xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ใช้ T-Groin แก้ปัญหาชายฝั่งบางขุนเทียนถูกกัดเซาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.สรุปใช้ T-Groin แก้ปัญหาชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ถูกกัดเซาะ โดยใช้งบ 316 ล้านบาท เร่งสร้างภายใน 4 เดือนนี้ พร้อมเตรียมเชิญผู้ว่าเมือง นายกเทศมนตรีเมืองกลุ่มประเทศอาเซียน ประชุมลดโลกร้อนที่ กทม.เดือนเมษายนนี้

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ว่า โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ซึ่งทาง กทม.ได้หารือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟเทคโนโลยี จำกัด บริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด
 
โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชียวชาญจากบริษัท URS Corparation ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 โดยได้มีการศึกษาสำรวจในด้านต่างๆ อาทิ ด้านธรณีวิทยา อุทกศาสตร์ วิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบัน ด้วยโปรแกรมทางคณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป เสนอแนะรูปแบบโครงสร้าง วิเคราะห์ความเป็นไปได้ด้านวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ของรูปแบบโครงสร้างที่เสนอ รวมถึงศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของรูปแบบที่เสนอ ทั้งนี้ คณะบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอ 5 ทางเลือกในการแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ได้แก่
 
1.การสร้างป่าดันชน เพื่อเพิ่มความหนาของแนวป่าที่เหลือปัจจุบันให้ได้ 100 เมตร แต่วิธีนี้จะไม่มั่นคงในระยะยาว งบประมาณ 722 ล้านบาท 2.การสร้างรอดักตะกอน หรือกรอยน์รูปตัวที (T-Groin) ความยาวประมาณ 200 เมตร หัวทียาว 200 เมตร โดยสร้างตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง ห่างกันทุกๆ 500 เมตร ตลอดแนวชายฝั่งรวม 10 ตัว เพื่อให้เกิดการงอกของดินเพิ่มขึ้นในระยะยาวจะได้ที่ดิน 200 เมตร เพื่อปลูกป่าเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งเป็นแบบที่ทำให้เกิดเสถียรภาพของชายฝั่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนแต่ในระยะการก่อสร้างอาจจะกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง งบประมาณ 316 ล้านบาท
 
3.การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ตลอดแนวชายฝั่งเพื่อลงพลังคลื่นโดยเขื่อนแต่ละตัวยาว 150 เมตร เว้นช่อง 50 เมตร เพื่อให้ตะกอนนอกชายฝั่งเข้ามาได้แต่อาจมีปัญหากัดเซาะเกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีตะกอนมาตกราคาประมาณ 425 ล้านบาท
 
4.การก่อสร้างกรอยน์และเขื่อนกันคลื่นแบบ 3 ผสมกัน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพชายฝั่งจากการตกตะกอนระหว่างกรอยน์แต่ละตัวที่มากับกระแสน้ำในแนวขนานชายฝั่ง ช่วยลดพลังงานคลื่นที่เคลื่อนตัวมายังชายฝั่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่กันชนปลูกป่าชายเลนในอนาคตราคาก่อสร้างกรอยน์ 10 ตัว และเขื่อนกั้นคลื่นรวมกันประมาณ 733 ล้านบาท 5.การสร้างเขื่อนกั้นคลื่นใกล้ชายฝั่ง ราคา 300 ล้านบาท พลังงานคลื่นลดลงภายหลังจากการแตกตัวเป็นกระแสน้ำแต่อาจจะเป็นกำแพงขวางการพัดพาตะกอนเข้ามาชายฝั่ง เช่นเดียวกับแบบที่ 3 ประกอบกับ Long shore Transport ยังคงมีปริมาณสูงการกัดเซาะชายฝั่งยังเกิด

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากผลการศึกษาแบบจำลองประกอบกับผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความมีเสถียรภาพของชายฝั่ง ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความสอดคล้องกับพื้นที่ข้างเคียง การบริหารจัดการระยะเวลาดำเนินการ และมูลค่าโครงการ ผู้เชี่ยวชาญจึงได้เสนอให้ใช้ทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกที่เหมาะสม ดังนั้น กทม.จะเสนอของบประมาณกลางปีจำนวน 316 ล้านบาท โดยปีแรกจะต้องใช้งบประมาณ 158 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างภายใน 4 เดือนนี้ ทั้งนี้การก่อสร้างจะเริ่มจากแนวขนานชายฝั่งก่อนให้มีระยะห่างจากแนวชายฝั่ง 1-2 เมตร
 
ทั้งนี้ หลังจากการก่อสร้าง 3 ปี จะมีการตกตะกอนก็จะมีการปลูกป่าชายเลนจำนวน 550 ไร่ ภายใน 6 ปี ขณะนี้สำนักระบายน้ำได้สำรวจพื้นที่แล้วสามารถเริ่มปลูกป่าชายเลนในระยะแรกได้เลย ส่วนระยะที่ 2-3 จะปลูกหลังจากที่มีการตกตะกอนของน้ำแล้ว ส่วนการทำงานร่วมกับพื้นที่ใกล้เคียง คือ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร จะมีการประสานงานผ่านกระทรวงมหาดไทยต่อไป อย่างไรก็ตามการตัดสินในเรื่องที่จะดำเนินการเรื่องนี้ในช่วงนี้ไม่เกี่ยวกับอะไรทั้งนั้น แต่เรื่องไหนที่มีความพร้อมก็จะดำเนินการทันทีไม่ควรจะรอ

นายอภิรักษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่ล่าสุด กทม.มีโครงการอาคารประหยัดพลังงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่วนของ กทม.นำร่องที่ กทม.2 เริ่มเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจากการที่ได้หารือร่วมกับ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน สรุปว่า ในเดือนเมษายน กทม.จะมีการประชุมกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งหนังสือเชิญไปยังผู้ว่าเมือง หรือนายกเทศมนตรีเมืองแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น