นักวิจัยลาดกระบังทดลองใช้ RFID ช่วยจัดการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ เพิ่มความสะดวก ลดใช้แรงงาน สามารถติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำทุกตัวได้โดยตรง ทั้งยังหาเทคนิค และช่วงอายุที่เหมาะสมของสัตว์น้ำ ที่พร้อมฝังไมโครชิพ โดยมีอัตราการตายต่ำและบอบช้ำน้อยที่สุด คาดปีหน้าเผยแพร่เทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการบริหารเทคโนโลยี ระบุลักษณะด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรืออาร์เอฟไอดี (RFID) เดินทางไปตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้า โครงการวิจัยการบริหารจัดการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี ที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.51 ที่ผ่านมา ซึ่งมีสื่อมวลชนรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ติดตามไปด้วย
ผอ.เนคเทค กล่าวว่าโครงการนี้ เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาว่าประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี ในการเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันพันธุ์สัตว์น้ำว่าจะให้ผลอย่างไรบ้าง เพราะในปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความจำเป็นมาก สำหรับการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ การปรับปรุงพันธุ์และการจัดการพ่อแม่พันธุ์จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษาการฝังอาร์เอฟไอดีแท็กส์ (RFID Tags) ในสิ่งมีชีวิต ซึ่งยังไม่แพร่หลายมากนัก และในอนาคตอาจนำไปใช้ในสัตว์อื่นๆ ได้
ผศ.รุ่งตะวัน พนากุลชัยวิทย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ศึกษาการใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีในสัตว์น้ำ 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม, ปลานิล และปลาดุก ศึกษาอัตราการรอดตาย อัตราการเจริญเติบโต ผลกระทบทางด้านความเครียดและการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ (พยาธิสภาพ) เมื่อมีการฝัง RFID Tags รวมทั้งศึกษาว่าควรจะฝัง RFID Tags ซึ่งเป็นไมโครชิพขนาด 1.0x0.2 เซนติเมตร ที่บริเวณตำแหน่งใดจึงจะเหมาะสมที่สุด
นักวิจัยได้ทดลองฝังไมโครชิพในปลานิลและปลาดุกขนาดเล็ก ที่มีน้ำหนักประมาณ 3-4 กรัม พบว่าการฝัง RFID Tags เข้าไปในบริเวณช่องท้องเหมาะสมที่สุด เพราะว่าทำให้ปลาเจ็บน้อยที่สุด และแผลหายเร็วที่สุด เมื่อเทียบกับการฝังไมโครชิพใต้ผิวหนังบริเวณอื่นๆ และหากฝังตื้นเกินไปก็อาจทำให้ไมโครชิพหลุดหายได้
ส่วนกุ้งก้ามกรามขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 2.6 กรัม กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบการฝัง RFID Tags ที่บริเวณข้างลำตัวและในลำตัว แต่ยังพบปัญหาว่ากุ้งยังมีอัตราการตายสูงหลังจากได้รับการฝังไมโครชิพ ซึ่งกำลังศึกษาว่าเป็นเพราะสาเหตุใด แต่นักวิจัยคาดว่าอาจเป็นเพราะเทคนิคในการจับกุ้ง และเทคนิคการฝังไมโครชิพ แต่หากเป็นกุ้งหรือปลาที่โตและมีขนาดใหญ่แล้วจะไม่พบปัญหาดังกล่าว
หัวหน้าโครงการวิจัยบอกอีกว่าการฝัง RFID Tags ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาแต่อย่างใด แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ โดยนักวิจัยได้พัฒนาโปรแกรมการบริหารจัดการสัตว์น้ำด้วย สามารถบันทึกน้ำหนักอัตโนมัติด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปได้เมื่อตรวจวัด RFID Tags และสามารถคำนวณอัตราการการกินอาหาร และเปลี่ยนเป็นกล้ามเนื้อได้
จะช่วยให้การบริหารจัดการฟาร์มสะดวกมากขึ้น และประหยัดแรงงาน จากเดิมที่ต้องตรวจสอบพ่อแม่พันธุ์แบบสุ่ม ไม่สามารถตรวจสอบตัวเดิมได้โดยตรง และยังมีประโยชน์ต่อผู้ที่ซื้อลูกสัตว์น้ำไปเพาะเลี้ยงต่อด้วย เพราะหากเลี้ยงแล้วมีปัญหา ก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากพ่อแม่พันธุ์เป็นอย่างไร
ผศ.รุ่งตะวัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าไมโครชิพสำหรับฝังในสัตว์น้ำนั้นมีต้นทุนราว 60 บาทต่อชิ้น และมีอายุการใช้งานนานถึง 70 ปี โดยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เมื่อสัตว์น้ำตัวเดิมตายลง จึงคาดว่าหากผู้ประกอบการจะนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีนี้ไปใช้ก็ไม่น่าจะทำให้ต้นทุนสูงมากนัก หรืออีกนัยหนึ่งคือเพิ่มต้นทุนประมาณปีละ 1 บาท ต่อสัตว์น้ำ 1 ตัวเท่านั้น
สำหรับโครงการวิจัยนี้ดำเนินการไปแล้วราว 70% ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 1 ปีครึ่ง โดยจะสิ้นสุดโครงการในเดือน ธ.ค. 2551 ซึ่งนักวิจัยคาดว่าจะได้ข้อมูลและผลการดำเนินการทุกอย่างครบถ้วนก่อนที่จะเผยแพร่สู่ผู้ที่สนใจต่อไป.