xs
xsm
sm
md
lg

ทะเล พระจันทร์ และการพบกันของดาราศาสตร์กับชาวเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เด็กๆ ชาวเลทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าน้ำทะเลย่อมมีขึ้นและมีลง และรู้ด้วยว่าพระจันทร์มีข้างขึ้นข้างแรม แต่ทะเลและพระจันทร์มีความสัมพันธ์กันอย่างไรยังไม่มีใครตอบได้ พวกเขาจึงมาหาคำตอบในค่ายดาราศาสตร์สำหรับชาวเล

ดาราศาสตร์หรือวิชาที่ว่าด้วยเรื่องของดวงดาวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากและสัมพันธ์กับเราอย่างที่สุด เพราะโลกของเราก็คือดาวดวงหนึ่งในจักรวาล ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ หรือลีซา (LESA) จึงไม่พลาดที่จะนำพาเหล่าเยาวชนมาค้นหาความลับของโลกและจักรวาลกันอีกครั้งในกิจกรรมค่ายดาราศาสตร์สำหรับชาวเล ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกาะสีชัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 25-27 ม.ค.51 ที่ผ่านมา

ทะเลและพระจันทร์คือเป้าหมายสำคัญของกิจกรรมครั้งนี้ โดยมีเด็กๆ ชาวเล 10 ชีวิต จากโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เป็นผู้สังเกตการณ์ พร้อมด้วยเพื่อนนักเรียนและครูอาจารย์จากโรงเรียนพันธมิตรของลีซาอีกกว่า 20 คน

ในแต่ละวันเด็กๆ ทุกคนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันวัดระดับน้ำทะเลและบันทึกการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลทุกๆ 1 ชั่วโมง พร้อมทั้งวัดมุมดวงจันทร์และจดบันทึกด้วยในเวลาเดียวกันเมื่อยามที่ดวงจันทร์ปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าเหนือเกาะสีชัง แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาศึกษาวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของดวงจันทร์และระดับน้ำทะเลในวันสุดท้ายของการทำกิจกรรม

ส่วนเวลาอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เด็กๆ ได้ศึกษาลักษณะของเมฆ และชื่อเรียกของก้อนเมฆชนิดต่างๆ โดยมี น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผอ.ลีซา และทีมงานเป็นผู้ให้ความรู้ ตลอดจนศึกษาประวัติศาสตร์ของเกาะผ่านพิพิธภัณฑ์จุฑาธุราชสถาน ศึกษาธรรมชาติของเกาะในบริเวณใกล้เคียง กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสันทนาการต่างๆ

น.ส.สุดธิดา หาญทะเล หรือหญิง ชั้น ม. 3 จากโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง เล่าว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางออกจากเกาะหลีเป๊ะ เช่นเดียวกับเพื่อนๆ อีกหลายคน ซึ่งเป็นชาว “อูรักลาโว้ย” ชนพื้นเมืองของเกาะหลีเป๊ะและใช้นามสกุลเดียวกันทั้งเกาะว่า “หาญทะเล

“รู้สึกสนุกและตื่นเต้นมากๆ ที่ได้มีโอกาสออกมาทัศนะศึกษานอกเกาะที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิด ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้เห็นอะไรมากมายที่ต่างไปจากบนเกาะหลีเป๊ะ ที่สำคัญคือได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของระดับน้ำทะเลและดวงจันทร์ที่มีทีผลต่อการออกเรือของชาวประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวอูรักละโว๊ยด้วย และแต่เดิมก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าทั้งสองสิ่งเกี่ยวข้องกันอย่างไร” หญิงเล่า

หญิงบอกอีกว่า เธอยังไม่ค่อยรู้นักว่าน้ำขึ้นน้ำลงสังเกตได้อย่างไร แต่จะรู้ว่าเวลาที่ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงชัดเจน เรียกว่า “น้ำเป็น” ส่วนเมื่อใดที่ระดับน้ำทะเลคงที่หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมากๆ เมื่อนั้นเรียกว่า “น้ำตาย

หลังจากจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลและมุมของดวงจันทร์ที่ช่วงเวลาต่างๆ ได้ครบถ้วนตามที่วางแผนกันไว้ ก็ถึงเวลาที่เด็กๆ ต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อไขปริศนาระหว่างดวงจันทร์และน้ำทะเลที่ทุกคนอยากรู้กันเต็มแก่แล้ว

