"โลกไม่ได้เป็นของมนุษย์ แต่มนุษย์ต่างหาก ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก" คำบรรยายที่ปรากฏ ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง ก่อนนำผู้ชมเข้าสู่เนื้อหาทั้งหมด ในภาพยนตร์สารคดี 2 เรื่องเยี่ยม "ดิ เอิร์ธ ดาส นอต บีลอง ทู แมน" และ "ไวด์ แอนิมอล" ผลงานการถ่ายทำ ของ "ญานน์ อาร์ตุส แบร์ทรองด์" ช่างภาพนักอนุรักษ์ชื่อดัง ชาวฝรั่งเศส และทีมงาน ที่นำเสนอวิกฤติของธรรมชาติในมุมมองที่แตกต่าง
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของห้างสรรพสินค้าเซน ที่ขณะนี้กำลังจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายทางอากาศ : สาสน์สำรวจสภาวะโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลงานของญานน์ อาร์ตุส แบร์ทรองด์ (Yann Arthus-Bertrand) ช่างภาพชื่อดังชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน เซน เอิร์ธ แคร์ โซไซตี (ZEN EARTH CARE SOCIETY) ห้างสรรพสินค้าเซนจึงได้ร่วมกับเอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า @ เซ็นทรัลเวิลด์ จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเพื่อสิ่งแวดล้อมรอบพิเศษ เรื่อง "ดิ เอิร์ธ ดาส นอต บีลอง ทู แมน" (The Earth Does Not Belong to Man) และ "ไวด์ แอนิมอล" (Wild Animals) ความยาว 180 นาที เมื่อวันที่ 20 และ 25 ส.ค.51 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสไปร่วมชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
ญานน์ อาร์ตุส แบร์ทรองด์ เป็นช่างภาพที่เชี่ยวชาญ ทางด้านการถ่ายภาพทางอากาศ ระหว่างที่เขาและทีมงาน เดินทางไปรอบโลกเพื่อตระเวนบันทึกภาพสรรพชีวิต และทุกสิ่งที่มีอยู่บนผืนพิภพ พวกเขาก็เกิดแนวความคิด ที่จะถ่ายทอดความเป็นไปในวิถีชีวิตของชนชาติที่แตกต่าง และความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ที่กำลังถูกคุกคามจากมนุษย์ในรูปแบบภาพยนตร์สารคดี
เพื่อสะท้อนให้ผู้ชมได้เห็นว่าขณะที่มนุษย์กำลังแข่งขันกันเองและแข่งกับเวลาที่เดินไปข้างหน้าตลอดนั้น มนุษย์เราหาได้แยแสกับธรรมชาติและเพื่อนร่วมโลกเลยสักนิด โดยคิดเพียงแค่ว่าโลกใบนี้เป็นของเรา และตั้งหน้าตั้งตากอบโกยเอาผลประโยชน์เข้าตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่านั้น
ผลงานภาพยนต์ชุดนี้ ของญานน์ อาร์ตุส แบร์ทรองด์ มีทั้งหมด 6 ตอน โดยฉายเป็นรายการสารคดีทางโทรทัศน์ ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งญานน์ อาร์ตุส แบร์ทรองด์ ได้คัดเลือกตอนที่ 5 และ 6 คือ "ดิ เอิร์ธ ดาส นอต บีลอง ทู แมน" (The Earth Does Not Belong to Man) และ "ไวลด์ แอนิมอล" (Wild Animals) สำหรับนำมาฉายในโรงภาพยนตร์รอบพิเศษที่ประเทศไทย และยังเป็นครั้งแรกที่มีการนำออกมาฉายนอกประเทศฝรั่งเศสด้วย
The Earth Does Not Belong to Man เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในวัฒนธรรมที่แตกต่างและมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมือง ชนบท โลกของอุตสาหกรรม และดินแดนแห่งเทคโนโลยีการทำเกษตรกรรมแบบเต็มรูปแบบ ที่ไม่ว่าจะมีวิถีต่างกันอย่างไร แต่มีบางสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือธรรมชาติ สัตว์ป่า และพืชพรรณ กำลังถูกคุกคามจากเพื่อนร่วมโลกที่ได้ชื่อมนุษย์ จนต้องตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ และมีบางชนิดที่ลดจำนวนลงจนอยู่ในขั้นวิกฤติ และอาจสูญพันธุ์ได้ในไม่ช้า
