xs
xsm
sm
md
lg

กรณีข้าวปนเปื้อนทำเอา“ญี่ปุ่น”เดือด

เผยแพร่:   โดย: แคเธอรีน มาคิโนะ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japanese steamed over tainted-rice scam
By Catherine Makino
23/09/2008

เพียงไม่กี่วัน ก่อนหน้ารัฐสภาญี่ปุ่นรับรอง ทาโร อาโซะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และมีการประกาศจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรคนเดิมของญี่ปุ่นได้ยื่นใบลาออก สืบเนื่องจากรายงานข่าวอื้อฉาวที่ว่า ข้าวนำเข้าของรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยซึ่งปนเปื้อนสารเคมี, ยาฆ่าแมลง, และเชื้อราที่อาจทำให้เป็นมะเร็ง ได้ถูกนำออกมาขาย และถูกกระจายไปตามภัตตาคารร้านอาหาร, โรงพยาบาล, โรงเรียน, ตลอดจนร้านค้าต่างๆ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเกิดปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องข้าว และบรรดาผู้บริโภคต่างพากันวิพากษ์ตำหนิรัฐบาลกันยกใหญ่

โตเกียว –ผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่ามีความสำนึกสูงในเรื่องคุณภาพ กำลังถูกสั่นคลอนความมั่นอกมั่นใจอย่างรุนแรงอีกระลอกหนึ่งแล้ว จากกรณีอื้อฉาวเรื่องข้าวปนเปื้อนสารพิษ ซึ่งได้ถูกเปิดโปงแฉโพยว่า เป็นข้าวที่รัฐบาลนำเข้าจากต่างประเทศ และได้ถูกนำมาออกจำหน่าย โดยกระจายไปตามภัตตาคารร้านอาหาร, โรงพยาบาล, โรงเรียน, ตลอดจนร้านค้าต่างๆ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร, ป่าไม้ และประมง เซอิชิ โอตะ พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยของเขา โทชิโร ชิระสุ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีฉาวโฉ่คราวนี้ “ในเมื่อเรื่องข้าวปนเปื้อนมีพิษ ได้กลายเป็นปัญหาทางสังคมใหญ่โตขนาดนี้ ผมจึงตัดสินใจขอแสดงความรับผิดชอบ” โอตะบอกกับผู้สื่อข่าวในวันศุกร์(19)

โอตะยอมรับว่ากระทรวงของเขาได้ละเลยเพิกเฉยกับความไม่ปกติที่เกิดขึ้นมานานแล้ว บัดนี้จึงส่งผลลัพธ์ทำให้บรรดาผู้บริโภครู้สึกไม่พอใจอย่างมากในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร “เราต่างรู้สึกสำนึกอย่างแรงกล้าในเรื่องความรับผิดชอบ” เขากล่าว

เรื่องการจัดการกับข้าวที่เก็บสำรองไว้ของญี่ปุ่น ได้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วระลอกหนึ่งเมื่อหลายเดือนก่อน ในช่วงเวลาซึ่งเกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “วิกฤตข้าวโลก” โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ปล่อยข้าวนำเข้าที่ตนเองเก็บสำรองไว้ออกมาบางส่วน เพื่อช่วยบรรเทาราคาข้าวโลกที่ตอนนั้นกำลังทะยานขึ้นไปอย่างน่าตกใจ ทว่าหลังจากนั้นแม้จะถูกแรงกดดันจากนานาชาติให้ปล่อยข้าวเพิ่มขึ้นอีก ปรากฏว่ารัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยกลับไม่ได้ขยับอะไรทั้งนั้น และอีกไม่นานต่อมาราคาข้าวก็กลับไต่ขึ้นสู่ระดับซึ่งพวกประเทศยากจนและผู้บริโภคที่ยากจนซื้อหาไม่ไหว

ตามปากคำของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรหลายราย ข้าวปนเปื้อนที่ตรวจพบว่าถูกนำไปขายเพื่อการบริโภคเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นข้าวที่นำเข้ามาจากจีน, เวียดนาม, และสหรัฐฯ โดยทางผู้รับผิดชอบมุ่งหมายที่จะให้เอาไปใช้ในทางอุตสาหกรรม อย่างเช่นการทำเป็นกาว