ทุกคนนำข้อมูลของระดับน้ำทะเลและมุมของดวงจันทร์ที่บันทึกไว้ในเวลาต่างๆ มาเขียนกราฟ และศึกษาความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่ง พบว่า ยามใดที่ดวงจันทร์ขึ้น น้ำทะเลก็ขึ้น เมื่อดวงจันทร์ลอยสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย กระทั่งดวงจันทร์เริ่มคล้อยต่ำลง น้ำทะเลก็เริ่มลดระดับลงเช่นกัน และจะสังเกตได้ว่าปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงเกิดขึ้นอย่างละ 2 ครั้งใน 1 วัน

น.อ.ฐากูร อธิบายให้เด็กๆ ฟังว่า โลกและดวงจันทร์มีแรงดึงดูดต่อกัน และเนื่องจากน้ำเป็นของเหลวที่ สามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวได้มากกว่าของแข็ง ดังนั้นเราจึงสังเกตเห็นแรงดึงดูดของดวงจันทร์ที่กระทำต่อโลกได้ชัดเจนจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นเมื่อยามที่ผิวโลกด้านนั้นหันหน้าเข้าหาดวงจันทร์ หรือในยามค่ำคืนที่เรามองเห็นดวงจันทร์นั่นเอง

ทว่าในความเป็นจริงดวงจันทร์ขึ้นในช่วงหัวค่ำและลับฟ้าเมื่อยามรุ่งสาง ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงก็น่าจะเกิดขึ้นเพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น ไม่ใช่ 2 ครั้งอย่างที่เด็กๆบันทึกได้

น.อ.ฐากูร ไขความกระจ่างว่า นั่นเป็นเพราะดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกหมุนรอบตัวเอง ทั้งโลกและดวงจันทร์ต่างมีแรงดึงดูดที่ดึงฝ่ายตรงข้ามเข้าหากัน พื้นผิวโลกด้านที่หันหน้าเข้าหาดวงจันทร์ จะถูกดวงจันทร์ดึงดูดเข้าหามากที่สุด เป็นเหตุให้น้ำขึ้น ซึ่งแรงดึงดูดจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปในส่วนของโลกที่อยู่ห่างไกลจากดวงจันทร์มากขึ้น ฉะนั้นด้านที่อยู่ตรงข้างกับดวงจันทร์จึงถูกดึงดูดน้อยที่สุด ทำให้ระดับน้ำบริเวณนั้นสูงขึ้นหรือเกิดน้ำขึ้นเช่นกัน เพราะส่วนอื่นๆ ของโลกถูกดึงโน้มไปทางดวงจันทร์มากกว่า

เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนด้านที่หันเข้าหาดวงจันทร์ ระดับน้ำทะเลก็เปลี่ยนตาม กระทั่งหมุนไปได้ 180 องศา ด้านที่เคยหันหน้าเข้าหาดวงจันทร์จะกลายเป็นด้านที่อยู่ตรงข้าม ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่จะสังเกตน้ำทะเลขึ้นสูงอีกครั้งในวันเดียวกันของบริเวณนั้น

ผอ.ลีซา อธิบายต่อไปว่า ในคืนเดือนเพ็ญและคืนเดือนมืด คือ ขึ้น 15 ค่ำ และ แรม 15 ค่ำ เป็นคืนที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ต่างดึงดูดโลกด้วยกันทั้งคู่ ทำให้น้ำทะเลขึ้นสูงมากกว่าปกติ เรียกว่า “น้ำเป็น” หรือ “น้ำเกิด

ขณะเดียวกันในคืนขึ้น 8 ค่ำ และแรม 8 ค่ำ ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับโลก ทำให้แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่ส่งเสริมกัน ระดับน้ำทะเลจึงขึ้นและลงไม่ต่างกันมากนัก เรียกว่า “น้ำตาย

ด.ญ.นิตยา หาญทะเล หรือ แย้ม ชั้น ม.2 อีกหนึ่งเยาวชนชาวอูรักลาโว้ย บอกว่า ได้ความรู้จากค่ายดาราศาสตร์สำหรับชาวเลครั้งนี้มากมาย ทั้งวิธีดูเมฆและเรียกชื่อก้อนเมฆที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเมฆก็มีชื่อเรียกด้วย ศึกษาความสัมพันธ์ของดวงจันทร์และน้ำขึ้นน้ำลง เพราะก่อนหน้านี้ไม่รู้แม้กระทั่งว่าทั้ง 2 อย่างนี้เกี่ยวข้องกัน แต่ผู้ใหญ่ที่เกาะจะดูรู้ว่าเมื่อใดน้ำขึ้นเมื่อใดน้ำลง และควรจะออกเรือหาปลาตอนไหน