ส่วน Wild Animals นั้นบอกเล่าเรื่องราวและสถานะของสัตว์โลกในท้องถิ่นต่างๆ ที่ถูกเบียดเบียนจากเหล่าอารยชนทั้งหลายให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ทั้งจากการไล่ล่าโดยตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นลิง เสือ แมวน้ำ วาฬ และนานาสัตว์ป่าในดินแดนแอฟริกา และผลลัพธ์ที่เกิดจากความผิดพลาดของเทคโนโลยีโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
อย่างกรณีหายนะของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ที่ทำให้เมืองทั้งเมืองกลายสภาพเป็นเหมือนนรกในมโนภาพของผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น แต่กลับกลายเป็นสวรรค์ของนานาสัตว์ที่เข้ามารับกรรมต่อจากมนุษย์โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่จากกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของเมืองนั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง สะท้อนให้ผู้ชมเห็นว่าขณะนี้โลกถูกย่ำยีจากน้ำมือมนุษย์มามากจนบอบช้ำและอาจทนทานรับไม่ไหวในไม่ช้าไม่นาน แต่ขณะเดียวกันก็ได้ถ่ายทอดสิ่งดีๆ ที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่ และยังมีคนบางกลุ่มมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะกระทำในสิ่งที่ต่างออกไปจากคนส่วนใหญ่ เพื่อหวังว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นจะช่วยเยียวยารักษาธรรมชาติและบรรเทาทุกข์ให้เพื่อนร่วมโลกได้บ้าง และยังเป็นการไถ่บาปแทนเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ด้วย
ก่อนหน้าที่จะได้ชมภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมฟังการเสวนาของ 3 คนดังในวงการภาพยนตร์ไทย ได้แก่ นันทขว้าง สิรสุนทร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, อภิชนา ลีนานนท์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ และ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้บุกเบิกสถานีโทรทัศน์ทางอินเทอร์เน็ต ที่มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้หลังจากที่ได้ชมกันมาก่อนแล้วในรูปแบบดีวีดี
"หนังดำเนินไปตรงๆ ทื่อๆ แต่มีอิมแพคกับคนดู เพราะนำเสนอภาพจริง ไม่มีการตัดต่อ บอกต้นเหตุและปลายทางชัดเจน ให้คนดูได้ตัดสินข้อมูลได้เองว่าดีหรือไม่ดี ต่างจากหนังสารคดีหลายเรื่อง ที่ผู้สร้างเอามุมมองของตัวเองใส่เข้าไปมากเกิน ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง" นันทขว้างกล่าว
"แม้แต่สารคดีเนชันแนลจีโอกราฟฟิค (National Geographic) หรือดิสคัฟเวอรี (Discovery) ซึ่งนักวิชาการยุคใหม่ยังบอกว่า ไม่น่าเชื่อถือเหมือนสมัยก่อน เพราะมีธุรกิจแฝงอยู่"
"นอกจากนี้ หนังของญานน์ยังมีการดำเนินเรื่องที่หลากหลาย อย่างเช่น การที่ตัวละครในหนัง ถามแหล่งข่าวตรงๆ ว่า รู้สึกอย่างไรที่ขายเนื้อลิง หรืออย่างภาพสีสันสดใสของผ้าใบ ในตลาดชาวแม็กซิกัน ตลาดนี้ไม่เคยทำให้ชาวแม็กซิกันรวยขึ้นสักที แต่ทำไมพวกเขายังต้องมาขายของที่ตลาดแห่งนี้อยู่อีก เพราะเขาทำแล้วมีความสุข สีสันของผ้าใบเป็นสิ่งสะท้อนความสุขออกมา เพราะญานน์เขาเป็นช่างภาพ จึงมองโลกว่าเป็นสิ่งสวยงาม ต่างจากมุมมองของคนทั่วไป" นันทขว้างแจง และบอกว่า หลังจากดูภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงรับรู้ได้ว่า ขณะนี้โลกของเราแย่มากแล้วจริงๆ แต่ก็นับว่าประเทศไทยยังโชคดีมากที่ยังไม่ต้องประสบกับภัยพิบัติรุนแรงเหมือนที่เกิดในหลายประเทศ
