ดินสอพอง ถือเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่เมืองไทยมาช้านาน ซึ่งจัดอยู่ในสมุนไพรจำพวกแร่ธาตุ หรือเรียกว่าเครื่องยาธาตุวัตถุ แต่ถ้าสืบค้นไปก็จะพบว่าดินสอพองเป็นยาสมุนไพรตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จาก “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ที่กล่าวถึงดินสอพองไว้ว่า “ ให้เอาชานอ้อย กำยาน แก่นคูน กรักขีถาก รมหม้อใหม่ใส่น้ำไว้ จึงเอาดินสอพองเผาให้สุก ใส่ลงในหม้อน้ำนั้นให้คนไข้กินเนืองๆ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ หยุดแล” ซึ่งถือว่าดินสอพองเป็นยาสมุนไพรที่เก่าแก่ และรักษาโรคให้กับผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันแหล่งผลิตวัตถุดิบของดินสอพองแหล่งใหญ่อยู่ที่ตำบลท่าแค และตำบลท่าตะโก จังหวัดลพบุรี ที่ใต้พื้นดินมีแร่ธาตุที่เรียกว่า “ดินสอพอง” อยู่เป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านจะไปรับซื้อดินสอพองมาจากละแวกนั้น แล้วนำมาผลิตที่หมู่บ้านหินสองก้อน (ริมคลองชลประทาน) ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง (บริเวณสะพาน 6) หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อของ “หมู่บ้านดินสอพอง” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำดินสอพองกันแทบทุกครัวเรือน เนื่องจากพื้นที่บริเวณไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก เนื่องจากมีดินสีขาวอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้นำมาแปรรูปเป็นดินสอพองในที่สุด
ซึ่งที่ผ่านมาดินสอพองไม่ได้เป็นเพียงยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคอย่างในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่ดินสอพองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย เช่น อุตสาหกรรมยาสีฟัน, อุตสาหกรรมการผลิตธูป, ตกแต่งเครื่องเรือน, ไข่เค็มดินสอพอง, ทำสีฝุ่น และอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาสิว และโรยแผล ก็ใช้ดินสอพองเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการรักษาสิว
แต่เมื่อเทศกาลสงกรานต์ ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยได้เวียนมาถึงอีกครา “ดินสอพอง” จำต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นอุปกรณ์ที่สร้างความสนุกสนานให้กับคนไทย รองจากการสาดน้ำสร้างความรื่นเริง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าอีกเพียง 5 ปี ดินสอพอง จะเริ่มหมดไปจากประเทศไทย ด้วยแหล่งวัตถุดิบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ รวมทั้งคนไทยไม่เห็นคุณค่า หาทางรักษาไว้ในรุ่นหลาน โดย นายประยูร เลิศปาน เล่าว่า แต่เดิมคนในหมู่บ้านดินสอพอง ยึดอาชีพการผลิตดินสอพองขายกันเป็นเวลานาน ซึ่งรายได้ก็ถือว่าไม่ได้มากมายนัก เพียงสำหรับการเลี้ยงชีพได้เท่านั้น
“ธุรกิจการผลิตดินสอพองในหมู่บ้าน ถือว่าขณะนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ครึกครื้นขึ้นบ้าง เพราะมีบรรดาพ่อค้าแม่ค้า มาซื้อดินสอพองแบบเม็ดเพื่อไปจำหน่ายต่อ จากที่ในช่วงอื่น จะผลิตดินสอพองแบบเป็นก้อนเท่านั้น เพื่อขายส่งให้กับภาคอุตสาหกรรม แต่ก็ถือว่าราคาก็ไม่ได้หวือหวานัก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านขณะนี้จะขายตัดราคากันเอง ส่งผลให้มีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว ส่งผลให้มีหนี้สิน เมื่อมีลูกค้ามาขอซื้อในราคาถูกจนขาดทุน ก็ต้องจำยอมขาย เพื่อให้มีเงินมาใช้หนี้ ถือว่าขณะนี้ธุรกิจของหมู่บ้านดินสอพองขาดระบบการจัดการที่ดี เน้นการหาตลาดกันเอง โดยขายผ่านพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก”
สำหรับราคาขายของดินสอพองในขณะนี้ถือว่ามีราคาต่ำมาก จนน่าแปลกใจว่าราคาขายในระดับนี้จะให้ชาวบ้านดำรงชีพ จากรายได้การจำหน่ายดินสอพองได้อย่างไร คือ ดินสอพองแบบเม็ดราคาขายที่แหล่งผลิตอยู่ที่ 35 บาท/20 กิโลกรัม และเมื่อออกมาจากหมู่บ้านดินสอพองเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ราคาก็เพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 50 บาท/20 กิโลกรัม ในขณะที่ดินสอพองแบบก้อนที่ใช้ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมราคาอยู่ที่ตันละ 1,100 บาท เท่านั้น
สำหรับผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการดินสอพองมายาวนาน อย่าง นายประยูร ทำให้รู้ถึงปัญหาของธุรกิจนี้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงแต่ตนเองเท่านั้นที่เริ่มมองหาอาชีพอื่นที่คาดว่าจะสามารถนำรายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ แต่อีกกว่า 100 ครอบครัว ก็เริ่มรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจดินสอพองกันเช่นเดียวกัน ที่อาจไม่ใช่อาชีพที่ยั่งยืนอีกต่อไป
เป็นที่น่าเสียดายว่าหากในอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลานจะรู้จักดินสอพอง หรือนำดินสอพองมาใช้ประโยชน์ได้ยากเต็มทีเนื่องจากราคาที่สูงมากขึ้น ตามวัตถุดิบที่นับวันจะลดน้อยลง ซึ่งคนไทยยังไม่เห็นถึงคุณค่า ภูมิปัญญาไทย ที่นำดินสอพองมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง รวมถึงตำนานของดินสอพองจังหวัดลพบุรี ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของแหล่งดินสอพองที่มีคุณภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ที่เล่าขานกันว่า “เมื่อครั้งที่พระรามปราบทศกัณฐ์ได้สำเร็จ พระองค์ จึงคิดปูนบำเหน็จ ให้กับหนุมาน ซึ่งเป็นทหารเอก โดยการแผลงศรออกไปและถ้าศรตกลง ที่ใดบริเวณนั้นก็จะเป็นของหนุมาน ศรของพระรามเป็นศรศักดิ์สิทธิ์ เมื่อแผลงมาตกที่ทุ่งพรหมมาสตร์ (หมายถึง จังหวัดลพบุรี ในปัจจุบัน) ก็ทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ หนุมานจึงใช้หางกวาดเปลวไฟให้ดับ บริเวณที่ถูกไฟจึงสุกกลายเป็นสีขาวและเถ้าดิน ที่ถูกหางหนุมาน กวาดออกไปก็กลายเป็นภูเขา ล้อมรอบจังหวัดลพบุรีนั่นเอง”
แต่อย่างไรก็ตามช่วงกอบโกยรายได้ของบรรดาชาวบ้านในหมู่บ้านดินสอพอง ก็คือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เน้นผลิตแบบเม็ดเป็นส่วนใหญ่ โดยมีออเดอร์มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี นนทบุรี ชลบุรี และถนนข้าวสารที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ
โดยขั้นตอนการผลิตดินสอพองแบบเม็ด จะนำน้ำแป้งดินสอพองที่ผ่านมาล้างทำความสะอาด และนำมาผสมกับกับน้ำจนได้ที่แล้ว นำมาใส่เครื่องหยอดที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการนำดินสอพองใส่ลงในกล่องไม้ ที่ด้านล่างเป็นพิมพ์ แล้วใช้ไม้กดดินสอพองจากด้านบน ก็จะออกมาเป็นเม็ดดินสอพองที่คุ้นเคย โดยการกดแต่ละครั้งจะได้เม็ดของดินสอพอง 99 ดอก จากเดิมที่หยอดกันทีละเม็ด ตากแดดนาน 2 วัน ก็จะได้ดินสอพองพร้อมส่งขาย ส่วนแบบก้อนต้องตากแดดนานถึง 2 สัปดาห์เต็มๆ จึงจะแห้งสนิท
ธุรกิจการผลิตดินสอพองเพื่อจำหน่าย ถือเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับจังหวัดลพบุรีมาช้านาน แต่หากคนไทยยังไม่เห็นคุณค่า ช่วยกันอนุรักษ์ธุรกิจนี้อย่างจริงจัง คงจะช่วยชะลอแร่ธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างดินสอพองนี้ได้ เพื่อให้ลูกหลานได้ใช้สอยประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเหมาะสม มากกว่าการนำมาสร้างความสนุกสนานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กับสมุนไพรไทยที่รอวันสูญสิ้นไปในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีข้างหน้า
****วิธีการผลิตดินสอพอง****
ขั้นแรก คือ การขนดินมาร์ลใส่บ่อกาก แล้วปล่อยน้ำลงไปผสมให้ดินละลาย เมื่อดินละลายน้ำดีแล้ว ตักน้ำในบ่อกากเทใส่ตะแกรงลงในบ่อกรองหรือบ่อเนื้อเพื่อแยกเอาหินกรวด และเศษหญ้าทิ้งกากที่เหลือนี้นำไป ใช้ถมที่ได้
ขั้นที่สอง ตักน้ำดินจากบ่อกรอง เทผ่านผ้ากรองลงในบ่อทำแผ่น ทิ้งไว้ 1 คืน ดินขาวจะตกตะกอน นอนก้นบ่อตอนบนจะเป็นน้ำใส ค่อยๆ ช้อนหรือดูดเอาน้ำใสนี้ออกจากบ่อ จนเหลือแต่แป้งดินขาวข้น เหมือนดินโคลน
ขั้นที่สาม ตักโคลนดินสอพอง หยอดใส่แม่พิมพ์กลมที่ทำด้วยเหล็กไม่ขึ้นสนิม หรือไม้ไผ่นำมาขดเป็นวงกลม ก่อนหยอดโลนดินสอพองลงแห้งพิมพ์ จะต้องใช้ผ้าใบหรือผ้าชนิดอื่นๆ ปูรองพื้นก่อน เพื่อให้ผ้าดูดซับน้ำจากโคลน ดินสอพองด้วย หลังจากหยอดโคลนดินสอพองลงบนพิมพ์แล้ว ปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้งสักครู่ แผ่นดินสอพอง จะหมาดเกาะติดกันเป็นก้อนแข็งพอที่จะใช้มือหยิบได้ จึงนำแผ่นดินสอพองไปวางบนตะแกรงไม้ไผ่ ผึ่งแดด ให้แห้งสนิทเมื่อแห้งดีแล้วจึงเก็บไว้เพื่อจำหน่ายต่อไป แผ่นดินสอพองที่แห้งสนิทจะมีสีขาวกว่าแผ่นที่ยังไม่แห้ง