เราอาจจะคุ้นเคยกับข้าวเกรียบกุ้ง แต่ล่าสุดมีข้าวเกรียบพันธุ์ใหม่ที่ผสม "ตัวไหม" เพื่อเพิ่มโปรตีนให้ข้าวเกรียบ ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็น "ข้าวเกรียบและเซมเบ้ไหมฟ้า" สร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าตัวไหม-ข้าวเหนียวไทย
ศูนย์นวัตกรรมไหมและภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้พัฒนา "ข้าวเกรียบไหมฟ้าและเซมบ้าไหมฟ้า" เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทบดินทร์ไหมไทย-โคราช จำกัด ผ่านการประสานงานด้านวิชากา รโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมในงานแถลงข่าว ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.อัศวิน อมรสิน หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ ม.มหาสารคาม ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมพัฒนาข้าวเกรียบจากตัวไหม เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เซมเบ้ หรือข้าวอบกรอบที่ผลิตขึ้นจากข้าวเหนียว ผสมตัวไหม และข้าวเกรียบจากแป้งมันสำปะหลังและตัวไหม ทั้งนี้เพื่อช่วยทางบริษัทบดินทร์ไหมไทย-โคราชที่ผลิตผ้าไหมจำหน่ายและมีปริมาณตัวไหมจากกระบวนการผลิตผ้าไหมถึงปีละ 10-12 ตัน
"ปกติตัวไหมที่ได้จากกระบวนการผลิตไหมนั้นจะนำไปจำหน่ายในรูปของการทอดขาย และที่เหลือบางส่วนก็นำไปบดผสมเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งตัวไหมทอดเป็นอาหารที่กินได้ แต่บางคนอาจจะไม่กล้ากิน ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวไหม และข้าวเหนียวไทยซึ่งมีราคาถูก ทั้งนี้ยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อีก 6 เดือนเพื่อให้ได้รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมได้" ดร.อัศวินกล่าว
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารยังเผยอีกว่า จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ณ งานอินโนแมกซ์ (InnoMax) วันที่ 19-22 มิ.ย.51 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเบื้องต้นใช้ชื่อในการประชาสัมพันธ์ว่า "ข้าวเกรียบไหมฟ้า" และ "เซมเบ้ไหมฟ้า"
จากผลงานวิจัยของของคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าตัวไหมมีกรดไลโนเลอิคและกรดไลโนเลนิค ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายต้องได้รับมีประโยชน์ต่อร่างกายคือ ลดไขมันในเลือดทั้งไตรกลีเซอไรด์และโคเรสเตอรอล นอกจากนี้ตัวไหมยังมีฟอสโฟไลปิด (Phospholipid) ที่เป็นโครงสร้างของเยื่อเซลล์ทุกชนิด มีประโยชน์ต่อร่างกายคือ ควบคุมระดับคลอเรสเตอรอล.