xs
xsm
sm
md
lg

สภาวิจัยฯ ขอ 3 ปี มีนักวิจัยที่ดี 10 คนต่อประชากร 1 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วช.จัดการฝึกอบรม  นักวิจัยที่ดีสู่สังคมไทย รุ่นที่ 2 เพื่อกระตุ้นเตือนนักวิจัยให้มีทั้งคุณภาพควบคู่กับคุณธรรม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของนักวิจัยที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
สภาวิจัยฯ กระตุ้นเตือนนักวิจัย ต้องมีคุณภาพควบคู่กับคุณธรรม เชื่อสังคมไทยมีนักวิจัยที่ดีแล้ว ไม่ต่ำกว่าพันรายจากนักวิจัยทั่วประเทศ 2 หมื่นราย ตั้งเป้า 3 ปีเพิ่มยอดนักวิจัยที่ดีให้ได้ 10 คนต่อประชากรหมื่นคน ย้ำนักวิจัยที่ดีเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ให้คุณแก่ประชาชนโดยตรง ควรค่าแก่การยกย่อง ขณะที่นักวิจัยไม่ดีมักจะนำผลวิจัยไปใช้แต่ในทางที่ผิด

ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ระหว่างงานฝึกอบรม "นักวิจัยที่ดีสู่สังคมไทย" รุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.51 ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นว่า นักวิจัยที่ดีหมายถึงนักวิจัยที่เพรียบพร้อมทั้งความรู้ความสามารถทางวิชาการและการวิจัย ตลอดจนประพฤติตัวตามจรรยาบรรณนักวิจัยเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่องค์กร ประชาชน ประเทศชาติ ตลอดจนมวลมนุษยชาติ

ทั้งนี้ ศ.ดร.อานนท์ ชี้ว่า นักวิจัยที่ดีจะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณนักวิจัยซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของนักวิจัย มีความเคารพต่อเพื่อนนักวิจัย ไม่ละเมิดผลงานและความคิดของผู้อื่น มีความรับผิดชอบ ไม่ทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อผู้ร่วมงาน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งไม่กระทำผิดต่อสิ่งที่ศึกษาทั้งที่มีชีวิต เช่น สัตว์ทดลอง หรือแม้แต่สิ่งไม่มีชีวิตแต่อาจส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตได้ เช่น การวิจัยซึ่งทำให้เกิดมลพิษรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

"นอกจากนี้ นักวิจัยที่ดียังต้องหลีกเลี่ยงการชี้นำสังคมผิดๆ ด้วยข้อมูลเพียงด้านเดียว เช่น การให้ข้อมูลว่าการรับประทานข้าวมากๆ จะทำให้เกิดโรคอ้วนได้ ทั้งที่ควรให้ข้อมูลอย่างรอบด้านว่าควรรับประทานข้าวแต่พอดี จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าและประโยชน์มากมาย เช่น วิตามิน และโปรตีนในข้าว" เลขาธิการ วช.กล่าว

อย่างไรก็ดี เลขาธิการ วช.ยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิจัยรวมกันกว่า 2 หมื่นคนทั้งด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ว่ามีนักวิจัยที่ดีอยู่มากน้อยเพียงใดเพราะไม่มีการสำรวจมาก่อน แต่เชื่อว่ามีนักวิจัยที่ดีอยู่ไม่ต่ำกว่าพันรายแน่นอน สังเกตได้จากที่มีการมอบรางวัลเชิดชูนักวิจัยที่ดีอยู่เสมอๆ และยังจะมีอีกมากที่เป็นนักวิจัยที่ดีแต่ยังไม่ได้รับการยกย่อง

ศ.ดร.อานนท์ เผยด้วยว่า วช.จึงตั้งเป้าหมายการพัฒนานักวิจัยทั้งหมดให้เป็นนักวิจัยที่ดีสู่สังคมให้ไม่ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากร 1 หมื่นคนภายใน 3 ปีนี้ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบวิจัยของ วช. พ.ศ.2550-2554 กลไกหนึ่งคือการมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติเพื่อเทิดทูนนักวิจัยที่ทำวิจัยอย่างมีคุณภาพและมีคุณธรรม โดยเฉพาะการมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีนักวิจัยดีเด่นเข้ารับรางวัลแล้ว 131 คน

"นักวิจัยที่ดีจะเป็นมันสมองผลิตข้อมูลทางวิชาการให้แก่ประชาชนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และอาชีพของประชาชนให้ดีขึ้น ประชาชนจะได้ประโยชน์จากนักวิจัยที่ดีโดยตรง เพราะนักวิจัยจะเป็นทั้งผู้คิด ผู้ให้ความรู้ ผู้ตรวจสอบปัญหา และผู้เสนอวิธีแก้ปัญหาให้สังคม นักวิจัยที่ดีจึงเป็นผู้ปิดทองหลักพระ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ควรแก่การยกย่องเชิดชู" เลขาธิการ วช.กล่าว

ขณะที่ผลของการมีนักวิจัยที่ไม่ดี ศ.ดร.อานนท์ ย้ำว่า ย่อมจะทำให้เกิดผลลบต่อประชาชนอย่างแน่นอน เพราะผลงานวิจัยใดๆ ย่อมจะมี 2 ด้านเสมอๆ ดังนั้นเมื่อนักวิจัยที่ไม่ดีนำไปใช้ย่อมเลือกใช้ในทางที่ผิด เช่น การวิจัยเรื่องนิวเคลียร์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางสันติได้มากมาย ขณะเดียวกันก็สามารถนำไปผลิตอาวุธคร่าชีวิตประชาชนได้เช่นกัน ทว่าหลายปีที่ผ่านมายังไม่พบกรณีที่นักวิจัยทำผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงในประเทศไทยแม้แต่รายเดียว

"วช.กำลังพัฒนาระบบชั่งตวงวัดข้อมูลวิชาการของงานวิจัยต่างๆ อยู่ เพื่อนำเสนอข้อมูลทางวิชาการอย่างรอบด้านให้สังคมได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในกรณีที่ยังมีความสับสน ไม่ชัดเจน และตีความได้หลายอย่าง ไม่ให้เป็นเพียงผลการวิจัยด้านใดเพียงด้านหนึ่ง โดยคณะกรรมการวิชาการทุกๆ สาขาของ วช.จะร่วมกันพิจารณาสิ่งที่ศึกษาอย่างรอบด้าน โดยได้ทยอยนำเผยแพร่ในรูปของหนังสือ หรือการจัดเวทีเสวนาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ไปบ้างแล้ว" เลขาธิการ วช.กล่าว

ขณะที่นักวิจัยที่เป็นที่ต้องการของสังคมจะต้องประกอบด้วยคณสมบัติอย่างไรนั้น ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ย้ำว่านักวิจัยที่สังคมต้องการต้องเป็นที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และรู้จักการหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ มิฉะนั้นจะเป็นอุปสรรคต่องการวิจัยของตัวเอง เนื่องจากนับวันความรู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก
 
โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เราจะเห็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ไอพ็อดและโทรศัพท์มือถือที่ออกรุ่นใหม่มาในเวลากระชั้นชิด ในเวลาเดียวกันยังต้องมีความรู้ในสหวิทยาการที่เกิดขึ้นตามมามากมายอีกด้วย

"นักวิจัยต้องเข้าใจความต้องการของคน รู้สังคม รู้โลก และนักวิจัยที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีความรู้ทั้งระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับการประยุกต์ใช้ ตัวอย่างนักวิจัยที่ดีที่คนมักไม่คิดกันว่าท่านเป็นนักวิจัยคือพระพุทธเจ้า ที่ทรงทดลองอดอาหารเพื่อหาทางดับทุกข์ เมื่อพบว่าไม่ใช่ ท่านก็เปลี่ยนวิธีใหม่ ซึ่งความเสี่ยงและล้มเหลวเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการวิจัย ทว่านำไปสู่ความสำเร็จในภายหลังได้" ศ.ดร.มนตรี กล่าว

สำหรับการฝึกอบรม "นักวิจัยที่ดีสู่สังคมไทย" เป็นการฝึกอบรมระยะสั้นจบภายในหนึ่งวัน มีนักวิจัยจากหน่วยวิจัยและสถาบันการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมรับการฝึกอบรมประมาณรุ่นละ 500 คน โดย วช.ได้จัดการอบรมรุ่นที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้นักวิจัยได้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตัวเองในฐานะผู้ทำประโยชน์ให้ประเทศ โดยมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการและประกอบด้วยคุณธรรม โดยจะมีการจัดการฝึกอบรมรุ่นต่อไปในปี 2552.
ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช.กล่าวว่าประเทศไทยมีนักวิจัยที่ดีมากกว่าพันคนปะปนอยู่ในกลุ่มนักวิจัยทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 20,000 คน
ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ย้ำว่านักวิจัยที่สังคมต้องการต้องเป็นผู้ไม่หยุดการเรียนรู้ตลอดทั้งชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น