“การดูน้ำขึ้นน้ำลงเป็นมีประโยชน์มากเลยค่ะ อย่างเช่นหากจะออกเรือไปหาหอยก็ต้องดูก่อนว่าน้ำขึ้นหรือน้ำลง เพราะเป็นคนที่ชอบกินหอยและก็ชอบหาหอยมาก ถ้าน้ำขึ้นจะไปไม่ได้ต้องรอให้น้ำลงก่อนถึงจะออกเรือได้ เพราะว่าหอยส่วนใหญ่จะเกาะอยู่ตามโขดหิน ทั้งหอยเม่น หอยนางรม หอยมือเสือ ถ้าน้ำขึ้นมากจะลำบาก ต้องดำน้ำลงไปลึกกว่าปกติ” แย้มเล่าและบอกอีกว่า ปู่ของเธอจะเป็นคนบอกเธอว่าเวลาไหนน้ำขึ้นน้ำลง และคอยบอกให้เตรียมตัวเมื่อถึงเวลาที่จะออกเรือไปเก็บหอย แต่หลังจากนี้แย้มมั่นใจว่าจะบอกปู่ได้ว่าระดับน้ำทะเลจะขึ้นหรือลงเมื่อใดบ้าง

นอกจากความรู้ที่ได้จากค่ายดาราศาสตร์สำหรับชาวเล แย้มและเพื่อนๆ ชาวอูรักลาโว้ยยังได้รู้ได้เห็นสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่ต่างไปจากบนเกาะหลีเป๊ะ

“ตั้งแต่ขึ้นฝั่งที่ จ.สตูล และเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จนมาถึงเกาะสีชัง ก็สัมผัสได้ถึงมลพิษต่างๆ อากาศไม่บริสุทธิ์ มีต้นไม้น้อย น้ำทะเลไม่ใส และไม่มีปะการังเหมือนที่หลีเป๊ะ ทำให้รู้สึกรักหลีเป๊ะมากยิ่งขึ้น ไม่อยากให้ธรรมชาติของหลีเป๊ะถูกทำลาย” แย้มกล่าว

อย่างไรก็ดี แย้มบอกว่าเดี๋ยวนี้สภาพแวดล้อมที่เกาะหลีเป๊ะเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากมีนายทุนและนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ที่เห็นได้ชัดก็คือขยะเกลื่อนชายหาด ซึ่งเด็กๆ อูรักลาโว้ยกลัวว่าสักวันหนึ่งเกาะหลีเป๊ะจะไม่เหลือความงดงามตามธรรมชาติให้ชนรุ่นหลังอีก

“หนูอยากเรียนต่ออะไรก็ได้ที่สามารถช่วยเกาะหลีเป๊ะและชาวอูรักลาโว้ยได้ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล ครู หรือทนายความ โดยส่วนตัวก็ชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย จึงอยากนำความรู้ที่ได้จากวิชานี้ไปช่วยรักษาธรรมชาติของเกาะหลีเป๊ะให้คงอยู่ตลอดไป” แย้มเผยความตั้งใจ

ด้าน น.ส.มาริสา มงเล่ห์ คุณครูวิชาวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ที่นำพาเด็กๆ อูรักลาโว้ยมาร่วมค่ายดาราศาสตร์สำหรับชาวเลในครั้งนี้ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆได้ความรู้มากมายและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญพวกเขาได้เปิดโลกทัศน์ เพราะโดยปกติเด็กเหล่านี้จะไม่ค่อยมีโอกาสได้เดินทางออกจากเกาะ เพราะอยู่ไกลจากฝั่งมากและค่าเดินทางก็แพง

“ชาวหลีเป๊ะส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะฐานะค่อนข้างยากจน เด็กๆ จึงต้องช่วยครอบครัวทำงานหาเลี้ยงชีพ บางคนเป็นลูกจ้างทำงานที่ร้านอาหาร บาร์ หรือรีสอร์ท ทำให้มาเรียนไม่สม่ำเสมอ บางคนก็เรียนไม่จบ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนต่างถิ่นที่เข้าไปหาผลประโยชน์บนเกาะ” ครูมาริสา เปิดเผย

“อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือการทำประมงที่พวกเขายังขาดความรู้ความเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ไม่สนใจว่าช่วงไหนเป็นฤดูที่ปลาวางไข่ สนใจแค่ว่าต้องจับปลาให้ได้มากๆ ซึ่งทางโรงเรียนก็ต้องสอนนักเรียนถึงสิ่งนี้ด้วย เพราะการประมงเป็นอาชีพหลักของเขา หากวันใดไม่มีปลาแล้วพวกเขาจะเป็นอย่างไร” ครูมาริสากล่าว ซึ่งครูก็คาดหวังว่าเมื่อพวกเขาได้รู้จักโลกกว้างมากขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้พวกเขามุ่งมั่นเรียนจนจบการศึกษาระดับสูงสุดเพื่อประโยชน์ของเด็กๆ และชาวอูรักลาโว้ยเอง











กำลังโหลดความคิดเห็น