โนบุทากะ มาชิมุระ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีแถลงว่า เท่าที่ผ่านมายังไม่มีรายงานว่า ได้เกิดผลลบต่อสุขภาพใดๆ ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากข้าวปนเปื้อนที่ถูกแอบนำออกมาขายเหล่านี้ “มีความหนาแน่นของยาฆ่าแมลงและเชื้อราอยู่ในระดับต่ำ” แต่เขาก็ยอมรับว่า “มันเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่ผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่เหมาะแก่การบริโภค กลับถูกนำไปใช้รับประทานกันตามโรงพยาบาล”

ถึงแม้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้ลาออกไปแล้วหลายราย ทว่าบรรดาผู้บริโภคก็ยังคงรู้สึกหวั่นผวา และเรื่องนี้ก็กำลังกระทบกระเทือนเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อหาผลิตภัณฑ์อาหารของพวกเขา

คานาโกะ นาคายามะ บรรณารักษ์ผู้หนึ่งในกรุงโตเกียว เป็นหนึ่งในผู้บริโภคเหล่านี้ “ดิฉันต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับยี่ห้ออาหารที่ดิฉันซื้อ เมื่อก่อนดิฉันจะซื้อแบรนด์ราคาถูกๆ แต่ตอนนี้ดิฉันไม่รังเกียจที่จะซื้อแบรนด์ราคาแพง เพราะดิฉันต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเอง ดิฉันไม่ไว้วางใจพวกพ่อค้า, พวกบริษัทเทรดดิ้ง หรือรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตร อีกต่อไปแล้ว”

มีผู้คนจำนวนมากทีเดียวซึ่งน่าจะได้บริโภคข้าวที่กล่าวกันว่าปนเปื้อนด้วยสารเคมีทางการเกษตร, ยาฆ่าแมลง, และเชื้อราก่อมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันถูกนำมาปรุงเป็นอาหารร้อนๆ ออกบริการตามโรงพยาบาล, สถานพยาบาลพิเศษสำหรับคนชรา, และตามสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน

เสียงประณามตำหนิจำนวนมากพุ่งเป้าไปที่บริษัทมิคาซะ ฟู้ดส์ (Mikasa Foods Company) ซึ่งดำเนินการซื้อข้าวนำเข้าที่ปนเปื้อนมีพิษมาจากรัฐบาลญี่ปุ่น จากนั้นก็นำไปขายต่อให้แก่พวกบริษัทอาหารต่างๆ หลายหลาก บริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจเช่นนี้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และขณะนี้จึงกำลังถูกร้องเรียนกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา

จากการสำรวจในทั่วประเทศพบว่า มีโรงงานสุราอย่างน้อย 9 แห่งที่ใช้ข้าวปนเปื้อนเหล่านี้เป็นวัตถุดิบ ทำให้มีการเรียกเก็บสุรา “โชชุ” ออกจากตลาดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านขวด โดยเฉพาะ บริษัทสุราอาซาฮี บริวเวอรีส์ เรียกเก็บสุรา “โชชุ” ถึง 650,000 ขวด ที่ขายไปให้แก่ซูเปอร์มาร์เก็ต, ภัตตาคารร้านอาหาร, และร้านสะดวกซื้อต่างๆ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2008 เป็นต้นมา

พวกบริษัทขนมของขบเคี้ยวก็มีการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ของพวกเขาออกจากร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศ

มิคาซะ ฟู้ดส์ ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในนครโอซากา ได้จำหน่ายข้าวปนเปื้อนไปให้แก่บริษัทต่างๆ 370 แห่งในพื้นที่ 24 จังหวัดของประเทศ โดยมุ่งให้ใช้ข้าวเหล่านี้ไปเพื่อการบริโภค ตัวเลขเช่นนี้สูงเป็นกว่า 4 เท่าตัวของตัวเลขที่บริษัทแถลงออกมาในตอนแรก ตามรายงานของรัฐบาลนั้น มิคาซะได้ขายข้าวเหล่านี้ไปให้แก่พวกโรงงานผลิตสุราโชชุ, โรงงานขนมจำพวกข้าวอบกรอบ, ตลอดจนโรงงานแปรรูปอาหารอื่นๆ รายชื่อลูกค้าผู้ซื้อข้าวจากมิคาซะ มีที่เป็นบริษัทนายหน้าค้าข้าว 50 ราย, ผู้ผลิตของหวาน 154 ราย, โรงงานทำขนมจากข้าว 30 ราย, โรงงานสุรา 10 ราย, และผู้ประกอบการภัตตาคารร้านอาหาร 5 ราย

