xs
xsm
sm
md
lg

ใช้มาตรวิทยาหาหลักฐานคุ้มครองผู้บริโภค เอาผิดผู้ประกอบการได้ด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างการอภิปรายเรื่อง สังคมไทยได้อะไรเมื่อการวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบ เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก ในงานสัมมนาวิชาการวันสถาปนาครอบรอบ 10 ปี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)
สงสัยกันไหมว่า "มาตรวิทยา" นั้นสำคัญไฉน ถ้าเพียงแค่เป็นมาตรฐานในการวัด วิเคราะห์ และตรวจสอบต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมหรือห้องปฏิบัติการ แล้วพวกเราประชาชนคนทั่วไปจะได้อะไรจากมาตรวิทยาหรือมาตรฐานการวัดแห่งชาติของไทยที่จำเป็นต้องทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสร่วมฟังการอภิปราย เรื่อง "สังคมไทยได้อะไรเมื่อการวัด การวิเคราะห์ และการทดสอบ เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก" ในงานสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันมาตรวิทยาโลก และวันสถาปนาครอบรอบ 10 ปี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.51 ณ ห้องคอนแวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จึงขอนำความรู้มาเล่าสู่กันฟังและแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านทราบด้วย

เวทีสัมมนานี้มีผู้ร่วมอภิปราย 5 ท่าน ได้แก่ นางรัชดา อิสระเสนารักษ์ ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), นายวิโรจน์ เลิศในธรรม คณะกรรมการระบบมาตรฐาน สภาอุตสาหกรรมไทย, นายชัชพล จิโรจน์จาตุรนต์ นายกสมาคมห้องปฏิบัติการสอบเทียบแห่งประเทศไทย, นายวีรชัย วงศ์บุญสิน คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายทวี เมธากุลวัฒน์ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยมี พล.ต. ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู รองผอ.มว. เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

นายวิโรจน์ กล่าวว่า อยากให้สังคมไทยเล็งเห็นความสำคัญของมาตรฐานมากขึ้น เพราะหลายประเทศนำมาใช้เป็นกรณีกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ อย่างเช่น การส่งออกข้าวสาร ซึ่งต้องมีการตรวจนับและตรวจสอบน้ำหนักในแต่ละกระสอบ ตั้งแต่ก่อนส่งลงเรือ โดยใช้ตุ้มน้ำหนักในการตรวจสอบ เมื่อใช้ไปนานๆ หรือขนย้ายไปบริเวณต่างๆ ก็ทำให้ตุ้มน้ำหนักสึกหรอและคลาดเคลื่อนได้
ดังนั้นจึงต้องมีการสอบเทียบให้น่าเชื่อถืออยู่เสมอ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็จะได้อ้างอิงกลับสู่สากลได้ ซึ่งการสอบเทียบนั้นก็ต้องอาศัย มว. เป็นผู้ช่วยสำคัญ โดยเฉพาะเครื่องมือที่วัดมาตรฐานระดับสูงๆ ถ้าส่งไปสอบเทียบในต่างประเทศก็จะเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มว. พัฒนาไปมาก สามารถสอบเทียบเครื่องมือชั้นสูงได้มากขึ้น

นายชัชพล เผยว่า มาตรวิทยานั้นอยู่กับตัวเราตลอด แค่เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ก็ต้องมีการวัดก่อนตัดเป็นชุด หรือหลายคนที่มักชั่งน้ำหนักเพื่อควบคุมอาหารการกิน แต่เมื่อเครื่องชั่งคลาดเคลื่อนและบ่งบอกน้ำหนักที่น้อยกว่าความเป็นจริง ก็อาจทำให้เราเข้าใจว่ายังกินได้อีกเยอะ อย่างนี้เป็นต้น

