xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำมวลชน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ผู้นำมวลชน (mass leader) หมายถึงผู้นำที่มีบารมี มีอิทธิพลทางสังคมและการเมือง พอที่จะได้รับความนิยม ความสนับสนุนจากประชาชนซึ่งเป็นแรงศรัทธา ไม่ใช่เป็นเพราะมีอำนาจทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

ผู้นำมวลชนมักจะเกิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความต่อเนื่องยาวนาน เช่น การต่อสู้เพื่อเอกราช การต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเสรีภาพ เป็นต้น วีรบุรุษในการเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมในหลายประเทศของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นคานธี โฮจิมินห์ อองซาน ซูจี ล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำมวลชนทั้งสิ้น

ในประเทศไทย เราไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ผู้นำมวลชนจึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้น จนกระทั่งพระมหากษัตริย์ได้เข้าถึงประชาชน ตลอดเวลาแห่งการครองราชย์ การได้รับความจงรักภักดีอย่างท่วมท้นเกิดจากการประกอบพระราชภารกิจกับพระบารมี ในวันที่ประชาชนนับล้านคนมาเข้าเฝ้าฯ บนลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นเครื่องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้นำมวลชนในความหมายข้างต้น

ในทางการเมือง ความเป็นผู้นำทางการเมืองเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีนักการเมืองน้อยคนที่ตั้งใจสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำมวลชน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักการเมืองคนแรก และได้อาศัยการจัดการสมัยใหม่ในการสร้างบทบาทและภาพลักษณ์นี้

โดยบุคลิกภาพแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้า สามารถสื่อความคิดได้ดี รู้จักใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านการพูดกับประชาชนโดยตรง ทำนองเล่าเรื่องที่ฟังง่ายเข้าใจง่าย แต่ที่สำคัญก็คือการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย โดยแยกออกเป็นกลุ่มประชาชนรากหญ้ากับกลุ่มชนชั้นกลาง และกลุ่มคนหนุ่มสาว

ตลอดระยะเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้นำทางการเมืองได้มีความพยายามที่จะสร้างฐานสนับสนุนอย่างกว้างขวาง มีการลงพื้นที่พบปะกับประชาชน วิธีการนี้ได้ผลอย่างมากเพราะเป็นการต่อรองให้ผลประโยชน์ทางงบประมาณโดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยราชการหรือ ส.ส.การพบปะพักอาศัยรับประทานอาหารกับชาวบ้านทำให้เกิดความใกล้ชิด และการเลือกสนับสนุนกลุ่มแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นการเลือกแนวร่วมที่ถูกต้อง

แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ยังไม่หยุดการสร้างฐานมวลชน การลงทุนซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษ ทำให้ผู้ชื่นชอบในกีฬาฟุตบอลพอใจ และคนไทยเกิดความภูมิใจที่คนไทยเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล

เมื่อเทียบกับผู้นำพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยแล้ว จะเห็นได้ว่าแม้นายชวน หลีกภัย จะอยู่ในวงการเมืองมานานกว่า แต่โดยบุคลิกภาพและการดำเนินงานทางการเมืองแล้ว นายชวนไม่ได้อาศัยแนวทางมวลชน ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ อาศัยแนวทางมวลชนแบบที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ แต่อาศัยการจัดการสมัยใหม่คือ การตลาด และการสำรวจความต้องการของลูกค้าเป็นหลักสำคัญ นอกจากนั้นยังใช้สื่อโทรทัศน์ และวิทยุให้เป็นประโยชน์อีกด้วย

การสร้างฐานมวลชนเช่นนี้ทำให้คะแนนนิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณแน่นหนา และลดการใช้จ่ายเงินในการซื้อเสียงลง การเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีการใช้เงินซื้อเสียงน้อยลงมาก และคาดได้ว่าต่อไปการสร้างฐานเสียงจะกระทำผ่านงบประมาณของรัฐเป็นหลัก โดยจะมีการตกลงต่อรองทางตรง โดยไม่ต้องอาศัย ส.ส.เป็นคนกลางอย่างที่เคยเป็นมา

ตราบใดที่เรายังมีระบอบประชาธิปไตย ผู้นำมวลชนแบบ พ.ต.ท.ทักษิณก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้ารู้จักใช้การจัดการแบบใหม่ ซึ่งพรรคการเมืองของไทยเราขาด พรรคไทยรักไทยประสานแนวทางซ้ายกับการจัดการสมัยใหม่ได้ โอกาสที่พรรคอย่างนี้จะครองอำนาจจึงมีมาก และถ้าพรรคอื่นไม่ปรับตัวก็ยากที่จะเอาชนะพรรคแบบนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น