xs
xsm
sm
md
lg

ยกกรมวิทย์บริการเป็นมหาชน อัพพาวเวอร์ทำงานเต็มประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ประชุมรับฟังความต้องการของกลุ่มลูกค้า ทำแผนเสนอ ครม.ยกสถานภาพเป็น "องค์การมหาชน" มั่นใจ ธ.ค.นี้ ได้องค์การใหม่ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการงบประมาณคล่องตัว เน้นตรวจวิเคราะห์อาหาร-เครื่องใช้ไฟฟ้าส่งนอก พร้อมเปิดบริการเชิงรุก "วันสต็อปเซอร์วิส" ตลอด 24 ช.ม.

นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.51 ว่า หลังจากดำเนินการยกสถานภาพ วศ. เป็นองค์การมหาชนตั้งแต่ปี 41 และ ครม.ได้เห็นชอบเมื่อ พ.ย. 50 ที่ผ่านมา ล่าสุด วศ.ได้เปิดประชุมรับฟังความต้องการของกลุ่มลูกค้าขึ้น เพื่อทำรายงานเสนอต่อ ครม.ภายในสิงหาคมนี้ ก่อนจะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกสถานภาพ วศ.เป็น "สถาบันปฏิบัติการวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)" ใช้ตัวย่อว่า สปวช. คาดว่าขั้นตอนเหล่านี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้

อธิบดี วศ. กล่าวว่า ข้อดีของการยกสถานภาพดังกล่าว จะทำให้ วศ.ให้บริการผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยอย่างคล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะกับการตรวจวิเคราะห์ทดสอบสารตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก สอดรับกับการนโยบายเปิดเขตการค้าเสรี โดยการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการจากระบบราชการมาเป็นองค์การมหาชนจะช่วยย่นเวลาในการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านการตรวจวิเคราะห์ทดสอบ และสามารถจัดระบบให้บริการเชิงรุกได้ตลอด 24 ชั่วโมงแบบวันสต็อปเซอร์วิสได้

"แต่เดิม ระบบราชการจะแข็งตัวมาก นักวิเคราะห์ทำงานวันละ 8-12 ชั่วโมงก็ถือว่าเต็มที่แล้ว แต่หากเป็นองค์การมหาชน เราสามารถจัดเวลาทำงานเป็นกะๆ เพื่อให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงได้ ทำให้สามารถบริการผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าจากปัจจุบันที่มีผู้ใช้บริการประมาณ 1 หมื่นรายการตลอดทั้งปี ซึ่งแทบไม่ถึงครึ่งของประสิทธิภาพเครื่องไม้เครื่องมือที่เรามีอยู่ตอนนี้ด้วยซ้ำ" นายปฐมกล่าว

เขาคาดด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีการปรับฐานเงินเดือนเพื่อจูงใจบุคลากรเพิ่มขึ้นจากเดิม 20% และจะมีการว่าจ้างผู้ช่วยนักวิจัยอีกราว 100 อัตรา จากปัจจุบัน วศ.มีข้าราชการประจำอยู่ประมาณ 400 คน และมีผู้ช่วยนักวิจัยอยู่ 200 คน โดยภายในครึ่งปีนี้ วศ.ยังจะเปิดอาคารปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบเฉพาะทางหลังใหม่ขึ้นในพื้นที่กระทรวงวิทยาศาสาตร์ฯ ซ.โยธี เพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการ ซึ่งได้รับงบประมาณแล้วราว 100 ล้านบาทเพื่อจัดหาเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบสำหรับอาคารหลังนี้

อย่างไรก็ดี นายปฐมเชื่อว่า ภายใน 5 ปี องค์การมหาชนดังกล่าวจะเป็นหน่วยงานบริการวิชาการที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เลี้ยงตัวเองได้

ขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า การยกสถานภาพ วศ.ดังกล่าวยังจะทำให้ วศ.สามารถรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบได้ครอบคลุมมากขึ้น จากปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการทดสอบทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นราย แต่มีที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน ISO 17025 จากหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ วศ.เพียง 350 แห่งเท่านั้น

ทั้งนี้ วศ. ถือเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2434 ในชื่อหน่วยวิคราะห์แร่ ปัจจุบันมีอายุ 117 ปี เปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบงานห้องปฏิบัติการทดสอบ ทดสอบความชำนาญ บริการสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ และบริการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เอกชนและประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ เสริมสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และภาคอุตสาหกรรมระดับประเทศให้ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ดี อธิบดี วศ.ยอมรับว่า ข้าราชการในสังกัดจำนวนมากยังไม่เห็นด้วยกับการยกสถานภาพครั้งนี้เนื่องจากจะกระทบกับระบบการทำงานเดิม โดยการสำรวจเมื่อกุมภาพันธ์ 50 พบว่าข้าราชการ วศ.ร้อยละ 70 ไม่ต้องการให้มีการยกสถานภาพดังกล่าว แต่อธิบดี วศ.ยืนยันว่า ขณะนี้ข้าราชการในสังกัดเข้าใจและยอมรับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น