รายชื่อเหล่านี้ในตอนแรกๆ ค่อยๆ ถูกแพล็มออกมาทีละน้อย แต่หลังจากถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังอึงคะนึงขึ้นทุกทีว่า กระทรวงเกษตรกำลังคำนึงถึงผลประโยชน์ของพวกธุรกิจมากกว่าของผู้บริโภค โอตะจึงสั่งพวกเจ้าหน้าที่กระทรวงเผยแพร่รายชื่อของบริษัทและโรงงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

มิคาซะถูกกล่าวหาว่าซื้อข้าวที่ปนเปื้อนเป็นจำนวน 2,594 ตัน จากรัฐบาลและจากบริษัทเทรดดิ้งต่างๆ สต็อกข้าวที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงเหล่านี้ มีที่เป็นข้าวจีน 800 ตัน, ข้าวเวียดนาม 598 ตัน, และจากประเทศอื่นๆ อีก 95 ตัน ทั้งนี้ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารจากต่างประเทศประมาณ 60%

เพียงสองสามเดือนก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนก็ได้รายงานข่าวกันเกรียวกราวเมื่อมีชาวญี่ปุ่นหลายสิบคนล้มป่วย ภายหลังรับประทานเกี๊ยวซ่าแช่แข็ง ปรากฏว่าเกี๊ยวซ่าปนเปื้อนยาฆ่าแมลงเหล่านี้ถูกนำเข้ามาจากจีน ย้อนไปอีกในปีที่แล้ว ก็มีข่าวฉาวเรื่องโรงงานขนมแอบเปลี่ยนวันที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์จำพวกบิสกิตและขนมโมจิ

โนบูฮิโร ซูซูกิ ศาสตราจารย์ด้านการเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ชี้ว่า “ญี่ปุ่นต้องนำข้าวข้าวเป็นจำนวน 77,000 ตันในแต่ละปี ถึงแม้ปริมาณความต้องการในประเทศต่อข้าวนำเข้าเหล่านี้จะต่ำมาก ดังนั้น บางคนคงอยากจะเรียกร้องให้ญี่ปุ่นลดการนำเข้าข้าวลงมา ในเมื่อไม่ได้มีความต้องการเพียงพอที่จะรองรับข้าวเหล่านี้”

ทั้งนี้ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อผูกพันในการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยซึ่งเสร็จสิ้นลงในเดือนธันวาคม 1993 ญี่ปุ่นต้องเปิดตลาดข้าวในระดับหนึ่งให้แก่พวกประเทศผู้ส่งออก และการปฏิบัติตามขั้นต่ำสุดของการเปิดตลาดเช่นนี้ ก็ทำให้ญี่ปุ่นถูกบังคับให้ซื้อข้าวต่างประเทศเป็นจำนวนปีละ 77,000 ตัน

ดังที่ ซี ปีเตอร์ ทิมเมอร์ ศาสตราจารย์แห่งโครงการว่าด้วยความปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เขียนเอาไว้ในนิตยสาร “แจแปน โฟกัส” ฉบับเดือนกรกฎาคม:

“เนื่องจากพันธะผูกพันตามข้อตกลงการค้าระดับโลก (ซึ่งญี่ปุ่นให้สัญญาไว้ระหว่างการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย) ญี่ปุ่นจึงนำเข้าข้าวจำนวนมากพอดู ทั้งที่เป็นข้าวเมล็ดกลางจากสหรัฐฯ และข้าวเมล็ดยาวจากไทยและเวียดนาม อย่างไรก็ดี โตเกียวพยายามหาทางเก็บงำข้าวเหล่านี้แทบทั้งหมดไม่ให้ไปถึงมือผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น (อาจบางทีด้วยความหวาดเกรงที่จะต้องประสบความเป็นจริงที่ว่า รสชาติของข้าวพันธุ์ “อินดิคา” ของต่างประเทศนั้นไม่ได้เลวร้ายเลย อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับราคาตันละ 3,900 ดอลลาร์สหรัฐฯของข้าวพันธุ์ “จาปอนิคา” แบบเมล็ดสั้นที่ผลิตในญี่ปุ่นเอง)