"มว.เป็นผู้สถาปนามาตรฐานแห่งชาติ ส่วนห้องปฏิบัติการสอบเทียบก็มีหน้าที่นำมาตรฐานเหล่านั้นถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป แต่ที่ผ่านมาก็พบบ่อยมากที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ค่อยนำผลสอบเทียบไปใช้จริงมากเท่าที่ควร ใช้แค่อ้างอิงในคอมพิวเตอร์เมื่อมีการตรวจสอบเท่านั้น จึงอยากฝากถึงภาคอุตสาหกรรมส่งเสริมให้บุคคลากรได้มีโอกาสเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการสอบเทียบ เพื่อจะได้เห็นว่าห้องปฏิบัติการเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด" นายชัชพลกล่าว

ด้านนายทวี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สคบ. เปิดเผยว่า การวัด, การทดสอบต่างๆ เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหลายเรื่องทีเดียว โดยนายทวีได้ยกตัวอย่างกรณีที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ที่ซื้อรถยนต์คันใหม่มาขับได้ไม่กี่วัน ก็พบปัญหาว่าล้อด้านซ้ายจะครูดกับบังโคลนทุกครั้งที่เลี้ยวรถ เมื่อส่งซ่อมยังศูนย์ก็ยังแก้ไขไม่ได้ จึงมาร้องเรียนต่อ สคบ.

"เมื่อส่งผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ไปตรวจสอบโดยวัดระยะระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง ปรากฏว่าทั้ง 2 ข้างมีระยะห่างไม่เท่ากัน ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว หรืออย่างกรณีร้องเรียนเรื่องสัญญาในการสร้างบ้าน เช่น บ้านทรุดหรือมีปัญหาต่างๆ สคบ. ก็จะต้องตรวจสอบหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เกิดจากการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบเหล่านี้จะเป็นหลักฐานให้ผู้บริโภคฟ้องร้องเรียกความเสียหายจากคู่กรณีได้" นายทวีแจง

นางรัชดา ผอ.สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน สมอ. เผยว่า สมอ.เริ่มจากการทำให้มีมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อมามีเรื่องการรับรองผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้าที่จะมี มว. ทาง สมอ.ก็พึ่งพาการบินไทยซึ่งมีประสบการณ์ด้านการสอบเทียบอยู่ก่อนแล้ว เพราะการรับรองต่างๆ ต้องมีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับด้วย และมาตรฐานการตรวจสอบนั้นสำคัญยิ่ง แต่หากไม่มีมาตรวิทยาก็ช่วยอะไรไม่ได้เช่นกัน ซึ่งทาง สมอ.เองก็ส่งเสริมบุคลากรให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้อยู่เป็นประจำ

สุดท้ายนายวีรชัย กล่าวว่า ทำอย่างไรให้สังคมไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นที่ยอมรับของสังคมโลกในเรื่องการวัดและทดสอบต่างๆ ซึ่ง มว. ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจ ที่สำคัญยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสังคมด้วย เพราะเมื่อมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสังคมโลก ก็จะทำให้สังคมไทยไม่ต้องถูกตรวจสอบย้อนกลับ

"นอกจากพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังแสดงถึงทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม ต่อความแม่นยำของสังคมอีกด้วย หากสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในสังคมไทยก็จะนำไปสู่การมีคุณธรรมที่จะช่วยพัฒนาสังคมและประชากรได้ และนอกจากการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรวิทยาในสังคมแล้ว อยากให้มีการสร้างจิตสำนึกเพิ่มเติมเข้าไปด้วย โดยให้คนไทยมีจิตสำนึกต่อความเที่ยงตรงและแม่นยำก็จะเกิดความรับผิดชอบต่อสังคมที่สูงกว่าจรรยาบรรณตามมา"
นางรัชดา อิสระเสนารักษ์
นายวิโรจน์ เลิศในธรรม
นายชัชพล จิโรจน์จาตุรนต์
พล.ต. ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู
นายทวี เมธากุลวัฒน์
กำลังโหลดความคิดเห็น