xs
xsm
sm
md
lg

23 ก.ย."วันอิควินอกซ์" โลกเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ร่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

23 ก.ย.  วันอิควินอกซ์ โลกเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ร่วง (ภาพจาก autumn-pictures.com)
หลายคนอาจไม่ทราบว่า วันที่ 23 ก.ย.นี้ คือ "วันอิควินอกซ์" ซึ่งกลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันพอดี และเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในทิศตะวันออกกับทิศตะวันตกจริงๆ แล้ววันนี้มีความสำคัญอย่างไร?

นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ให้ข้อมูลกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ในหนึ่งปีนั้นมีวันอิควินอกซ์ (Equinox) หรือวันวิษุวัต 2 วันคือ 21 มี.ค.และ 23 ก.ย.

ตามความหมายแล้ว วันนี้เป็นวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน อีกทั้งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี โดยเกิดขึ้นเช่นนี้เพราะโลกเอียง 23.5 องศา และดวงอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นเวลาเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกันทุกวัน แต่ (ตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้า) เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ให้เห็นเป็นรูปเลข 8 ในรอบปี

"สำหรับวันอิควินอกซ์นั้น มีเอฟเฟกต์แรงกับคนที่อาศัยอยู่ทางซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ประชาชนรับรู้ได้ชัดเจน อย่างฤดูร้อน ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็ว ตี 4 ก็สว่างแล้ว แต่ 2 ทุ่มกลับยังไม่มืด พอหน้าหนาว 8 โมงยังไม่สว่าง แต่ 4 โมงเย็นอาทิตย์ตกแล้ว จึงต้องมีการปรับเวลา เพราะมีผลกับชีวิต การเพาะปลูก เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน" นาวาอากาศเอกฐากูรกล่าว

"ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของนาฬิกาแดด ส่วนไทยซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เรารับรู้การเปลี่ยนแปลงแค่ดวงอาทิตย์ขึ้นช้า-เร็ว แต่ก็ไม่มากนัก ด้านการเพาะปลูกเราได้รับผลมาจากมรสุมมากกว่า เราจึงมีความรู้เรื่องนี้น้อย เด็กๆ รู้แค่จากการอ่านตำรา"  

อีกทั้ง นาวาอากาศเอกฐากูรยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ในวิถีไทยก็มีเรื่องของตำแหน่งดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าอยู่บ้าง แต่ไม่ได้สะท้อนมาเป็นความรู้เรื่องวันอิควินอกซ์ เช่น ในฤดูเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านจะรู้ว่าดวงอาทิตย์จะอ้อมไปทางใต้ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า "ตะวันอ้อมข้าว" หรือช่วงเพาะปลูกดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็ว พืชจะได้รับแสงมาก

ทั้งนี้ลีซาจะได้จัดกิจกรรม "ตะวันอ้อมข้าว ดูดาวบนฟาง" เพื่อให้นักเรียนประถมได้เรียนรู้ดาราศาสตร์เรื่องตำแหน่งดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าผ่านวิถีชาวบ้านในช่วงเดือน พ.ย.นี้ที่ จ.ชัยภูมิ ด้วย

นอกจากวันอิควินอกซ์ จะเกี่ยวเนื่องกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าและความมืดสว่างแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับฤดูกาลด้วย โดยข้อมูลจากเอกสารปฏิบัติการ "อีราโตสทีเนส" (Eratosthenes) วัดโลกทั้งใบด้วยไม้แท่งเดียวขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดย นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน ผู้เป็นวิทยากร ระบุว่าโลกมีลำดับฤดูกาลดังนี้

1.วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 21 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่เส้นศุนย์สูตร และกลางวัน-กลางคืนยาวเท่ากัน โดยซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ แต่ซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

2.วันครีษมายัน (Summer Solstice) ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย.หรือ 22 มิ.ย.ในปีอสุธิกมาส เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่ละติจูด 23.5 องศาเหนือ และมีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด กับกลางคืนสั้นที่สุดในซีกโลกเหนือซึ่งเข้าสู่ฤดูร้อน แต่ซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว โดยมีกลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุด

3.วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่เส้นศูนย์สูตร และกลางวัน-กลางคืนยาวเท่ากัน โดยซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง แต่ซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

4.วันเหมายัน (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค.หรือ 22 ธ.ค.ในปีอสุธิกมาส เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่ละติจูด 23.5 องศาใต้ และมีช่วงเวลากลางคืนยาวที่สุดกับกลางวันสั้นที่สุดในซีกโลกเหนือซึ่งเข้าสู่ฤดูหนาว แต่ซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูร้อน โดยมีกลางวันยาวที่สุด และกลางคืนสั้นที่สุด.
ภาพแสดงโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยมุมเอียง 23.5 องศา และทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยตำแหน่งโลกบนและล่าง เป็นวันอิควินอกซ์ ส่วนภาพซ้ายเป็นภาพโลกในวันครีษมายัน และโลกในตำแหน่งขวามืออยู่ในวันเหมายัน (ภาพจาก schoolsobservatory.org.uk)
กำลังโหลดความคิดเห็น