xs
xsm
sm
md
lg

สารพัดปัญหา "นาซา" อาจกลับไปดวงจันทร์ล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองจรวดรุ่นใหม่ของนาซาที่จะส่งไปสำรวจดวงจันทร์ โดยเอเรส 1 (Ares 1) ทางซ้ายเป็นยานที่จะลำเลียงนักบินอวกาศ ส่วนจรวดเอเรสไฟว์ฟ (Ares V) เป็นจรวดสำหรับลำเลียงสัมภาระและยานสำหรับลงจอดดวงจันทร์ โดยจรวดเหล่านี้พัฒนาขึ้นที่ศูนย์อวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center) -ภาพจากศูนย์อวกาศมาร์แชล/นาซา/เอพี
"นาซา" เผชิญสารพัดปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณ ปัญหาเชิงเทคนิค ที่ยิ่งสร้างยิ่งพบข้อผิดพลาด รวมถึงอาจให้นักบินอวกาศที่จะโดยสารไปกับยาน ลดการบริโภคน้ำลงกว่าเดิม เพื่อคลายปัญหาเทคนิค ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบให้การกลับไปสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกล่าช้า

ผู้บริหารระดับสูงขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า ปัญหาทางการเงินอาจฉุดรั้งเป้าหมายในการสร้างยานลำใหม่ เพื่อกลับไปสำรวจดวงจันทร์ก่อนปี 2556 นี้ และกล่าวด้วยว่านาซา อาจจะส่งนักบินอวกาศไปพร้อมกับยานอวกาศโอไรออน (Orion) ลำแรกในเดือน มี.ค.2558 นี้ นอกเสียจากว่าจะเกิดปัญหาการชะงักงันด้านงบประมาณ

อย่างไรก็ดีดัก คุค (Doug Cooke) รองผู้บริหารการสำรวจของนาซา กล่าวแก่เอพีว่า  แผนในการส่งนักบินอวกาศเป็นครั้งแรกในปี 2558 นี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่เป้าหมายที่จะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 2563 ยังคง โดยการส่งยานโอไรออนเป็นครั้งแรกนั้นก็เพียงการส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกก่อนที่จะมุ่งไปยังดวงจันทร์ซึ่งมีเส้นทางที่ซับซ้อนกว่า

พร้อมกันนี้คุค ยังยอมรับด้วยว่ารายงานภายในเกี่ยวกับการเลื่อนกำหนดส่งยานนี้ รั่วไหลมาจากเว็บไซต์นาซาวอตช์ (Nasa Watch) โดยเอกสารจากเว็บไซต์แสดงแผนการกลับไปดวงจันทร์ทั้งหมดของนาซา ซึ่งรวมถึงปัญหาทางด้านการเงินและเทคนิคที่นาชาระบุว่าอาจล้มกระดานแผนการกลับไปดวงจันทร์ได้

เอพีระบุว่า เอกสารหนา 117 หน้าซึ่งโพสต์ผ่านเว็บไซต์นาซาวอตช์นั้นแสดงถึงงบประมาณที่เกินไปถึงกว่า 2,400 ล้านบาท สำหรับค่ามอเตอร์เพียงตัวเดียว และยังมีปัญหาอีกเป็นตั้งที่นาซาจัดไว้อยู่ในหมวดความเสี่ยงสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่รุนแรง อีกทั้งในรายงานยังจัดพฤติการณ์ทางการเงินของโครงการไว้ในหมวดนี้ด้วย

ส่วนปัญหาในเชิงเทคนิคนั้นได้ร่วมเรื่องซอฟต์แวร์ที่อาจพัฒนาไม่ทันเวลา ปัญหาเรื่องฉนวนกันความร้อน ปัญหาเรื่องการสั่นระหว่างลงจอด และประตูของยานที่เปิดได้ยาก

ในรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า นาซามีแผนที่จะลดปริมาณน้ำดื่มประจำของนักบินอวกาศเพื่อลดน้ำหนักของยาน โดยเหลือเพียง 2 ลิตรจากที่ควรจะเป็น 2.5 ลิตรตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

เอพีระบุอีกว่า ในรายงานนั้นแสดงให้เห็นว่าปัญหาในการดำเนินงานสร้างยานโอไรออนนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากเดือน พ.ค.-ก.ค. และมีปัญหา 24 เรื่องที่จัดอยู่ในรายการอันน่าวิตก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญภายนอกกล่าวว่าเป็นการเร็วเกินไปที่จะวิตกแต่ก็ให้คำเตือนบางอย่างกลับมา

จอห์น ลอกสดอน (John Logsdon) ผู้อำนวยการเชิงนโยบายอวกาศจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (George Washington University) สหรัฐฯ กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวของนาซาไม่ใช่เรื่องประหลาดใจสำหรับเขาแต่อย่างใด และกล่าวด้วยว่านาซามีความพยายามที่จะกลับไปดวงจันทร์ด้วยงบประมาณที่ไม่พอเพียงและไม่มั่นคง

ทางด้านดับเบิลยู เฮนรี แลมไบร์ท (W. Henry Lambright) ศาสตราจารย์ทางด้านนโยบายเทคโนโลยีและนโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (Syracuse University) สหรัฐฯ กล่าวว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือระบบการเมืองที่งบประมาณจะต้องผ่านการอนุมัติจากประธานาธิบดีแล้วนาซาจึงจะเดินหน้าแผนการเงินของตัวเองได้ ทั้งนี้งบประมาณสำหรับปีหน้าก็ยังคงไม่ผ่านการอนุมัติ

"เรามีเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำงานผิดปกติ ผมไม่ได้กล่าวโทษนาซานะ แต่ผมคิดว่านาซาคือเหยื่อของสถานการณ์ทางการเมืองที่เรามีอยู่ในประเทศ" แลมไบร์ทกล่าว

หากแต่คีธ โควิง (Keith Cowing) อดีตวิศวกรจากนาซาวอตช์ มองอีกมุมหนึ่งว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นคือการออกแบบและการวางแผนที่ไม่ได้ ซึ่งซ้ำรอยกับกรณีของอะพอลโล (Apollo) และนาซาก็ไม่ได้เรียนรู้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกรณีเพลิงไหม้ยานอะพอลโล 1

ทั้งนี้กลุ่มวิศวกรของนาซาได้ทำงานตามเวลาของตัวเอง และที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็นำเสนอจรวดทางเลือกอื่นที่จะส่งไปยังดวงจันทร์โดยมีต้นทุนที่ถูกกว่าและมีความพร้อมที่เร็วกว่าแต่นาซาก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น