเทคพัฒนาในช่วงแรกๆ กับเครื่องที่นำเข้าจากของต่างประเทศ ก็ได้รับการแก้ไขในเครื่องรุ่นล่าสุด ซึ่งได้ผลิตขึ้น 88 เครื่องด้วยงบประมาณ 42 ล้านบาท และแจกจ่ายให้กับทหารที่ปัจจุบันงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณจากเครื่องควบคุมระยะไกลหรือรีโมตสำหรับรถยนต์ เนื่องจากผู้ก่อการร้ายได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อความไม่สงบไปเรื่อยๆ และกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนาม ส่วนการพัฒนาต่อไป ดร.ศิวรักษ์ระบุว่า จะทำให้ "ที-บ็อกซ์" มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้อยุ่ระหว่างเจรจากับทางกลาโหมและการทหารว่าจะถ่ายทอดอย่างไร เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานด้านความมั่นคง
สำหรับ "ที-บ็อกซ์" นั้นเป็นชื่อย่อมาจาก "ทวิสเตอร์" (Twister) เนื่องจากลักษณะการทำงานรบกวนสัญญาณที่คล้ายพายุหมุน และเมื่อเดือน มี.ค.51 ที่ผ่านมา ผลงานชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลชมเชยด้านผลงานเพื่อสังคม ประเภทบุคคลทั่วไป ของรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 3 ด้วย.