xs
xsm
sm
md
lg

ไยต้องง้อนิวเคลียร์? ไม่ถึงปีผู้ผลิตรายเล็กเสนอป้อนไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศไทยได้บรรจุแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 4 พันเมกะวัตต์ภายในปี 2564 ทว่าภาคประชาชนยังไม่มีส่วนรู้เห็นมากเท่าที่ควร
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคปัดประเทศไทยมีไฟฟ้าเพียงพอ ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เสนอถ้าจะสร้างเพิ่มให้หนุนพลังงานหมุนเวียนแทนจะดีกว่าเพราะไทยมีศักยภาพ ระบุแค่ 8 เดือนผู้ผลิตรายเล็กป้อนไฟฟ้าหมุนเวียนถึง 3,600 เมกะวัตต์ แนะตามรอยพ่อและเอาจริง "เศรษฐกิจพอเพียง"

น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ให้ความคิดเห็นกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550-2564 (พีดีพี 2007) ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.51 ว่าแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กำลังการผลิตรวม 4 พันเมกะวัตต์ในปี 64 ถือเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดของกิจการไฟฟ้าและพลังงานของไทยที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ที่จะติดตามมาพลอยผิดพลาดไปด้วย

น.ส.สายรุ้ง ให้เหตุผลว่า เพราะหากมีการบริหารจัดการที่ดีแล้ว เช่น การส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และครัวเรือน ประเทศไทยในปัจจุบันก็ถือว่ามีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมมากเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะ 10 -15 ปีข้างหน้าโดยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมแม้แต่โรงเดียว เพราะที่ผ่านมาแผนพีดีพีมักมีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกินจริงเสมอ

ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวว่า จึงไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปด้วย เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน อีกทั้งตัวเทคโนโลยีนิวเคลียร์รุ่น 4 และ 5 ที่อ้างว่าปลอดภัยยังเป็นเพียงแปลนเขียวเท่านั้น โดยเทคโนโลยีที่ใช้อยู่จริงยังเป็นเทคโนโลยีเก่ารุ่น 2 -3 เมื่อรวมกับระบบการจัดการแบบวัฒนธรรมไทยที่ไม่เคร่งครัดก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีอย่างเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี หากจะมีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม น.ส.สายรุ้ง เสนอว่าควรส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนแทนจะดีกว่า ซึ่งไทยมีศักยภาพมากและสามารถทำให้เห็นผลได้เร็วเพียงเวลา 3 -5 ปี สังเกตได้จากเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) เมื่อช่วงกลางปี 50 ถึงต้นปี 51 เพียง 8 เดือน ก็มีผู้แสดงความจำนงผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากถึง 3,600 เมกะวัตต์แล้ว

หรือแม้แต่ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ล่าสุด กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ระบุว่ามีถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์เมื่อเทียบกับปี 46 ที่เชื่อว่ามีศักยภาพเพียง 5 พันเมกะวัตต์ และการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมด้วยกังหันความเร็วลมต่ำโดยฝีมือวิศวกรไทยที่ได้รับรางวัลจาก ปตท.และมีการนำไปใช้งานแล้ว

ทว่าที่ผ่านมาภาครัฐกลับไม่ได้ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคชี้ว่า ดูได้จากงบประมาณสนับสนุนการวิจัยพลังงานหมุนเวียนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับทุนวิจัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งตัว น.ส.สายรุ้งเองไม่ปฏิเสธให้มีการวิจัยพัฒนา แต่ต้องให้การสนับสนุนในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ด้วย

จากปัจจุบันที่ภาครัฐมีธงในใจอย่างชัดเจนให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พร้อมกำหนดในพีดีพี 2007 โดยประชาชนไม่ได้รู้เห็น ต่างจากในต่างประเทศ อาทิ ฟินแลนด์ ที่มีการถกเถียงกันถึง 10 ปี จึงมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้

ขณะที่แผนดำเนินการของไทยกลับเป็นเพียงการกล่าวถึงเพียงครั้งเดียวโดยนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงานสมัยรัฐบาลคณะปฏิวัติฯ และเมื่อมีการสอบถามก็กลับได้รับคำตอบว่าเป็นเพียงการศึกษาเตรียมการเท่านั้น ทั้งที่แผนพีดีพี 2007 คือแผนที่กำหนดถึงสิ่งที่ต้องทำในอนาคต

น.ส.สายรุ้ง เสนอว่า จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะต้องเปิดให้มีการระดมความคิดเห็นโดยนักวิชาการทุกฝ่ายเพื่อถกเถียงถึงเรื่องดังกล่าว จาก 1 ปีครึ่ง - 2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐให้ข้อมูลฝ่ายสนับสนุนเพียงด้านเดียวเท่านั้น

นอกจากนั้น เมื่อผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถามถึงความคิดเห็นกรณีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง เจ้ากระทรวงมีนโยบายซื้อเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นเพื่อเปลี่ยนไม้โตเร็วอย่างยูคาลิปตัสไปเป็นพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งอาจต้องการวัตถุดิบไม้โตเร็ว 30 ตันต่อวัน น.ส.สายรุ้ง ปฏิเสธว่า ไม่เห็นด้วย เพราะประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

น.ส.สายรุ้ง เชื่อว่า วิกฤติพลังงานที่แท้จริงเป็นเพียงการปั่นราคาเท่านั้น จึงไม่ควรนำสิ่งแปลกปลอมอย่างไม้ยูคาฯ ซึ่งทำลายดินและน้ำมาใช้เพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรมที่ต้องอาศัยความยั่งยืนของเรื่องดังกล่าว จึงฝากไปยังรัฐบาลให้ดำเนินรอยตามเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวภายในงานเสวนา "ทิศทางการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 สิ่งที่อยากเห็นและให้เป็น" จัดโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.51 ณ อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สายรุ้ง ทองปลอน
กำลังโหลดความคิดเห็น