มือฟอร์เวิร์ดเมลลวงปรับเวลาไทย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอม "มาตรวิทยา" เตรียมหาทางจัดการทางกฎหมาย ย้ำชัดมาตรฐานเวลาไทย ใช่จะปรับเปลี่ยนกันง่ายๆ ต้องแก้กฏหมายด้วย ระบุประกาศปรับเวลามาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากไม่บันทึกการจราจรคอมพิวเตอร์ตามที่กระทรวงไอซีทีกำหนด โทษปรับไม่เกิน 5 แสน
หลังจากมีฟอร์เวิร์ดเมลลวง ระบุว่าสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จะมีการปรับเปลี่ยนเวลามาตรฐานของประเทศไทยให้เร็วขึ้น 30 นาที ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และโทรศัพท์เข้าไปสอบถามกับทางสถาบันกันเป็นจำนวนมาก มว. จึงต้องจัดการแถลงเพื่อแก้ข่าวลือดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค.51 ที่ผ่านมา ณ ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวงวิทย์ฯ ซึ่งมีผู้สื่อข่าวหลายแขนงให้ความสนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมากรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย
"ขอย้ำว่าไม่มีการปรับเปลี่ยนเวลามาตรฐานของประเทศไทย ตามที่มีการอ้างถึงในฟอร์เวิร์ดเมลแต่อย่างใด ซึ่งฟอร์เวิร์ดเมลดังกล่าวเป็นเท็จโดยสิ้นเชิง" พล.อ.ต.เพียร โตท่าโรง ผอ.มว. กล่าวย้ำแก่ผู้สื่อข่าว พร้อมกับชี้แจงว่า เวลามาตรฐานของไทยมีใช้มานานแล้ว และการจะปรับเปลี่ยนเวลามาตรฐานไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ซึ่งจะต้องย้อนกลับไปพิจารณากฎหมายเดิมว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร และจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายหากจะทำการปรับเปลี่ยนเวลา
ทั้งนี้ พล.ร.ต.สมาน อ่วมจันทร์ รองเจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้เวลามาตรฐานสากลนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2463 ตามมาตราเวลาพิกัดสากลของกรีนิช กับค่าประจำเขตเวลา (Time Zone) ที่ประเทศไทยตั้งอยู่ ซึ่งอยู่ในเส้นแบ่งเขตเวลา +7 ดังนั้น เวลามาตรฐานประเทศไทยจึงเร็วกว่าเวลามาตรฐานสากล 7 ชั่วโมง
ส่วนกรณี ผู้ที่ให้ข้อมูลในฟอร์เวิร์ดเมลลวงดังกล่าว ถือเป็นการให้ข้อมูลเท็จและทำให้ประชาชนตื่นตะหนก ซึ่ง พล.อ.ต.เพียร ระบุว่า เข้าข่ายกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งทาง มว.กำลังอยู่ระหว่างปรึกษากับนิติกร ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
ส่วนการปรับเวลา ให้ตรงกับเวลามาตรฐานของประเทศไทย ผอ.มว. กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงเวลามาตรฐานของประเทศไทย ได้ 3 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่ สอบเทียบเวลามาตรฐานได้โดยตรงกับห้องปฏิบัติการของ มว. ที่คลองห้า, เทียบกับเวลากับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ โทร. 181
ส่วนช่องทางสุดท้าย บริการถ่ายทอดสัญญาณเวลามาตรฐานประเทศไทยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่ง มว. ได้จัดตั้งไทม์เซอร์เวอร์ (Time Server) ได้แก่ time1.nimt.or.th, time2.nimt.or.th และ time3.nimt.or.th เพื่อให้บริการปรับเทียบเวลาผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ สามารถศึกษาวิธีการปรับเทียบเวลาได้ที่ www.nimt.or.th
อย่างไรก็ดี ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2550 ข้อ 9. เพื่อให้ข้อมูลจราจรมีความถูกต้องและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ผู้ให้บริการต้องตั้งนาฬิกาของอุปกรณ์บริการชนิดให้ตรงกับเวลาอ้างอิงสากล (Stratum 0) โดยผิดพลาดไม่เกิน 10 มิลลิวินาที ที่จะสิ้นสุดการผ่อนผันและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.51 นี้
กฏดังกล่าว กำหนดว่าผู้ประกอบการเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับให้บริการประชาชน ได้แก่
