xs
xsm
sm
md
lg

ทายาทโนเบลร่วม "สมัชชาวิทย์" แนะไทยใช้รถไฟฟ้าแก้โลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไมเคิล โนเบล ทายาทรุ่นที่ 4 ของอัลเฟรด โนเบล (ภาพจากกระทรวงวิทย์)
ทายาท "โนเบล" รุ่นที่ 4 ร่วมประชุม "สมัชชาวิทย์" เสนอไทยประหยัดพลังงานแก้วิกฤติโลก แนะแนวทางประหยัดพลังงานในภาคขนส่ง ให้รัฐส่งเสริมรถไฟฟ้า

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 17 ก.ย.51 ภายใต้แนวคิด "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาวะโลกร้อน"

สำหรับการจัดการประชุมในภาคกลางครั้งนี้ ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมด้วยนั้น ดร.ไมเคิล โนเบล (Dr.Michael Nobel) ประธานกองทุนรางวัลโนเบล (Nobel Chaitable Trust) ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของ อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) ผู้ก่อตั้งกองทุนรางวัลโนเบล ได้เข้าร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

ทั้งนี้ โนเบลกล่าวว่า เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เขาได้มาเยือนไทย เพื่อบรรยายพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานโลก โดยเขาพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหา และสัญญาณของสถานการณ์พลังงานในอนาคต

ส่วนหัวข้อที่เขาบรรยายพิเศษในการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ครั้งนี้คือ หัวข้อ "เมืองไทยเมื่อถึงทางแยก-นโยบายไหนที่จะเลือกใช้เพื่อพลังงานในอนาคต" (Thailand at the crossroads-Which policies to adopt for a viable energy future?)

โนเบลเกริ่นว่า ทุกคนน่าจะทราบดีอยู่แล้ว ถึงการขยายตัวของวิกฤต ที่เกิดจากการบริโภคและผลผลิตของทรัพยากรพลังงานที่ไม่หมุนเวียน ซึ่งกลายเป็นสถานการณ์ที่เข้าถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก

จากข้อมูลรายงานธุรกิจพลังงาน (Energy Business Report) โนเบลระบุว่า ประมาณ 72% ของพลังงานที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกนั้น มาจากการเผาไหม้น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปริมาณการผลิตแหล่งพลังงานเหล่านี้เพียงพอกับระดับความต้องการในปัจจุบันไปอีก 100-140 ปี

"แต่โชคร้ายว่า อัตราความต้องการพลังงานนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเติบโตด้วยอัตราเร่งตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งไทยเองก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกันนี้" ทายาทผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบลกล่าว และเพิ่มเติมว่าสถานการณ์ของแหล่งพลังงานหลักอยู่ในสถานะที่ไม่ยั่งยืน

อย่างไรก็ดีหากมองไปที่พลังงานทดแทนและเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอน ตามที่ อัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้รับรางวัลโนเบลเมื่อปีที่ผ่านมาเสนอไว้นั้น โนเบลให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ เพราะหากศึกษาดูจะพบว่า ประเทศอุตสาหกรรมใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนที่น้อยมาก

ทั้งนี้อ้างจากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน โนเบลระบุว่าหากจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนชดเชยการใช้พลังงานฟอสซิลทั้งหมดภายใน 10 ปีนั้น ต้องใช้เงินลงทุนหลายล้านล้านบาท อีกทั้งยังต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งหมด

สิ่งที่น่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับอนาคตที่โนเบลเสนอแนะแก่ภาครัฐของไทย คือการลดความต้องการและการบริโภคพลังงาน พร้อมยกตัวอย่างแผนการประหยัดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Savings and Efficiency Plan) ของรัฐบาลสเปน ในช่วงปี 2551-2554 ซึ่งมีเป้าหมายลดการใช้น้ำมันลง 44 ล้านบาร์เรล หรือน้ำมัน 6 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 10% ของการนำเข้าน้ำมันแต่ละปีของสเปน

ทั้งนี้สเปนมีสถาบันที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งหากไทยไม่มี โนเบลแนะว่าก็ควรจะก่อตั้งสถาบันนี้ขึ้นมา โดยเป็นองค์กรที่มีการบริหารงานเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด และเป็นสถาบันที่จะเสนอแนะวิธีการประหยัดพลังงาน สามารถรับรองการใช้พลังงาน

"ประเทศไทยน่าจะให้แรงจูงใจทางภาษี และลดราคาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด พร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับให้รถยนต์ไฟฟ้าได้ชาร์จพลังงาน ในส่วนของการขนส่งมวลชน ควรมีเส้นทางพิเศษเพื่อปรับปรุงระบบขนส่ง หาเส้นทางเลือก จัดซื้อยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น" โนเบลกล่าว

สำหรับการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ฯ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้ว และสำหรับปีนี้ได้จัดประชุมขึ้นในระดับภูมิภาค ได้แก่ จ.สงขลา จ.เชียงใหม่ และ จ.ขอนแก่น ก่อนที่จัดประชุมในระดับภาคกลางครั้งนี้ ทั้งนี้มีการเสวนาและประชุมกลุ่มย่อยในประเด็นคาร์บอนเครดิตกับโอกาสของภาคเอกชนไทย, การใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานในภาคการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ.
ไมเคิล โนเบล ทายาทรุ่นที่ 4 ของอัลเฟรด โนเบล (ภาพจากกระทรวงวิทย์)
พิธีเปิดสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ซ้ายไปขวา) นายพูลสุข พงษ์พัฒน์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไมเคิล โนเบล ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ นายชัยวัฒน์ ก่อสกุลแก้ว รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น