ภายใต้กฎเกณฑ์ของดับเบิลยูทีโอ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถที่จะนำข้าวเหล่านี้ส่งออกต่อไปประเทศอื่นๆ ได้ ยกเว้นแต่จะกระทำในปริมาณที่ค่อนข้างจำกัดในรูปของความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงใช้วิธีเก็บสำรองข้าวนำเข้าของตนเอาไว้เฉยๆ จนกว่าคุณภาพจะเสื่อมโทรมลงสู่จุดที่เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นอาหารสัตว์เท่านั้น แล้วก็ขายไปให้แก่พวกกิจการด้านปศุสัตว์ภายในประเทศ เมื่อปีที่แล้ว มีข้าวจำนวนประมาณ 400,000 ตันถูกกำจัดในลักษณะเช่นนี้ อันถือเป็นการสูญเสียทางงบประมาณมูลค่ามหึมาทีเดียว อีกทั้งยังกลายเป็นการแย่งตลาดในปริมาณเท่าเทียมกัน จากข้าวโพดส่งออกของสหรัฐฯไปในตัว และดังนั้นจึงทำให้เกิดผู้ที่รู้สึกไม่พอใจขึ้นมาอีกรายหนึ่ง นั่นคือ พวกผู้ปลูกข้าวโพดในสหรัฐฯ”

ตามคำบอกเล่าของ ทัตสึยะ คาคิตะ ผู้เขียนหนังสือจำนวนมากในหัวข้อเรื่องว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร บริษัทมิคาซะ ฟู้ดส์ ได้ซื้อหาข้าวปนเปื้อนเป็นจำนวนประมาณ 25% จากรัฐบาลญี่ปุ่นมานานปีแล้ว “พวกเขาซื้อข้าวเหล่านี้มาได้ด้วยราคาถูกมากๆ แล้วก็กลับขายต่อโดยคิดราคาตลาดปกติ”

คาคิตะบอกว่า มิคาซะ ฟู้ดส์ เป็นตัวการกระทำความผิด ทว่ากระทรวงเกษตร, ป่าไม้, และประมง (Ministry of Agriculture, Forests and Fisheries หรือ MAFF) ก็ควรต้องถูกประณามด้วย “MAFF ควรต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบและติดตามว่าลงท้ายแล้วข้าวปนเปื้อนเหล่านี้ตกไปอยู่ที่ไหน แต่พวกเขากลับไม่ได้มีการตรวจสอบเลย” คาคิตะบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) “มิคาซะ ฟู้ดส์ ทราบดีว่า MAFF ไม่ได้มีการพิสูจน์สอบทานเอกสารของตนในเรื่องข้าวถูกส่งต่อไปไหน ดังนั้นการซื้อขายแบบนี้จึงกลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมากที่สุดให้แก่พวกเขา และความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับทางกระทรวงก็ยิ่งเบ่งบาน”

การแพร่กระจายข้าวปนเปื้อนนั้น ถือเป็นการละเมิดกฎหมายสุขอนามัยของอาหาร

“ข้าวเป็นอาหารพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของประชาชนชาวญี่ปุ่น และเวลานี้สาธารณชนตระหนักแล้วว่าเชื่อถือรัฐบาลไม่ได้เลย” คาคิตะกล่าว “ความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลได้ถูกทำลายไปแล้ว เราจะต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าพวกผู้บริโภคจะไปซื้อหาอาหารในระดับใดกันต่อไป ซึ่งย่อมจะต้องขึ้นกับว่ากรณีอื้อฉาวนี้จะดำเนินไปถึงไหน และรัฐบาลจะยอมแสดงความรับผิดชอบต่อความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นมานี้หรือเปล่า”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น