อ้างพันธสัญญาเก่าแก้ไขไม่ได้ “ประวิทย์” ไม่สนช่อง 3 จ่ายค่าสัมปทานไม่เป็นธรรมกับ อสมท พูดง่ายๆ เป็นเรื่องการมองต่างมุม ก่อนไปเรื่อย บอกถ้าที่ผ่านมาตนขาดทุนจะมีใครมาพูดเรื่องนี้หรือไม่
กำลังถูกสังคมจับตาดูไม่ห่างทีเดียว สำหรับกรณีการขอต่อสัญญาของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับสัมปทานช่อง 3 กับทางบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แทนสัญญาเดิมที่กำลังจะหมดลงในปีหน้า (2553) ออกไปเป็นระยะเวลา 10 ปี ด้วยวงเงิน 2,002 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากแล้วในรายละเอียดต่างๆ นั้น ยังแสดงให้เห็นว่า ทาง อสมท เองค่อนข้างเสียเปรียบ บีอีซีเวิลด์ เป็นอย่างมาก
รวมทั้งยังเป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาเจ้าอื่น อาทิ ทรูวิชั่นส์ หรือแม้กระทั่งช่อง 7 เองที่จ่ายค่าสัมปทานในอัตราที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกสังคมจับตาทว่าทางฟากของบีอีซี เองก็ดูจะไม่สนใจสักเท่าไหร่ โดยพยายามอ้างถึงสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2532 สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นฉบับแก้ไขครั้งที่ 3 (สัญญาฉบับแรกทำเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2521 ต่อมาได้มีการแก้ไขอีก 3 ครั้งในปี 2525 ปี 2530 และปี 2532) และมีผลผูกพันไปจนถึง ปี พ.ศ.2563
“เรื่องนี้จริงๆ ผมเองก็คงห้ามไม่ได้ที่เขาจะคิดว่าสัญญามันไม่เป็นธรรมกับเขา เพราะเรามองกัน ณ จุดของเวลาที่ต่างกัน มันต่างวาระกัน คือ อสมท ตอนที่เขาเข้าตลาดเขาก็ต้องแจ้งเปิดเผยว่า มีข้อผูกพันอะไรในหนังสือชี้ชวนตอนที่เขาเข้าตลาดเองเขาก็ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ว่ามีข้อพันธะกับเราไปถึงปี 63 เขาจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่”
“มันมีอยู่ในหนังสือชี้ชวนเรียบร้อยแล้ว อันนี้ยิ่งเป็นการยืนยันกับนักลงทุนเลยว่า สัญญาเป็นแบบนี้สุดท้ายก็คงอยู่ที่การเจรจากันก็ไม่รู้ว่าทาง อสมท. จะเรียกเราไปเมื่อไหร่”...นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท บีอีซี เวิลด์ ชี้แจงกับผู้สื่อข่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทางช่อง 3 เองจะไม่ขอแก้ไขสัญญาที่ยื่นไปอย่างแน่นอน
โดยเจ้าตัวยอมรับว่าถึงตอนนี้ตนยังไม่ได้รับการติดต่อ หรือว่ามีหนังสือตอบรับเกี่ยวกับการขอต่อสัญญาจากทาง อสมท แต่อย่างใด
“คือตอนนี้ต้องมองเฉพาะประเด็นที่ว่าการต่อสัญญา 10 ปี เราผิดสัญญาหรือเปล่า ค่าตอบแทนจริงๆ แล้วเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า มันคือข้อกำหนดเดิมจริงๆ ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ ต้องดูอย่างนี้ด้วยว่า อันนี้เป็นเรื่องของการที่รัฐได้ให้คำมั่นกับเราไว้ คือถ้ารัฐมาเปลี่ยนใจมาทบทวนอย่างนี้ทุกครั้ง ต่อไปจะมีใครเชื่อถือรัฐได้บ้าง ตรงส่วนนี้เองมันก็เป็นคำมั่นที่ทางรัฐให้เราไว้”
“แต่ถ้าจะบอกว่า ทรูวิชั่นส์ มีการเปลี่ยนแปลงได้ นั่นมันก็คนละอย่างกัน เงื่อนไขสัญญาของเขาก็เขียนคนละอย่างกับเรา เอาไปเทียบเคียงกันไม่ได้ มันเหมือนเอาทุเรียนไปเปรียบเทียบกับผลไม้อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน เปรียบเทียบกันไม่ได้ ประเด็นก็คือว่าตอนนี้เราเชื่อว่าเราไม่ได้ผิดสัญญา เพราะดูแล้ว อสมท ต้องต่อให้เรา แล้วค่าตอบแทนก็ได้กำหนดกันไว้แล้วไม่น่าจะแก้ไขได้”
แม้ผลการศึกษาจะชี้ออกมาว่าการตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมานั้น ทาง อสมท จะเสียเปรียบทางช่อง 3 มาโดยตลอด ทว่าทางฟากของหัวเรือใหญ่ของบีอีซีกลับมองว่าเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลแล้ว
“อาจจะมีการเข้าใจกันคนละอย่าง เพราะฉะนั้นต้องมีการคุยกันสักงวดหนึ่งก่อน มองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องไปว่าด้วยเหตุผลกัน เราก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะมาคุยกับเราเรื่องอะไร ให้เขาเรียกมาก่อนแล้วกัน เราเองก็รออยู่ คือ ยังไม่ได้มีการกำหนดวันเจรจาแต่คิดว่าคงจะเป็นเร็วๆ นี้ เพราะว่ามันผ่านมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ พ.ย.(2551) นี่ก็ 7 เดือนเข้าไปแล้ว”
“โดยส่วนตัวเราเองก็ว้าวุ่นใจ คือ มันมองกันต่างวาระไง ผมถึงบอกว่าจะไปมองว่าค่าตอบแทนไม่เป็นธรรมไม่ได้ เพราะจุดใหญ่ใจความคือการที่เราลงทุนขยายเครือข่ายในการต่อสัญญาช่วงแรก เมื่อก่อนนี้เรามีเฉพาะ กรุงเทพฯ เท่านั้นเอง อสมท อยากจะขยายโอกาสให้ผู้ชมทั่วประเทศได้มีโอกาสได้รับชมทั่วถึงกัน
“ก็เลยดำริว่าจะขยายเครือข่าย เขาก็ชวนเราไปลงทุนให้เขา ถ้าจะมองจริงๆ แล้วมันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจให้ทั้งทาง อสมท และเราเองด้วย อันนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญกว่า ซึ่งโครงการขยายเครือข่ายเราก็ต่อยอดลงทุนเพิ่มไปอีก 1,200 ล้าน ไม่รวบค่าตอบแทน”
“ส่วนถ้าจะต่ออีก 10 ปีนี่เราต้องปรับปรุงเครื่องมือ ซึ่งเราเสนอไปแล้ว ก็ถือเป็นเงินลงทุนอีกก้อนที่เราต้องลงทุนเพิ่ม ผมถึงบอกว่าสัญญาจุดใหญ่ใจความคือตอนที่เราขยายเครือข่ายให้มันเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับทาง อสมท แล้วเราเองก็ได้โอกาสเช่นกัน”
เผยหากมีการเปลี่ยนแปลงต้องวุ่นวายแน่นอน ก่อนบอกในทำนองประชดถ้าที่ผ่ามาตนเองขาดทุนจะมีใครมาพูดเรื่องขอแก้สัญญาอะไรหรือไม่?
“ยังไม่ได้คุยกันพูดไม่ได้ เอาไว้ให้เขาเรียกมาก่อน ในความรู้สึกของผมเราเองก็ให้คำมั่นกับนักลงทุน มันเป็นข้อผูกพันที่ผูกกันไว้แล้ว แล้วอยู่ดีจะมาเปลี่ยนมันก็คงจะกระทบไปหมด มันจะหาความแน่นอนไม่ได้ ผมว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะจบกันถึงขั้นขึ้นศาลหรอก น่าจะคุยกันได้ คือเราเองก็เข้าใจกันมาอย่างนี้ตลอด”
“คือ เราอยากขอความเป็นธรรมครับว่า ตอนนี้เรากำลังทำงานมาได้ด้วยดีก็จะมาขอแก้ไข แล้วถ้าสมมติว่าที่ผ่านมาผมเกิดทำแล้วไม่ดี ผมขาดทุนถามว่าใครมาเห็นใจ แก้ไขให้ผมหรือเปล่า มันต้องมองกลับกันครับ ช่วง 20 ปีแรกที่เราทำเราอยู่ในภาวะที่ขาดทุนก็ไม่เห็นมีใครมาช่วยเรา”
“ช่วง 20 ปีแรกของเราขาดทุนเยอะมาก โดยเฉพาะใน 10 ปีแรกเลยถึงบอกว่ามันมองกันคนละจุด ผมแค่ยกตัวอย่างว่าผมโชคร้าย ผมไม่ประสบความสำเร็จ แล้วถ้าเกิดผมยังขาดทุนประเด็นนี้จะเกิดไหม มีใครจะมาพิจารณาให้ผมไหมว่าไม่เป็นธรรมกับทางผม จะแก้สัญญาให้ผม แก้ค่าตอบแทน”
พร้อมออกปากยอมรับปัจจุบันสื่อทีวีมีการแข่งขันกันสูงและรุนแรงมาก ซึ่งทำให้ส่วนแบ่งการตลาดต่างๆ ต้องถูกแบ่งออกไป...“ผมว่าเดี๋ยวนี้การแข่งขันมันรุนแรงขึ้นทุกวัน คือ เฉพาะฟรีทีวีเองก็รุนแรงขึ้น อย่างข่าวนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำง่ายๆ กันต่อไปแล้ว แต่ละช่วงเวลาที่เราเปิดมาก็มีคู่แข่ง ทุกช่องก็ลงมาแข่งขันกับเรา คงไม่ง่ายต่อไปแล้วครับ”
“ของเราส่วนแบ่งน่าจะถูกแชร์ไป ค่าใช้จ่ายเองเราก็คงจะต้องมีสูงขึ้น ตอนนี้ถามว่าเราเป็นลีดเดอร์ในการนำเสนอข่าวไหม มันก็ไม่เชิง เพราะทุกช่องเขาก็ได้ส่วนแบ่งไปเหมือนกันจะไปมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขัน ยิ่งปัจจุบันสื่อใหม่ก็จะเป็นอะไรที่มาคุกคามเราอีก”
“เพราะจากเมื่อก่อนไม่เคยได้โฆษณาตอนนี้เขาก็มีสิทธิ์ได้โฆษณาแล้ว ยังไงก็คงต้องมีผลกระทบต่อฟรีทีวีแน่นอน มันจะกระทบมากกว่าถ้าเปรียบเทียบกับวิทยุก็ยังเป็น 500 สถานี แต่ว่าพวกที่เป็นสื่อใหม่ๆ อย่างพวกเคเบิลท้องถิ่น มันมีเป็นพัน แล้วอีกหน่อยก็สามารถลงโฆษณาได้ด้วย โดยส่วนตัวแล้วเราเองก็คงจะมองเรื่องของเนื้อหาที่นำเสนอมากกว่า”
“ทางเราเองก็มีความคิดจะขยายช่องทางไปสู่เคเบิลเหมือนกัน จริงๆ แล้วมันก็มีอยู่ในหนังสือชี้ชวนแล้วว่าเราจะขยายอะไรไปบ้าง แต่เผอิญเราเสียเวลาไป 12 ปี ตั้งแต่ปี 2540 คือ เรารอองค์กรที่จะให้คลื่นความถี่ให้ใบอนุญาต คือถ้าไม่มีใบอนุญาตเราเองก็ทำไม่ได้ ถ้าทำก็อาจจะกลายเป็นเราไปกระทบสัญญาใหญ่นี่เราจะเสียหายเยอะไง”
“ก็เลยต้องรอไปก่อน เราถึงได้อยู่เฉยๆ คือ เขาอนุญาตไม่ได้แล้วต้องเป็นองค์กรใหม่ที่มาดูแล แต่ตัวเขาอนุญาตให้เราไม่ได้ คือ ต่อไปนี้เราก็คงต้องไปติดต่อกับทาง กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) ต้องรอดูปีหน้าว่ามันจะเกิดอะไร ปีหน้าก็อาจจะได้เกิด”
“คือ มันจะต่างกันที่ตรงนี้ค่าตอบแทนมันจะต่ำแล้วเขาก็จะให้เราไปสร้างความเข้มแข็งกันเอง”
...
[เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 5)แฉลูกเล่นบีอีซีใช้อุปกรณ์-เช่าที่ดิน]
- [เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 4)รายได้ก้าวกระโดดแต่จ่ายคงที่]
- [เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 3)บีอีซีหัวใสปรับโครงสร้างถือหุ้น]
- [เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 2)แผนลดทอนอำนาจ “อสมท”]
- [เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 (ตอนที่ 1)“สิทธิประโยชน์ อสมท ลดลง”]
- เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 “บีอีซีเวิลด์” ขี่คอ “อสมท"
- บอร์ดฯ ตีกรอบถกช่อง 3 ลุยสอบสัญญา-เพิ่มค่าต๋ง
- จี้ปลดแอกสัญญาช่อง 3 บอร์ด อสมท ลั่นเพิ่มค่าต๋ง
- ไอ้โม่งบีบบอร์ด“อสมท" เลิกรื้อสัญญาช่อง 3
- ฮุบ “ช่อง 3” สิบปี จ่ายแค่หลักพันล้าน “อสมท” ตั้ง กก.ศึกษาสัญญา
- ช่อง 3 เล่นแง่เลี่ยง พ.ร.บ. ''อสมท''ตั้ง กก.ทำตามกฎ
- แฉกลเกมช่อง 3 สูบรายได้ อสมท เสียค่าโง่กว่าหมื่นล้าน-ส่อผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน