"รัสเซีย" ส่ง2 นักบินในสังกัดที่ประจำอยู่บนสถานีฯ ออกเดินอวกาศนาน 6 ชั่วโมง เพื่อสำรวจความเสียหาย นอกตัวกระสวยโซยุซ พร้อมเก็บกู้สลักระเบิดพิสูจน์หาหลักฐาน ที่เป็นต้นเหตุให้ยานพานักบินมาเลย์-เกาหลีใต้ พุ่งดิ่งกลับโลกอย่างสุดระทึก 2 ครั้งติดต่อกัน
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นักบินอวกาศรัสเซียที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (Interanational Space Station: ISS) ได้ออกเดินอวกาศร่วมกันเป็นครั้งแรก เพื่อเก็บกู้สลักระเบิดของกระสวยโซยุซ (Soyuz) มาตรวจสอบ เพราะเชื่อว่าอาจเป็นเหตุให้โซยุซพุ่งดิ่งกลับโลกอย่างระทึกติดต่อกัน 2 เที่ยวบินล่าสุด
เซอร์เก โวลคอฟ (Sergei Volkov) และโอเลก โคโนเนนโก (Oleg Kononenko) 2 นักบินอวกาศของรัสเซีย ได้ปฏิบัติภารกิจเดินอวกาศครั้งแรกของพวกเขา เมื่อวันที่ 10 ก.ค.51 ที่ผ่านมา โดยมีเกรก ชามิทอฟ (Greg Chamitoff) นักบินอวกาศของสหรัฐฯ เป็นผู้ประสานงานจากภายในสถานีอวกาศ
ภารกิจครั้งนี้ กินเวลานานติดต่อกันกว่า 6 ชั่วโมง และดำเนินไปอย่างทุลักทุเล ซึ่งสเปซด็อตคอมรายงานว่า นักบินได้สำรวจและถ่ายภาพบริเวณต่างๆ ภายนอกกระสวยโซยุซแล้ว แต่ไม่พบว่าผิดปกติใดๆ
หลังจากนั้นนักบินทั้ง 3 นายก็ช่วยกันแยกเอาชิ้นส่วน ที่เป็นสลักระเบิดของยานโซยุซกลับมาตรวจสอบ ซึ่งอยู่บริเวณส่วนที่เป็นเครื่องยนต์ในการจุดระเบิดของกระสวยโซยุซ ขณะที่ต้องการแยกตัวออกจากสถานีอวกาศเพื่อเดินทางกลับสู่โลก
นักบินต้องการตรวจสอบว่า สลักระเบิดมีความผิดปกติหรือได้รับความเสียหายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานีอวกาศและตัวยานหรือไม่ ซึ่งด้านองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ก็ให้ความสนใจกับผลการพิสูจน์ยานโซยุซครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะว่าในอนาคตหลังจากที่นาซาปลดระวางยานอวกาศ 3 ลำ ได้แก่ แอตแลนติส, ดิสคัฟเวอรี และเอนเดฟเวอร์ ก็จะเหลือเพียงกระสวยโซยุซเท่านั้น ที่จะเดินทางไปมาระหว่างโลกและสถานีอวกาศ
ทั้งนี้ สองเที่ยวบินหลังสุดของโซยุซ ได้แก่ เที่ยวบินขากลับเมื่อวันที่ 21 ต.ค.50 โดยมีนักบินชาวมาเลเซียคนแรกรวมอยู่ด้วย และเที่ยวบินกลับโลกเมื่อวันที่ 19 เม.ย.51 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักบินคนแรกของเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร โซยุซก็ได้สร้างความตื่นเต้น ให้กับนักบินอวกาศและเจ้าหน้าที่องค์กรอวกาศทั้งของรัสเซีย, สหรัฐฯ และประเทศที่ส่งนักบินร่วมปฏิบัติภารกิจด้วย
เนื่องจากขณะเดินทางกลับโลก โซยุซเดินตกลงมาแบบพุ่งดิ่ง ทำให้นักบินที่โดยสารอยู่ภายในโซยุซต้องเผชิญกับแรงที่มากกว่าแรงโน้มถ่วงของโลกเกือบ 10 เท่า ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อนักบินจนถึงแก่ชีวิตได้.