ใครจะเชื่อว่าของใหญ่ๆ อย่าง "ปิรามิด" ที่เคยค้นพบไปแล้วเมื่อ 200 กว่าปีก่อน กลับสูญหายไปจากแผนที่ และกลับมาเป็นที่จดจำได้อีกครั้ง เมื่อนักโบราณคดีอียิปต์ค้นพบปิรามิดอายุร่วม 4 พันปีนี้ ฝังอยู่ในผืนทราย
สำนักข่าวเอพีและเนชันแนลจีโอกราฟิก รายงานการค้นพบปิรามิดที่หายไป โดยระบุข้อมูลจาก ดร.ซาไฮ ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) เลขาธิการสภาโบราณสถานแห่งอียิปต์ (Egypt's Supreme Council of Antiquities) และนักสำรวจในพื้นที่ของสมาคมเนชันแนลจีโอกราฟิก (National Geographic Society)
ปิรามิดที่ค้นพบอีกครั้งนี้ สร้างขึ้นโดยฟาโรห์เมนคาฮอร์ (King Menkauhor) ซึ่งครองราชย์ได้เพียง 8 ปี ในช่วงกลางของยุค 2,400 ก่อนคริสตศักราช
ปิรามิดดังกล่าวเคยเป็นที่รู้จักในนาม "หมายเลข 29" (No.29) หรือ "ปิรามิดไร้หัว" (Headless Pyramid) ตามคำเรียกขานของ คาร์ล ริชาร์ด เลปซิอุส (Karl Richard Lepsius) นักโบราณคดีเยอรมัน ซึ่งตั้งชื่อนี้ขึ้น เมื่อปี 2385 เนื่องจากสัณฐานของสิ่งก่อสร้างที่เหลือเพียงฐาน แต่ต่อมาทะเลทรายค่อยๆ กลบโบราณสถานที่เขาค้นพบ จนหายไป จากนั้นก็ไม่มีใครได้พบปิรามิดแห่งนี้อีกเลย
"หลังการค้นพบของเลปซิอุส ตำแหน่งของปิรามิดก็ได้หายไป โครงสร้างของปิรามิดไม่เคยเป็นที่รับรู้ สถานที่แห่งนี้ถูกผู้คนลืม จนกระทั่งเราเริ่มต้นค้นหาในพื้นที่นี้ซึ่งเป็นสันทรายที่อาจจะสูงถึง 7.6 เมตร เราได้เติมเต็มช่องว่างของปิรามิดที่หายไป" ฮาวาสส์กล่าวกับผู้สื่อข่าวซึ่งร่วมเดินทางไปสำรวจพื้นค้นพบในเมืองซัคคาราของอียิปต์
ทั้งนี้เมืองซัคคารา เป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีฝังพระศพของคณะผู้ปกครองแห่งเมืองเมมฟิส (Memphis) เมืองหลวงของอาณาจักรอียิปต์โบราณ และอยู่ห่างไปทางตอนใต้ของกรุงไคโรเมืองหลวงปัจจุบันของอียิปต์ประมาณ 20 กิโลเมตร
ไม่มีอะไรในปิรามิดแห่งนี้ ที่บ่งบอกถึงฟาโรห์ผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้นนักโบราณคดีแห่งอียิปต์จึงต้องนำร่องรอยหลายๆ ชิ้นมารวมกันเพื่อที่จะจำแนกปิรามิดแห่งนี้ นักโบราณคดีรุ่นก่อนมีความขัดแย้งในเรื่องระบุอายุของปิรามิด ซึ่งโดยปกติก็จะจัดให้ปิรามิดอยู่ใน "อาณาจักรยุคเก่า" (Old Kingdom) ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่าง 2,575-2,150 ปีก่อนคริสตศักราชและ "อาณาจักรยุคกลาง" (Middle Kingdom) ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่าง 1,975-1,640 ปีก่อนคริสตศักราช
หากแต่การค้นพบล่าสุดประเมินว่า ปิรามิดแห่งนี้ขาดลักษณะที่เป็นลวดลายเขาวงกต อันเป็นสัญลักษณ์ของวิหารในยุคกลาง นอกจากนี้ตามคำอธิบายของฮาวาสส์ที่เนชันแนลจีโอกราฟิกรายงานไว้ระบุว่านอกจากไม่มีงานศิลปะและร่องรอยจารึกดังกลาวแล้ว โครงสร้างของปิรามิดยังใช้หินแกรนิตแดงซึ่งเป็นลักษณะของปิรามิดในอาณาจักรยุคเก่าด้วย ภายในห้องโถงที่อยู่ใต้ดินยังมีฝาปิดโลงพระศพที่ทำขึ้นจากหินแกรนิตสีเทาซึ่งเป็นประเภทของหินที่นิยมใช้ในอาณาจักรยุคเก่า
อีกทั้งปิรามิดที่พบใหม่นี้ยังคล้ายคลึงกับปิรามิดที่อยู่ถัดไปซึ่งเป็นของ "เตติ" (Teti) ฟาโรห์องค์แรกในราชวงศ์ลำดับที่ 6 ของอียิปต์ที่คาดว่าปกครองอยู่ในช่วงปี 2345-2181 ก่อนคริสศักราช ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งว่าปิรามิดที่เพิ่งค้นพบอีกครั้งนี้มาจากราชวงศ์ลำดับที่ 5 ของอียิปต์ นอกจากนี้ปิรามิดข้างเคียงยังบ่งชี้ว่าปิรามิดแห่งนี้เป็นของฟาโรห์เมนคาฮอร์แม้ยังไม่มีการค้นพบสุสานของพระองค์
"มีปิรามิดของฟาโรห์มากมายที่ยังค้นไม่พบและปิรามิดแห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น" ฮาวาสส์กล่าว
นักโบราณคดียังประกาศอีกว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นเส้นทางใหม่ของถนนบูชาเทพพระเจ้า (sacred road) ซึ่งอยู่ในยุคปโตเลเมอิก (Ptolemaic period) ที่มีอายุราว 2000 ปีหลังยุคอาณาจักรเก่า การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองซัคคาราด้วย
"ตลอดประวัติศาสตร์ทั้งหมดของอียิปต์ เมมฟิสและซัคคารามีความสำคัญอย่างยิ่ง ผมค้นสุสานในยุคราชวงศ์ลำดับที่ 26 ที่ซัคคาราซึ่งใช้สุสานของราชวงศ์ลำดับที่ 19 สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่บูชาพระเจ้า ดังนั้นบุคคลสำคัญๆ จึงอยากให้มีพิธีฝังศพของตัวเองที่นี่" คำอธิบายของโอลา เอล เอกุยซี (Ola El Aguizy) ศาสตราจารย์ทางด้านภาษาอียิปต์โบราณจากมหาวิทยาลัยไคโร (Cairo University)
นักโบราณคดีหวังว่า เส้นทางนี้จะนำไปสู่การนำการค้นพบที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนย้ายผู้ใช้แรงงานที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงกับสุสานของฟาโรห์เมนคาฮอร์เพื่อที่จะได้ขยายไปสู่การค้นหาวิหารได้มากขึ้น
"เมื่อผมพูดว่าเราได้คนพบอนุสรณ์สถานของอียิปต์ราว 30% แล้ว ผมยึดเอาพื้นที่ซัคคาราเป็นตัวอย่างแรก ซัคคาราเป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ ซึ่งมีความสำคัญสำหรับเรามากที่จะขุดค้นหาโบราณสถานเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับปิรามิดของอาณาจักรเก่า" ฮาวาสส์กล่าว.