ศตท. วิเคราะห์สถานการณ์ภายหลังพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ แนวโน้มการทำความผิดไม่ลดลง เหตุปัจจัยเอื้อมีมากมาย ที่สำคัญความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยเพิ่มช่องทางผู้กำทำผิดมีมากขึ้น แนะการป้องกันตนเองเป็นหนึ่งบวกมาตรการทางสังคมช่วยได้ดีกว่าหวังผลจากตัวบทกฎหมายที่เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือให้แก่ภาครัฐ ขณะที่ศตท.เร่งให้ความรู้ประชาชนเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใกล้ตัว หลังพบสถิติการคุกคามทางเทคโนโลยีและการสื่อสารมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ผู้กำกับการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางทางเทคโนโล(ศตท.) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่าภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้อย่างจริงจังในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ไปแล้ว นั้นคาดว่าแนวโน้มการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะไม่ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้
โดยชี้ให้เห็นองค์ประกอบที่จะเป็นการส่งเสริมให้การกระทำความผิดยังคงเป็นตัวเลขที่สูงว่ามีปัจจัยหลักมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้กระทำความผิดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง เทคโนโลยี RFID และอื่นๆ อีกมาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวแปรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง อาชญากรทางคอมพิวเตอร์จึงมีโอกาสมากขึ้น มีช่องทางมากขึ้นในการกระทำความผิด
“กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลให้การกระทำความผิดลดลง แต่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือของภาครัฐโดยแนวโน้มของการกระทำความผิดจะยังคงขยายตัวมากขึ้นดูได้จากสถิติของศตท.เพียงที่เดียวตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกปี และไม่มีแนวโน้มลดลง เปรียบเหมือนการวิ่งไล่จับที่ตามกันไม่ทัน”
พ.ต.อ.ศิริพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการกระทำผิดจะยังคงอยู่ในระดับสูงแม้มีกฎหมายบังคับใช้ แต่สิ่งที่ช่วยได้ทางอ้อมคือการป้องกันตัวเองจากการกระทำความผิด และการใช้มาตรการทางสังคมและการปกครองเข้าช่วย เริ่มจากต้องสร้างมาตรการป้องกันตัวเองจากการกระทำความผิด คนในครอบครัวต้องช่วยกันดูแลเพื่อมิให้กระทำผิดโดยไม่รู้ตัวหรือประมาท ขณะที่หน่วยงานภาครัฐหรือ ICT ก็ควรตามให้ทันเทคนิคหรือกลโกงที่พัฒนาขึ้นทุกวันเพื่อออกมาตรการตรวจจับที่ทันสมัยได้
“เราต้องป้องกันตัวเราเองก่อนเพื่อมิให้กระทำผิด ส่วนกฎหมายบังคับใช้เป็นเรื่องตามมา สิงคโปร์มีกฎหมายแบบนี้ใช้มาแล้วเป็น 10 ปี แต่ก็ยังไม่เห็นตัวเลขการละเมิดลดลงเลย ทำให้มองการมีกฎหมายที่รุนแรงก็ไม่ได้ทำให้อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ลดลง”
จากการสำรวจผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พบว่า ปี 2549 มีผู้ใช้งานจำนวน 11.41 ล้านคน และปี 2550 จำนวน 13.42 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 17.55% ต่อปี ทำให้คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่รู้ว่าตนเองกระทำความผิดอยู่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่ง ศตท. พบว่า 5 อันดับแรกของการกระทำความผิดมากที่สุด คือ 1.การหมิ่นประมาททางออนไลน์ 2.การพนันออนไลน์ และเว็บไซท์ลามกอนาจาร 3.การฉ้อโกงออนไลน์ 4.การทุจริตในการทำธุรกรรมทางการเงิน 5.การเจาะระบบและการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์
“การหมิ่นประมาทออนไลน์” มีจำนวนคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 นั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด เพราะผู้ที่กระทำความผิดส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อตนเอง รวมทั้งการตรวจจับเพื่อนำมาดำเนินคดีทางอาญาเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ทำที่ไหน และทำเมื่อไหร่ ซึ่งความเสียหายจากการกระทำผิดจะส่งผลกระทบ 2 ทาง คือ ต่อผู้กระทำความผิดเอง หรือผู้จดทะเบียนนิติบุคคล (เจ้าของธุรกิจ) ที่ผู้กระทำผิดใช้เครือข่าย ขององค์กรหรือหน่วยงาน
อีกประการที่มีความสำคัญมาก คือ กฎหมายที่ระบุไว้ในมาตรา 26 และ 27 ที่ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือ ล็อกไฟล์ (Log File) โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการหาผู้กระทำความผิด ดังนั้น การเก็บ Log จึงต้องมีการเก็บเพื่อให้สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ เช่น ใคร, ทำอะไร, ที่ไหน และกระทำอย่างไร พร้อมทั้ง Log File ต้องมีการยืนยันความถูกต้องว่าไม่สามารถแก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ และมีการเก็บบันทึกไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามตัวผู้กระทำความผิดต่อไป
ผู้บริหาร ศตท . กล่าวว่า การเร่งเผยแพร่พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและองค์กร เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะปัญหาอาชญากรรมทางเครือข่ายอาจจะไม่ส่งผลกระทบไปยังผู้กระทำความผิดเท่านั้น หากแต่จะก่อความเสียหายไปสู่องค์กร หรือหน่วยงานที่ไม่รู้เท่าทันการคุกคามทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร
Company Related Links :
ศตท.