xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดูโรงงานผลิต "จานชานอ้อย" ที่ชัยนาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานโรงงานกำลังชานอ้อยเป็นบรรจุภัณฑ์
สังคมไทยได้รู้จักบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายสุขภาพจาก "ชานอ้อย" มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เพื่อทำความรู้จักกันมาขึ้นเราจึงต้องไปถึงโรงงานผลิตที่ชัยนาท โดยการร่วมทริปกับคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทย์

การเดินทางเริ่มต้นที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุ่งหน้าสู่โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยที่จังหวัดชัยนาทของบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด เมื่อปลายเดือน พ.ค.51 ที่ผ่านมา โดยผู้จัดการวิทยาสาสตร์และสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจ ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะผู้ตรวจราชการจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงไปถึงเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 45 ไร่

นายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทบรรจุภัณฑ์สิ่งแวดล้อมนำเสนอแก่ผู้จัดการและสื่อมวลชนอื่นๆ ถึงคุณสมบัติพิเศษของบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากชานอ้อยเกือบ 100% โดยมีส่วนผสมของตัวประสานประเภทแป้งอีก 2% จึงปลอดจากสารพิษและไม่เสี่ยงเหมือนกับการใช้โฟม ที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ใน 45 วันเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือฝังในดินที่มีแบคทีเรียและความร้อนเหมาะสม แต่ยังมีข้อเสียเปรียบโฟมตรงที่ราคาแพงกว่าถึง 1.5 เท่า

วัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยนั้น นายสุรศักดิ์เผยว่าได้จากโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกันและผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยโดยไม่ฟอกสีจำหน่ายแก่อุตสาหกรรมอื่นๆ หลายประเภท อาทิ อุตสาหกรรมกระดาษวาดเขียน อุตสาหกรรมผ้าอ้อมและผ้าอนามัย เป็นต้น

เหตุผลที่เลือกใช้เยื่อจากชานอ้อยก็เพราะเป็นเยื่อชนิดเดียวที่มีการผลิตในเชิงพาณิชย์ สำหรับกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยของโรงงานอยู่ที่ 200 ล้านชิ้นต่อปีแต่ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตเพียง 70% โดยใช้ชานอ้อยปีละ 3 พันตัน

"ส่วนใหญ่ชานอ้อยจะถูกเผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ แต่หากนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยจะขาย(ชานอ้อย)ได้ตันละ 20,000 บาท เฉพาะชานอ้อยอย่างเดียวทั่วประเทศถ้าไม่ทิ้งเลยจะสร้างมูลค่ามากถึง 500,000 ล้านบาท" นายสุรศักดิ์เผยระหว่างนำเสนอแก่สื่อมวลชนและคณะผู้ตรวจราชการ

เมื่อได้วัตถุดิบคือเยื่อกระดาษจากชานอ้อยทางโรงงานจะนำไปปั่นเพื่อใช้ในการขึ้นรูปซึ่งมีอุณหภูมิขึ้นรูปราว 160 องศาเซลเซียส หลังตัดขอบตกแต่งบรรจุภัณฑ์เรียบร้อยก็นำไปฆ่าเชื้อด้วยรังอัลตราไวโอเลตก่อนทำการบรรจุลงหีบห่อ เศษที่เหลือจากการขึ้นรูปก็จะนำไปผ่านกระบวนการปั่นเพื่อขึ้นรูปอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี นายสุรศักดิ์ได้โอดครวญถึงอุปสรรคในการทำธุรกิจว่า ยังไม่สามารถแข่งขันกับบรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมได้เต็มที่ พร้อมทั้งกล่าวถึงความคาดหวังว่าไม่ต้องการให้ภาครัฐมาช่วยส่งเสริมธุรกิจของบริษัทแต่ต้องการให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จากวัสดุชีวภาพ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและที่สุดราคาขายก็จะต่ำกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม

"เราแพงกว่าโฟมแต่ถูกกว่าพลาสติก 20 % ซึ่งตรงนี้เป็นนโยบายของประเทศด้วย อย่างที่ญี่ปุ่นราคาบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้เท่ากับโฟม ขณะที่บางประเทศก็แพงกว่า เนื่องจากประเทศเขาเก็บราคาในการกำจัดด้วย เป็นกลไกธรรมชาติเมื่อราคาแพงขึ้นผู้บริโภคก็จะตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ อีกทั้งยังไม่ต้องใช้ภาษีของประชาชนไปกำจัดขยะที่เกิดจากโฟมด้วย ก็หวังว่าอนาคตจะมีนโยบายให้คนตระหนักเกี่ยวกับการใช้โฟมมากขึ้น" นายสุรศักดิ์กล่าว

ทางด้านนายแพทย์วีรฉัตร กิติรัตนไพบูลย์ ประธานบริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เผยว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทกว่า 80% ส่งออกต่างประเทศ และทำตลาดภายในประเทศอีก 20% และขณะนี้กำลังหารือว่าจะทำตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นเพราะอยากให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อสุขภาพ และอนาคตจะหาเนื้อเยื่ออื่นทดแทนเยื่อจากชานอ้อยเพื่อหาวิธีในการลดต้นทุน อาทิ ผักตบชวา ฟางข้าว ไมยราบยักษ์ เป็นต้น แต่ยังติดปัญหาที่รวบรวมวัตถุดิบได้ยากเพราาะไม่มีอุตสาหกรรมรองรับ

บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ในโครงการ "ร่วมลงทุนธุรกิจนวัตกรรม" เป็นมูลค่า 20,000,000 บาท ซึ่งนับเป็น 10% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อการค้า "ไบโอ" (BIO) และยังส่งผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าต่างประเทศนำติดชื่อแบรนด์เอง โดยมีหลายประเทศที่เป็นลูกค้า อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา คูเวต ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่นและมาเลเซีย เป็นต้น

ส่วนตลาดภายในประเทศมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ อาทิ เทสโก้โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซี แมคโคร เซ็นทรัล โรบินสัน ท็อปส์ จัสโก เป็นต้น นอกจากนี้นายสุรศักดิ์เผยอีกว่า มีแผนส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยแทนโฟมและพลาสติกตามโรงอาหารของมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาต่างๆ ด้วย

การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราได้รู้จักบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยในแบบใกล้ชิดมากขึ้น แต่บรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่นี้จะเบียดโฟมลงจากเวทีบรรจุภัณฑ์อาหารได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภคแต่ละคน.
กระบวนการขึ้นรูปซึ่งมีอุณหภูมิถึง 160 องศาเซลเซียส
กระบวนการตัดขอบ
ตรวจสอบคุณภาพด้วยสายตา
ผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่รอกระบวนการตรวจสอบ
นายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี
นายแพทย์วีรฉัตร กิติรัตนไพบูลย์
กำลังโหลดความคิดเห็น