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังยังบอกอีกว่า หนังของญานน์มีความลงตัวทั้งภาพและเสียง ขณะที่หนังสารคดีหลายเรื่องมีข้อบกพร่องในเรื่องของการบันทึกเสียงและดนตรีประกอบ หลายเรื่องหดหู่ แต่ใช้เพลงทำนองแบบเดียวกับของทาทา ยัง อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากไม่ใช่ญานน์ แต่เป็นคนอื่นที่สร้างหนังเรื่องนี้ เขาอาจใช้ดนตรีประกอบมากกว่านี้ เพื่อทำให้มีความเป็นดรามามากขึ้น และทำให้คนดูตื่นเต้น แต่นั่นก็จะทำให้ความจริงและความน่าเชื่อถือลดน้อยลงไปทันที
ด้านอภิชนา หรือหนูเล็ก บอกว่า ภาพยนตร์ของญานน์ดีทั้งเทคนิคและเนื้อหา เมื่อถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของศิลปินจึงได้ภาพที่สวยงามมาก และการที่เขาถ่ายภาพทางอากาศมากว่า 20 ปี ทำให้ญานน์มีมุมมองที่กว้างอย่างไม่มีขอบเขต และคงไม่มีใครได้เห็นโลกมากมายเท่าเขาอีกแล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะเห็นเพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา แต่ญานน์เขามองเห็นว่ามนุษย์ก็เหมือนสัตว์อื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก แต่กลับชอบทำเหมือนว่าตัวเองเป็นเจ้าของโลกใบนี้แต่เพียงผู้เดียว
"ภาพนิ่งอาจบอกอะไรแก่ผู้ชมได้ไม่มาก แต่หนังสารคดีจะทำให้เห็นว่าระหว่างนั้นเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ไม่ใช่ใครจะขึ้นไปถ่ายทำก็ได้ แต่เขามีพรสวรรค์ทางด้านนี้จริง เป็นหนังที่สื่อถึงมุมมองของเขาที่มีต่อโลก ญานน์เป็นช่างภาพ จึงให้มุมมองแบบศิลปะ มองว่าโลกสวยงาม ให้อะไรกับมนุษย์มาแล้วตั้งมากมาย ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสัตว์ที่มีต่อโลก" หนูเล็กเล่า
"แม้จะสะท้อนให้เห็นว่า โลกในขณะนี้ย่ำแย่มากเกินไปแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ดีๆ เหลืออยู่บ้าง ยังพอมีวิธีแก้ไข ซึ่งยังไม่สายเกินไปที่มนุษย์จะกลับใจในตอนนี้ และในหนังก็ตอบโจทย์ให้แล้วว่าวิธีแก้ไขคือ ความพอเพียงของมนุษย์ ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง ของอัล กอร์ นำเสนอผ่านมุมมองของคนเป็นผู้นำ หรือพ่อของลูก โดยการให้ข้อมูลที่ดีที่สุดเพื่อให้เห็นว่าผลกระทบรุนแรงมากแค่ไหน หรือให้เห็นมุมมองในด้านความโหดร้ายรุนแรงนั่นเอง" หนูเล็ก กล่าว
ส่วน ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี กล่าวว่า การที่ได้ดูภาพยนตร์ของญานน์ ทำให้รู้สึกว่า เหมือนได้เห็นของจริง ในมุมมองที่แตกต่างของการทำลายล้างธรรมชาติ ซึ่งเขาได้เห็นอะไรในโลกมากมาย และนำสิ่งที่เห็นมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นจริงได้อย่างลงตัว
"การถ่ายภาพในมุมกว้างของญานน์ ทำให้เห็นว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งที่เขาเห็น และเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายโลกใบนี้ด้วย แล้วพวกเราจะแก้ไขกันอย่างไร หากเปรียบเทียบกับเรื่อง โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง เรื่องนั้น อัล กอร์ เขานำเสนอให้เห็นถึงความโหดร้าย ทารุน ของธรรมชาติ ขณะที่ญานน์พยายามแสดงให้เห็นถึงสิ่งดีๆ ในธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ และรอการปกป้องจากพวกเรา" ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี แสดงความเห็น.