ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมยากเกินไป ชาวบ้านไม่เข้าใจ ซ้ำยังเข้าถึงได้ยาก ตัวแทนประชาชนผู้เดือดร้อนจากสนามบินสุวรรณภูมิ ร้องขอผู้เกี่ยวข้องให้เปิดเผยข้อมูลสาธารณะให้ประชาชนรับรู้ทั่วถึง ระบุข้อมูลของที่ไหนควรอยู่ที่นั่น ข้อมูลของสุวรรณภูมิไม่ควรไปอยู่ดอนเมือง
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และองค์กรภาคี จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง "การผลักดันให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ตามมาตรา 9(8) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540" ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 10 ก.ค.51 ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมฟังในช่วงอภิปรายเรื่อง "การจัดข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพไว้ให้ประชาชนตรวจดูโดยไม่ต้องร้องขอ"
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและคณะกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ตามมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2550 ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ ก่อนการดำเนินการดำเนินโครงการใดๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน ก็ให้ชุมชนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้
"มาตรา 57 วรรค 2 ระบุว่าโครงการที่มีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชน เช่น การวางผังเมือง การเวรคืนที่ดิน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งตรงนี้เพิ่งมีการเพิ่มเติมเข้าไปและน่าสนใจมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันสักเท่าไหร่ ทั้งนี้ กระบวนการรับฟังความเห็นมีความสำคัญมาก ต้องเปิดเผยและโปร่งใสด้วย" นพ.ชูชัย กล่าวพร้อมกับเสนอแนะเพิ่มเติมว่า
ภาครัฐควรเปิดเผยข้อมูล โดยตั้งโจทย์ใหม่ว่าจะเปิดเผยอย่างไรให้ประชาชนรับรู้ทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมายังช่วยได้ไม่เพียงพอ ยังปกป้องคุ้มครองฐานทรัพยากรและบุคคลได้ไม่ดีพอ ไม่ใช่ตั้งโจทย์ว่าจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยส่วนไหนบ้าง ส่วนภาคธุรกิจที่อาจมีส่วนทำร้ายสังคม ก็ยิ่งต้องให้รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
ด้านอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชี้ว่า ข้อมูลสาธารณะบางอย่าง ถ้าอยู่ในระบบราชการอาจจะเปิดเผยได้ไม่หมด ซึ่ง อ.พนัส ยกตัวอย่างการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA) ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนรับทราบ แต่เมื่อนำมาใช้ในไทยก็มีช่องโหว่บางประการ
ตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการได้ เว้นแต่ข้อมูลที่ทางราชการถือว่าเป็นความลับหรือเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ และตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ก็ระบุว่าให้อยู่ในดุลพินิจของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดังนั้นควรชี้ชัดไปเลยว่าข้อมูลส่วนไหนเปิดเผยได้หรือไม่ได้
อ.พนัส ชี้ประเด็นปัญหาของอีไอเออีกเรื่องหนึ่งคือ เมื่อเปิดเผยข้อมูลออกไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเข้าใจ เนื่องจากว่าเป็นข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งยากแก่การทำความเข้าใจ แต่จะโทษว่าใครก็ไม่ได้ ในเมื่อเขาเปิดเผยตามข้อกำหนดแล้ว ดังนั้น ควรต้องมีการวางหลักเกณฑ์ว่าควรจะเปิดเผยอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจได้ไม่ยาก
"ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมต้องทำให้เป็นกลไกที่สมบูรณ์แบบ ทางที่ดีควรแก้ไขใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม น่าจะได้ผลมากกว่าการแก้ไขใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น มีขั้นตอนไหนบ้าง ทำอย่างไรบ้าง เปิดเผยได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าหากแก้ใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มันจะขาดความเชื่อมโยงถึงกัน" อ.พนัส กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ด้านนายธนทศ ปรีเปรม ตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบกรณีสนามบินสุวรรณภูมิที่มาร่วมอภิปรายในเวทีนี้กล่าวว่า เมื่อเห็นข้อมูลอีไอเอแล้วก็ต้องตกใจ เพราะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามการประเมินกลับไม่มีชุมชนของตนรวมอยู่ด้วย ยิ่งเกิดความข้องใจในอีไอเอ จึงต้องมาศึกษาเองว่าอีไอเอเป็นอย่างไร เพราะเนื่องจากว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่นั้นได้รับผลกระทบเรื่องเสียง
นายธนทศ กล่าวต่อว่า แม้อีไอเอมีกระบวนการแก้ไขปัญหา แต่ชาวบ้านก็สงสัยว่าจะแก้ไขตรงประเด็นหรือไม่ และเปิดเผยข้อมูลได้หรือเปล่า แต่ชาวบ้านก็ไม่เคยได้รับทราบข้อมูลใดๆ เลย เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่สุวรรณภูมิก็ถูกบ่ายเบี่ยงตลอด บ้างก็ว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร คนที่เคยดูแลอยู่ก็ย้ายไปแล้ว บ้างก็ว่าข้อมูลเก็บอยู่ที่ดอนเมือง แต่เมื่อตามมาขอดูที่ดอนเมืองก็ไม่มีให้
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของข้อมูลด้านสุขภาพต่อประชาชนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งคราวหนึ่งชาวชุมชนเคยร้องขอให้เปิดเผยข้อมูล แต่ก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งนายธนทศเล่าว่าเจ้าหน้าที่อ้างว่าโครงการยังไม่เสร็จ จึงยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะหากว่าโครงการยังไม่แล้วเสร็จ แต่หากประชาชนได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวแล้วเกิดป่วยขึ้นมา จะทำอย่างไร
"อยากให้เปิดเผยข้อมูลสาธารณะให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ข้อมูลสาธารณะของที่ไหนก็ควรเก็บไว้ที่นั่น ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ข้อมูลของสุวรรณภูมิก็ควรอยู่สุวรรณภูมิ ไม่ควรอยู่ดอนเมือง" นายธนทศ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี อาจารย์เธียรชัย ณ นคร กรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวสรุปว่า รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าการดำเนินโครงการใดๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อชุมชน หรือชุมชนมีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ชุมชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนการดำเนินโครงการ และเสนอว่าต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งหมดของโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมถึงข้อมูลการประเมินผลกระทบ และความรับผิดชอบต่อสังคมที่ประชาชนควรได้รับ