xs
xsm
sm
md
lg

ประชันสุดยอดเครื่องยนต์โลก...BMWผงาด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบ เทอร์โบคู่ 3,000 ซีซีของบีเอ็มดับเบิลยู ที่มีเรี่ยวแรงมากกว่า 300 แรงม้า คว้ารางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2008 และอีกรางวัลในสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 2,500-3,000 ซีซี
กลับมาอีกครั้งสำหรับเวทีแจกรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้กับบรรดาวิศวกรที่อยู่ในตำแหน่งผู้ปิดทองหลังพระ ในการพัฒนาเครื่องยนต์ ซึ่งในปีนี้งาน International Engine of the Year Awards ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนับจากปี 1999

สำหรับปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการแจกรางวัลนิดหน่อย เพราะว่ามีการเพิ่มสาขาเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Engine of the Year
รางวัลนี้มาแทนที่รางวัล Best Fuel Economy เพื่อรับกับกระแสความห่วงใยในสภาพแวดล้อมที่คนทั่วโลกเพิ่งจะมาตื่นตูมกัน

โดยรางวัลทั้งหมดยังแจกเท่าเดิม 11+1 รางวัล คือ 11 สาขาที่จะมอบให้กับเครื่องยนต์แต่ละความจุที่ทางผู้จัดแบ่งออกมา จากนั้นจึงนำผู้ชนะทั้งหมดมาตัดสินกับอีกครั้งเพื่อรับรางวัลใหญ่ของปี คือ International Engine of the Year

เกริ่นสักนิดสำหรับคนที่ยังไม่ทราบความเป็นมาของรางวัลนี้ จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์ Media & Events ในอังกฤษ ซึ่งที่นี่พิมพ์นิตยสารเกี่ยวกับวิศวกรรมยานยนต์ เช่น Automotive Testing Technology International, Tire Technology International, Electric & Hybrid Vehicle Technology International, Vehicle Dynamics International, Professional Motorsport World และ European Automotive Components News

ในปีนี้มีการเชิญคณะกรรมการ 65 คนจาก 32 ประเทศทั่วโลกมาให้คะแนนเพื่อเฟ้นหาเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี และรูปแบบของการให้คะแนนก็ยังเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา คือ กรรมการแต่ละคนจะมีคะแนนคนละ 25 คะแนนเพื่อแบ่งมอบให้กับเครื่องยนต์ 5 บล็อกในแต่ละสาขาที่ตัวเองชอบ คะแนนที่กรรมการ 1 คนจะให้กับเครื่องยนต์สูงสุดไม่เกิน 15 คะแนน และต่ำสุด 1 คะแนน รวมถึงห้ามไม่ให้คะแนนเท่ากัน

ส่วนการคัดเลือกเครื่องยนต์ที่เข้ารอบนั้น จะพิจารณาจากการทำตลาดที่จะต้องมีมากกว่า 1 ประเทศ ส่วนเรื่องที่ว่าจะขายมานานแค่ไหนไม่อยู่ในข้อจำกัด แต่อย่างน้อยจะต้องเปิดตัวขายก่อนวันที่ 7 พฤษภาคม 2008 ยกเว้นรางวัลเครื่องยนต์ใหม่แห่งปี หรือ New Engine of the Year ซึ่งจะต้องเปิดตัวในระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม 2007-8 พฤษภาคม 2008

BMW กับความสำเร็จอีกครั้ง

ถือว่าประสบความสำเร็จในการแจกรางวัลรายการนี้อย่างมาก โดยเฉพาะนับจากปี 2005 เป็นต้นมา เพราะค่ายใบพัดสีฟ้าผูกขาดในรางวัลใหญ่ๆ เช่น เครื่องยนต์ใหม่แห่งปี, เครื่องยนต์ทรงสมรรถนะแห่งปี, เครื่องยนต์ในกลุ่มที่มีความจุเกิน 4,000 ซีซี และรางวัลใหญ่เครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีมาโดยตลอดและในปีนี้ก็เช่นกัน...