1.ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายภาพและเสียง อาทิ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ขั้นพื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ให้บริการเอทีเอ็ม เป็นต้น
2.ผู้ให้บริการการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อาทิ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต เจ้าของหอพัก โรงแรม หน่วยราชการ บริษัทต่างๆ เป็นต้น
3.ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ
และ 4.ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ตต่างๆ ต้องปรับเวลาให้ตรงกับเวลามาตรฐานประเทศโดยผิดพลาดไม่เกิน 10 มิลลิวินาที มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฏหมาย และมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งนี้ พล.อ.ต.เพียร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทาง มว. ได้ศึกษาวิจัยการตรวจวัดสัญญาณความคลาดเคลื่อนของระบบเอ็นทีพี (Network Time Potocol: NTP) ในการปรับเทียบเวลามาตรฐานประเทศไทย (Thailand Standard Time: TST) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ในจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี พบว่า มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด 20 มิลลิวินาที และบางจังหวัดคลาดเคลื่อนมากถึง 120 มิลลิวินาที ซึ่งเกินกว่าที่กระทรวงไอซีทีกำหนด
แต่ทั้งนี้ความคลาดเคลื่อนสูงสุดไม่ควรเกิน 200 มิลลิวินาที ดังนั้นหากกฏหมายกำหนดให้คลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 10 มิลลิวินาที มีเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่สามารถทำได้ แต่หากกำหนดให้คลาดเคลื่อนไม่เกิน 200 มิลลิวินาที จะสามารถทำได้ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สัมภาษณ์ นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพิ่มเติมทางโทรศัพท์ ซึ่งนายวินัย ชี้แจงว่า จากการทดลองใช้ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2550 มาเป็นเวลา 1 ปี พบว่ายังมาบางจุดที่อาจต้องแก้ไขให้เหมาะสม รวมทั้งกรณีที่กำหนดให้ผู้ให้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต้องปรับเวลาให้คลาดเคลื่อนไม่เกิน 10 มิลลิวินาที ซึ่งอาจเป็นไปได้ลำบาก
แต่ สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ก็เพื่อตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ในกรณีที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น เช่น หากมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมผ่านทางอินเตอร์ และตรวจสอบพบว่าต้นตอออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ขององค์กรหนึ่ง ก็จะต้องตรวจสอบต่อไปว่าใครเป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ดังกล่าวในเวลานั้น เพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ซึ่งหากเวลาของระบบคอมพิวเตอร์นั้นคลาดเคลื่อนไปจากเวลามาตรฐาน ก็อาจมีผลต่อการสืบหาตัวผู้กระทำผิดได้
นายวินัย ชี้แจงต่อว่า หากตรวจสอบแล้วพบว่าหน่วยงาน หรือองค์กรดังกล่าวตามที่ระบุในประกาศของกระทรวงไอซีที ไม่มีการบันทึกข้อมูลจราจรตามที่กฏของกระทรวงระบุ จะมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่มิใช่ว่าหน่วยงานดังกล่าวจะมีโทษและถูกปรับจากการที่ปรับเวลาคลาดเคลื่อนไปจากเวลามาตรฐานของประเทศไทยเกินกว่า 10 มิลลิวินาที ตามที่หลายคนเข้าใจ
ส่วนกรณีฟอร์เวิร์ดเมลเท็จ ที่ระบุว่ามาตรวิทยาจะปรับเวลาประเทศไทยเร็วขึ้น 30 นาที นายวินัย กล่าวว่า ถือเป็นการให้ข้อมูลเท็จและทำให้ประชาชนแตกตื่น จึงถือเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งจะดำเนินสืบหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป.