xs
xsm
sm
md
lg

ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

การเมืองไทยถอยหลังกลับไปสู่ยุค 50 ปีก่อนอีกแล้ว สังเกตได้จากการย้อนกลับไปถกเถียงกันเรื่องกติกาการปกครองประเทศ แต่คราวนี้ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม เพราะเป็นการไม่ยอมรับกติกาที่ทำให้พรรคเสียประโยชน์ ที่น่าสังเกตก็คือการหาเหตุผลมาคัดง้างกันไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะมีการออกมาพูดหน้าตาเฉยว่า เพราะจะมีการยุบพรรคก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

เรื่องที่สองก็คือ การกลับไปโจมตีเรื่องส่วนตัว และหาเรื่องแบล็กเมล์กัน เพราะมีนักการเมืองน้ำเน่าซึ่งมีลีลาแบบนี้เข้ามามีบทบาทอยู่สองคน

เรื่องที่สามคือ การโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่จริงผมก็เคยถวายฎีกาไม่เห็นด้วยกับท่าน แต่ในเวลานั้นท่านเป็นนายกฯ ไม่ใช่เป็นประธานองคมนตรี ปรากฏการณ์นี้ส่อแววของการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ใช่พวกมาร์กซิสต์แต่เป็นพวกรีปับลิกัน คือผู้ต้องการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐ

การแก้รัฐธรรมนูญนั้น หากสำเร็จก็มีปัญหา ไม่สำเร็จก็มีปัญหาทำให้การเมืองไทยอยู่ในสภาวะไม่แน่นอน และไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ยังช่วยให้ประเทศไทยอยู่ได้ก็คือสถาบันทางสังคม แม้กระนั้นสถาบันทางสังคมก็ดูจะมีปัญหาในระยะยาว เพราะคนรุ่นหนุ่ม-สาวมีค่านิยมที่ชอบวัตถุ และบูชาเงินยกย่องคนมีเงินโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและจริยธรรม

ผมเองติดตามการเมืองมานานจนล่วงเข้าวัยชราแล้ว นับวันก็จะมีประเด็นการเมืองให้ขบคิดและเขียนน้อยลง มีแต่ความซ้ำซาก ไม่แลเห็นอนาคต ต่างกับเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่ดี บางทีอาจเป็นเพราะปัจจัยด้านอายุขัยของนักการเมืองหน้าเก่า และความล่าช้าในการเติบโตของนักการเมืองรุ่นใหม่ก็เป็นได้ ที่จริงพ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่ แต่น่าเสียดายที่แนวทางการดำเนินการทางการเมืองเป็นแบบธุรกิจผูกขาดมากจนเกินไป

ผมเห็นว่า การเมืองไทยจะติดกับปัญหาทักษิณไปอีกนาน และน่าจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกมากขึ้น ประเด็นการเมืองที่น่าสนใจในระดับชาติไม่มีเลย มีแต่เรื่องส่วนตัวโดยไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงได้อย่างไร เป็นไปได้ว่า การเมืองไทยอาจหวนกลับไปเป็นแบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อีก โดยฝ่ายนักการเมืองจะมีโอกาสเข้าร่วมกับข้าราชการและทหาร ไม่ใช่มีอำนาจเต็มที่เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากมีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้น ผมคาดว่าเราจะกลับไปสู่ยุค 30 ปีก่อน คืออำนาจจะไม่ตกอยู่ในมือฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายทหารอย่างเด็ดขาด แต่จะมีการใช้อำนาจร่วมกัน

เหตุที่ผมคิดเช่นนี้ก็เพราะการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายข้าราชการ หรือการแสวงหาประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียกร้องผลประโยชน์และการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องในวงแคบ ที่ปรากฏในคดีต่างๆ ที่ คตส.กำลังพิจารณาอยู่ แม้ปัจจัยภายนอกจะไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารก็ตาม แต่สูตร “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่ให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลทั้งหมด กล่าวคือเปิดช่องในรัฐธรรมนูญให้บุคคลที่ไม่ใช่ ส.ส.และไม่สังกัดพรรคการเมืองเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ ก็น่าจะทำให้กระแสการต่อต้านของชาติตะวันตกลดน้อยลง

ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ เป็นกึ่งกลางระหว่างระบอบที่พรรคการเมืองพรรคเดียวมีอำนาจเด็ดขาดกับระบอบเผด็จการทหาร ประเทศไทยเคยมีระบอบนี้ในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าในที่สุด ระบอบนี้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเราก็เป็นได้

ความแตกต่างของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบคราวนี้ก็คือ แทนที่ตัวนายกรัฐมนตรีจะมาจากข้าราชการหรือทหาร ก็มาจากฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการและทหาร รวมทั้งฝ่ายประชาชน (องค์กรอาสาสมัคร) ก็เข้าร่วมอยู่ในคณะรัฐบาล โดยคนเหล่านี้ต้องไม่สังกัดพรรค วิธีการนี้น่าจะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นได้ เพราะแม้ฝ่ายข้าราชการ-ทหาร-องค์กรประชาชนจะมิใช่แหล่งอำนาจทางการเมืองโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแหล่งอำนาจที่มีอยู่จริงในสังคม และมีอิทธิพลทางการเมือง

ควบคู่ไปกับการจัดระเบียบการเมืองใหม่ เราก็ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาพลเมืองโดยตรงผ่านทั้งสื่อ และการศึกษาตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงโรงงาน

ระบอบกึ่งประชาธิปไตยนี้เคยมีมาแล้วในสมัย พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ในยุคนั้นการหาผลประโยชน์มีน้อยมาก กฎหมายและโครงการดีๆ เกิดขึ้นมากมาย และนักการเมือง ผู้แทนราษฎรก็มีบทบาท ตัวถ่วงดุลไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเพื่อพรรคหรือพวกพ้อง ก็คือรัฐมนตรีและที่ปรึกษาที่เป็นข้าราชการ และนักวิชาการ

ท่ามกลางความขัดแย้งและความไม่แน่นอนของการเมืองไทยในปัจจุบัน ใครจะคาดว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบอาจเป็นทางเลือก และคำตอบสุดท้ายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น