เครื่องยนต์หลายบล็อกของบีเอ็มดับเบิลยูสามารถครองใจคณะกรรมการรวมแล้ว 5+1 รางวัล ซึ่งในบางสาขาสามารถกวาดคะแนนแบบทิ้งอันดับ 2 ไม่เห็นฝุ่น เช่น ในกลุ่มที่มีความจุ 3,000-4,000 ซีซี ขุมพลังเบนซินวี8 4,000 ซีซีรุ่นใหม่ ซึ่งวางอยู่ในเอ็ม3 ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน สามารถพิชิตเครื่องยนต์ที่น่าสนใจอย่างบล็อกวี6 3,800 ซีซี เทอร์โบคู่ของนิสสัน จีที-อาร์ และเครื่องยนต์ 6 สูบนอน 3,600 ซีซี เทอร์โบของพอร์ช 911 เทอร์โบ/จีที2 ลงได้อย่างราบคาบ

และถือเป็นการกลับมาครองบัลลังก์ในสาขานี้อีกครั้ง หลังจากที่เสียไปเมื่อปีที่แล้วหลังจากที่โดนความสดของขุมพลังจากพอร์ชเบียดเอาชนะใจกรรมการไปได้

สำหรับรางวัลสำคัญที่บีเอ็มดับเบิลยูสามารถคว้ามาครองในปีนี้ มีทั้งเครื่องยนต์ใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่งตกเป็นของขุมพลัง 6 สูบ เทอร์โบดีเซล 2,000 ซีซีที่เปิดตัวครั้งแรกกับรุ่น 123d ซึ่งสามารถเบียดเอาชนะเครื่องยนต์วี8 4,000 ซีซีของเอ็ม3 , เครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลบ็อกเซอร์ของซูบารุ และเครื่องยนต์วี6 3,800 ซีซีทวินเทอร์โบของนิสสันไปได้

ส่วนอีกรางวัลใหญ่ของงาน International Engine of the Year ซึ่งเป็นการประชันของผู้ชนะในแต่ละสาขา และชัยชนะตกเป็นของเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบ 3,000 ซีซีเทอร์โบคู่ 300 กว่าแรงม้าที่เปิดตัวกับซีรีส์ 3 คูเป้-เปิดประทุน, 135i และ X6 อีกครั้ง ซึ่งสามารถเอาชนะเครื่องยนต์ 4 สูบ TSI ทวินชาร์จเจอร์ ของโฟล์คสวาเกนไปได้ด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างเกือบ 100 คะแนน ดังนั้นบีเอ็มดับเบิลยูจึงถือว่าประสบความสำเร็จกับรางวัลใหญ่นี้มาก เพราะได้รับเลือกเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 10 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านั้นทำได้ในปี 2007,2006,2005, 2002 และ 2001

ส่วนรางวัลอื่นที่ทำได้ คือ ในสาขาของเครื่องยนต์ที่มีความจุเกิน 2,500 ซีซีขึ้นไป ซึ่งในกลุ่ม 2,500-3,000 ซีซีตกเป็นของขุมพลังเบนซิน 6 สูบเรียง 3,000 ซีซี เทอร์โบ, ในกลุ่ม 3,000-4,000 ซีซีเป็นของเบนซินวี8 4,000 ซีซีของเอ็ม3 และในกลุ่มเกิน 4,000 ซีซีเป็นของวี10 5,000 ซีซีของเอ็ม5 ซึ่งเครื่องยนต์บล็อกนี้ครองรางวัลนี้มาเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้วนับจากปี 2005
อีก 1 รางวัลที่บวกเพิ่มเข้ามาแล้วไม่ค่อยอยากนับรวมก็เพราะเป็นเครื่องยนต์ที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาระหว่างบีเอ็มดับเบิลยูกับกลุ่มพีเอสเอ (เปอโยต์+ซีตรอง) แห่งฝรั่งเศส ซึ่งขุมพลังเบนซิน 4 สูบ 1,600 ซีซี เทอร์โบที่วางอยู่ในมินิ คูเปอร์ เอส และเปอโยต์ 207 และ 308 GTi ซึ่งเป็นผู้ชนะอีกครั้งในสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,400-1,800 ซีซี

Boxer TDi มีรางวัลติดมือ

นึกว่าจะพลาดรางวัลในปีนี้ไปแล้วสำหรับเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ หรือสูบนอนที่เป็นแบบดีเซลบล็อกแรกของโลกจากค่ายซูบารุ ซึ่งเปิดตัวขายครั้งแรกเมื่อต้นปี 2008 กับเลกาซี่ที่ขายในยุโรป ก่อนเพิ่มทางเลือกโดยมาประจำอยู่ใต้ฝากระโปรงของฟอเรสเตอร์ และอิมเพรซาที่จะเปิดตัวในปลายปีนี้

เครื่องยนต์สูบนอน 2,500 ซีซี TDi รุ่นนี้รีดกำลังออกมาได้ 150 แรงม้า และต้องลุ้นกันเหนื่อยกว่าจะเป็นผู้ชนะ เพราะว่าได้รับคะแนนแบบเฉือนเอาชนะแชมป์เก่าอย่างเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล 6 สูบ 2,500 ซีซีที่วางอยู่ในแซด4 และเอ็กซ์3 ไปแบบเฉียดฉิวด้วยสกอร์ 188-187 คะแนน

นอกจากนั้นยังถือเป็นการกลับมารับรางวัลในสาขานี้อีกครั้ง หลังจากที่เครื่องยนต์ 4 สูบนอนเบนซิน 2,500 ซีซี เทอร์โบของซูบารุ เลกาซี่เคยทำได้ในปี 2006 ก่อนจะเสียแชมป์ไปให้กับบีเอ็มดับเบิลยูในปีต่อมา

โตโยต้ากินรางวัลเครื่องยนต์เล็ก

แต่ไหนแต่ไร โตโยต้ามักจะต้องมีรางวัลจากเวทีนี้ติดไม้ติดมือกลับบ้าน มากบ้างน้อยบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นไปที่รางวัลในสาขาเครื่องยนต์ความจุน้อยๆ หรือไม่ก็ในกลุ่มที่เน้นความประหยัดน้ำมัน

ในปีนี้แม้ว่ารางวัล Best Fuel Economy จะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Green Engine of the Year เพื่อให้รับกับกระแส แต่ผลก็ยังเหมือนเดิม เพราะเครื่องยนต์ไฮบริด 4 สูบ 1,500 ซีซีที่วางอยู่ในพริอุสรุ่นที่ 2 ของโตโยต้ายังได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการให้ซิวตำแหน่งนี้อีกครั้ง

ถือเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันนับจากกระชากรางวัลนี้มาจากแชมป์เก่าอย่างเครื่องยนต์ไฮบริด 1,300 ซีซี IMA ของฮอนด้า ซีวิคในปี 2004 เพียงแต่ในปีนี้ กว่าจะเป็นผู้ชนะเล่นเอาหืดขึ้นคอ เพราะว่าโดนเครื่องยนต์ดีเซล 2,000 ซีซีพร้อมระบบ Start-Stop ของบีเอ็มดับเบิลยู (118d และ 318d) มาปันคะแนนจากคณะกรรมการ ก่อนที่โตโยต้าจะชนะไปด้วยสกอร์ 269-266 คะแนน

ส่วนอีกรางวัลที่โตโยต้าคว้ามาได้ในปีนี้ คือ สาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุต่ำกว่า 1,000 ซีซี ซึ่งตกเป็นของเครื่องยนต์ 3 สูบ 67 แรงม้าของโตโยต้า อายโก้

อีก 2 รางวัลตกเป็นของโฟล์คสวาเกน

นี่ก็เป็นอีกค่ายที่มักจะมีรางวัลติดมือกลับมา และในปีนี้ทำไปได้ 2 รางวัล ซึ่งรางวัลในสาขา 1,000-1,400 ซีซีที่เครื่องยนต์เบนซินความจุน้อยแต่แรงสะใจอย่าง 1,400 ซีซี พร้อมระบบอัดอากาศแบบทวินชาร์จเจอร์ได้รับนั้น ถือเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันนับจากปี 2006 ที่ขุมพลังของโฟล์คสวาเกนครองรางวัลนี้

แต่ที่ผูกขาดมานานเห็นจะเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบแบบเบนซินไดเร็กต์อินเจ็กชัน หรือ FSI ตัวแรง 4 สูบ 2,000 ซีซี เทอร์โบ 200 แรงม้า ซึ่งคว้ารางวัลในสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,800-2,000 ซีซีมาครองได้อีกปี และเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันนับจากที่สามารถโค่นขุมพลังตัวแรง 4 สูบ 2,000 ซีซีของฮอนด้า เอส2000 ลงได้

เครื่องยนต์บล็อกนี้ของโฟล์คสวาเกนถูกวางในรถยนต์หลายรุ่นหลายยี่ห้อที่อยู่ในเครือ ทั้งโฟล์คสวาเกน กอล์ฟ, พัสสาท, ติกวน ตามด้วยออดี้ เอ3, เอ4, เอ6 ไปจนถึงแบรนด์ระดับรองๆ อย่างเซียทและสโกดา

สรุปผลรางวัล International Engine of the Year Awards 2008

-เครื่องยนต์ใหม่ยอดเยี่ยม : บีเอ็มดับเบิลยู เทอร์โบดีเซล 4 สูบ 2,000 ซีซี (123d)

-เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งปี : โตโยต้า เครื่องยนต์ไฮบริด HSD 1,500 ซีซี (พริอุส)

-เครื่องยนต์สมรรถนะเยี่ยมแห่งปี : พอร์ช เบนซิน 6 สูบนอน 3,600 ซีซี เทอร์โบ (911 เทอร์โบ / 911จีที2)

-เครื่องยนต์ที่มีความจุต่ำกว่า 1,000 ซีซี : โตโยต้า เบนซิน 3 สูบ 1,000 ซีซี (โตโยต้า อายโก้/เปอโยต์ 107/ซีตรอง ซี1)

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,000-1,400 ซีซี : โฟล์คสวาเกน เบนซิน 4 สูบ TSI 1,400 ซีซี ทวินชาร์จเจอร์ (กอล์ฟ, ทัวราน)

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,400-1,800 ซีซี : บีเอ็มดับเบิลยู/พีเอสเอ เบนซิน 4 สูบ 1,600 ซีซี เทอร์โบ (มินิ คูเปอร์ เอส, คลับแมน เอส / เปอโยต์ 207 และ 308 GTi)

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,800-2,000 ซีซี : โฟล์คสวาเกน/ออดี้ เบนซินไดเร็กต์อินเจ็กชัน FSI 2,000 ซีซี เทอร์โบ

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 2,000-2,500 ซีซี : ซูบารุ สูบนอนเทอร์โบดีเซล 2,500 ซีซี (เลกาซี่, ฟอเรสเตอร์, อิมเพรซา)

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 2,500-3,000 ซีซี : บีเอ็มดับเบิลยู เบนซิน 6 สูบ 3,000 ซีซี เทอร์โบคู่ (135, 335, X6)

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 3,000-4,000 ซีซี : บีเอ็มดับเบิลยู เบนซิน วี8 4,000 ซีซี (เอ็ม3)

-เครื่องยนต์ที่มีความจุเกิน 4,000 ซีซี : บีเอ็มดับเบิลยู เบนซิน วี10 5,000 ซีซี (เอ็ม5)

เครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2008 : บีเอ็มดับเบิลยู เบนซิน 6 สูบ 3,000 ซีซี เทอร์โบคู่ (135, 335, X6)
อีกรางวัลใหญ่ที่บีเอ็มดับเบิลยูคว้าไปครอง คือ เครื่องยนต์ใหม่ยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของขุมพลังดีเซล 4 สูบ เทอร์โบคู่ 2,000 ซีซี
แม้ชื่อรางวัลจะเปลี่ยน แต่ทว่าเครื่องยนต์ไฮบริดแบบ HSD ของโตโยต้าก็ยังครองใจคณะกรรมการให้คว้ารางวัล Green Engine of the year
เครื่องยนต์วี8 4,000 ซีซีบล็อกใหม่ที่เปิดตัวกับเอ็ม3 ไม่แรงอย่างที่คิด เพราะว่าคว้ามาได้แค่รางวัลเดียวทั้งที่เป็นบล็อกใหม่แกะกล่อง
มินิ คูเปอร์ เอส ในเครือบีเอ็มดับเบิลยูทำได้ 1 รางวัลกับเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี เทอร์โบ
พอร์ชทำได้ 1 รางวัลกับความยอดเยี่ยมของเครื่องยนต์ 6 สูบนอน 3,600 ซีซี เทอร์โบของ 911 เทอร์โบ/911 จีที2
อีกรางวัลของโตโยต้ามาจากเครื่องยนต์ 3 สูบ 1,000 ซีซีในรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นอายโก้
โฟล์คสวาเกนคว้ามาได้ 2 รางวัล เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ 1,400 ซีซีแบบทวินชาร์จเจอร์ ซึ่งมีกำลังระหว่าง 140-170 แรงม้า
บ็อกเซอร์เทอร์โบบล็อกแรกของโลกจากค่ายซูบารุประสบความสำเร็จในเวทีปีนี้ เมื่อคว้ามาได้ 1 รางวัลในสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 2,000-2,500 ซีซี
แม้ตัวรถจะได้รับความสนใจทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าเครื่องยนต์วี6 3,800 ซีซีเทอร์โบคู่บล็อกใหม่ของนิสสัน จีที-อาร์จะไม่ประสบความสำเร็จบนเวทีแห่งนี้ ได้แค่อันดับที่ 5 ของสาขาเครื่องยนต์สมรรถนะเยี่ยมแห่งปี และอันดับที่ 3 ในสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 3,000-4,000 ซีซี
กำลังโหลดความคิดเห็น