xs
xsm
sm
md
lg

ระบอบพรรคเดียวกับผู้นำมวลชน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

อาจารย์ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ เพิ่งเขียนเรื่องการติดต่อระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคพลังประชาชนว่า ข่าวนี้คนไม่ค่อยให้ความเข้าใจ ที่จริงพรรคไทยรักไทยก็เคยมีการติดต่อกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาก่อนแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงกับเชิญนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ไปบรรยายให้ฟัง ส่วนฝ่ายจีนก็ได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้ง และการทำแนวร่วม

พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ผ่านการต่อสู้มานานหลายปีกว่าจะขึ้นสู่อำนาจ ดังนั้นภาวะผู้นำจึงไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ อย่างกะทันหัน หากผ่านการทดสอบแสดงฝีมือของแกนนำที่จะต้องได้รับการยอมรับจากแกนนำด้วยกันเอง และสมาชิกพรรค ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปสอง-สามรุ่นแล้ว บางเวลาก็มีความขัดแย้งภายใน เป็นการต่อสู้ระหว่างแนวทางการดำเนินนโยบาย แต่หลังยุคเติ้งเสี่ยวผิงแล้ว ปัญหาเรื่องแนวทางการเมืองและเศรษฐกิจก็หมดไป

ตอนที่ผมไปจีนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เวลามีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พวกเรามักจะได้รับคำถามเกี่ยวกับเคล็ดลับของความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่ทำให้ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และไทย มี ต่อมาเมื่อจีนหันมาเปิดเสรี และเดินนโยบายเศรษฐกิจที่ปล่อยให้กลไกการตลาดทำงานมากขึ้น จีนก็มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเกินร้อยละ 10 อย่างต่อเนื่องกัน แสดงว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้วิธีการเมืองการปกครองแบบรวมศูนย์ แต่ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

สูตรเผด็จการทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนี้ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมาแล้ว ไทยเราเองสมัยที่ยังมี “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ก็มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเช่นกัน เมื่อยี่สิบปีก่อนนักวิชาการให้ความสนใจในประเด็นนี้มาก คล้ายๆ จะเป็นการให้การยอมรับระบอบเผด็จการ และกึ่งประชาธิปไตย

ประเด็นสำคัญที่เราน่าจะคำนึงถึงก็คือ ประเทศไทยจะเข้าสู่ระบอบพรรคการเมืองพรรคเดียวได้หรือไม่ อนาคตการเมืองไทยในระบอบพรรคเดียวจะเป็นอย่างไร

ระบอบพรรคการเมืองพรรคเดียวเกิดขึ้นได้สองทางคือ ทางที่เกิดพรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคนาซีกับการที่พรรคการเมืองหนึ่งๆ ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นผ่านระบอบประชาธิปไตย ด้วยกระบวนการเลือกตั้ง ใกล้ๆ บ้านเราก็มีสิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น มาเลเซียนั้นยังมีรายละเอียดต่างไปจากสิงคโปร์ตรงที่พรรคอัมโนเป็นแนวร่วมของพรรคพันธมิตรมาก่อน และยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค จนในขณะนี้มีแนวโน้มว่ากลุ่มของนายอันวาร์ อิบราฮิม และพรรคฝ่านค้านจะมีเสียงมากขึ้น และอีกไม่นานมาเลเซียคงจะมีระบบสองพรรค ในขณะที่พรรค PAP ของสิงคโปร์ยังคงรักษาความเป็นพรรคเดียวไว้ได้

ปัญหาสำคัญของการเมืองไทยก็คือ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากๆ อาศัยการซื้อเสียงช่วยด้วย ดังนั้นความนิยมจึงมาจากการให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปต่างๆ ความขัดแย้งแบ่งเป็นฝักฝ่ายในสังคมจึงเกิดขึ้น เพราะยังมีกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ มีความสำนึกทางการเมืองสูงเคลื่อนไหวอยู่ในสังคมอีก

กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สะท้อนให้เห็นถึงพลังการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่พยายามอาศัยอำนาจรัฐดำเนินการต่างๆ ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ มักเป็นคนในเขตเทศบาลของจังหวัดต่างๆ

พรรคพลังประชาชนคงได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดตั้ง และการทำแนวร่วมจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน เวลานี้เป็นเรื่องธรรมดาเพราะการมีความสัมพันธ์กับจีนกลับเป็นเรื่องปกติ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว ในอดีตจีนซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อาศัยพรรคนี้เป็นการต่อสู้เพื่อต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา เมื่อหมดสงครามเย็น อเมริกากับจีนเป็นมิตรกัน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ยุติบทบาทลง แต่ก็เคยมีการปรึกษาหารือกันว่า แล้วบรรดาผู้ที่เคยอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จะมีบทบาททางการเมืองอย่างไร คำชี้นำก็คือในสถานการณ์ใหม่ ผู้ปฏิบัติงานของพรรคควรเข้าร่วมกับพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และควรมีบทบาทในการจัดตั้งพรรคเป็นด้านหลัก แนวทางอีกแนวทางหนึ่งก็คือ พยายามลดอิทธิพลของสถาบันทางสังคมที่เก่าแก่ให้คงเหลือแค่เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น

แนวทางนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างกว้างขวาง และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่รัฐประหาร ปัจจุบันผู้เคลื่อนไหวในพรรคไทยรักไทยหลายคนเริ่มลดบทบาทลง และการตัดสินใจนำนายสมัคร สุนทรเวช มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และเป็นนายกรัฐมนตรีก็เพื่อลบภาพลักษณ์ของการเดินแนวทางซ้ายจัดจนเกินไป แต่ในอนาคตอีกยี่สิบปีข้างหน้า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสถาบันหลักของไทย การนำแนวทางซ้ายทางการเมืองคือ การใช้เผด็จการทางการเมือง และเสรีทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาอีก เมื่อนั้นระบอบพรรคการเมืองก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูป และผู้นำพรรคเดียวก็จะกลายเป็นผู้นำมวลชน เมื่อนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะมีบทบาทเป็นเพียงสัญลักษณ์และประกอบแต่พิธีกรรมเท่านั้น

การติดต่อระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงเป็นการเตรียมการที่จะต้องรอคอยจังหวะ และโอกาสซึ่งน่าจะไม่นานเกินรอ และเมื่อนั้นสังคมไทยก็จะเข้าสู่ระบอบใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น