xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านสามขา” หมู่บ้านในนิทาน ตำนานคนกับป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณเคยได้ยินชื่อดินแดนยูโทเปียบ้างไหม?

เปล่า- เราไม่ได้กำลังจะพาคุณไปยังที่นั่น เพราะในความเป็นจริง เราเองก็ไม่รู้ว่าสถานที่แห่งความสมบูรณ์แบบในเชิงอุดมคติแห่งนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และหากมีจริงมันควรหน้าตาเป็นอย่างไร

แต่ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กลับทำให้เราคิดถึงดินแดนแห่งนั้น ถึงแม้ว่าที่นี่จะไม่ใช่สังคมในอุดมคติที่ทุกคนใช้ชีวิตอยู่กันอย่างสงบสุข ปราศจากอุปสรรคปัญหาใดๆ หากแต่เพราะเริ่มต้นจากปัญหาภัยความแห้งแล้งนี่ล่ะ ที่กลับทำให้ชื่อเสียงของที่นี่กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักอนุรักษ์และผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะหมู่บ้านอุดมคติเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีที่ยังคงมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์

บ้านสามขา...หมู่บ้านเล็กๆ ธรรมดาสามัญที่อาจชื่อไม่คุ้นหูนักท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นทำเลทองของนักพัฒนาที่ดินเหมือนอย่างปาย เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือสมุย ที่นี่ไม่มีโรงแรมห้าดาว ไม่มีผับหรือร้านกาแฟแฟรนไชน์ระดับโลกชื่อดังให้นั่งหย่อนใจ แต่มีลองสเตย์และโฮมสเตย์สำหรับผู้ที่ต้องการมาพักผ่อนและเรียนรู้วิถีชีวิตที่นี่อย่างใกล้ชิด

หากคุณอยากช็อปปิ้ง หมู่บ้านนี้มีผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือมัดย้อมและไม้แกะสลักให้ซื้อหา และหากอยากจะดินเนอร์สักมื้อ อาหารพื้นเมืองอย่างไข่มดแดงและเห็ดป่าก็พร้อมเสิร์ฟในกระทงใบตองให้นำกลับไปปรุงสดๆ เอาเอง ยอดผักหวานสดใหม่จากราวป่า รสชาติดีไม่แพ้ผักออแกนิกส์กรัมละเฉียดร้อยที่วางขายในซูเปอร์มาเกตกลางกรุง


-1-

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...

ยังมีหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ตามคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ในหมู่บ้านมีคนล่าสัตว์เลี้ยงชีพอยู่หลายครอบครัว วันหนึ่งมีชาวบ้านคนหนึ่งได้ออกล่าสัตว์ แล้วไปพบเห็นรอยเก้งกินลูกมะกอกป่า จึงตัดไม้ทำเป็นห้างหรือนั่งร้านอยู่บนต้นไม้เพื่อดักยิงเก้ง พลบค่ำลงเก้งตัวนั้น ได้ออกมากินมะกอกป่าอีก ชาวบ้านคนนั้นจึงใช้ปืนคาบศิลา ยิงเก้งถึงแก่ความตาย แต่พรานชาวบ้านผู้นั้น ไม่สามารถนำเก้งทั้งหมดกลับบ้านได้ เนื่องจากเป็นเก้งที่ใหญ่มาก จึงใช้มีดตัดเอาเฉพาะขาหลังเพียงขาเดียว ส่วนที่เหลือก็นำใบไม้มาปกปิดไว้กันไม่ให้คนอื่นมาเห็น

รุ่งเช้า พรานคนดังกล่าวได้ชักชวนเพื่อนบ้านกลับไปเอาเนื้อเก้งที่เหลือ แต่เมื่อไปถึงที่ซ่อนเนื้อเก้งไว้ กลับไม่เจอเนื้อเก้งดังกล่าว เนื่องจากมีงูใหญ่มาพบเก้งที่เหลือสามขา จึงลากเข้าไปกินในถ้ำที่อยู่ทางทิศตะวันตก ชาวบ้านจึงพากันตามรอยงูใหญ่ที่ลากเก้งเป็นทางไป จนกระทั่งไปสิ้นสุดที่ปากถ้ำ จึงคิดว่างูใหญ่ตัวนั้นนำเก้งไปกินในถ้ำ ดังนั้นจึงพากันกลับบ้านเพื่อหารือว่าจะทำอย่างไรกับงูใหญ่ตัวนั้น

เมื่อมีความเห็นสอดคล้องตรงกัน จึงหาเชือกมามัดเป็นเกลียวเส้นใหญ่และยาวที่สุด ได้นำเอาหูหิ้วถังตักน้ำมาทำเป็นขอเบ็ด ผูกกับเชือกแล้วฆ่าสุนัขตัวหนึ่งผูกติดกับเบ็ดหย่อนลงไปในรูถ้ำ ปลายเชือกผูกติดกับต้นไม้ที่ปากถ้ำ พอวันรุ่งขึ้นก็พากันมาดู เห็นเชือกตึงจึงรู้ทันทีว่างูใหญ่คงติดเบ็ดแล้ว จึงช่วยกันดึงงูออกมา แต่ดึงเท่าไหร่ก็ไม่สามารถดึงออกมาได้เนื่องจากงูใหญ่มาก จึงได้ระดมคนในหมู่บ้านทั้งชายและหญิงให้ไปช่วยกันทุกคน ยกเว้นหญิงหม้ายเพียงคนเดียวที่ไม่ไปช่วย พอชาวบ้านทั้งหมดมาถึงก็ได้ช่วยกันดึงอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ดึงไม่ออกเหมือนเดิม

ชาวหมู่บ้านแห่งนั้นจึงได้นำเอา ช้างสามปาย ควายสามศึก เกวียนสามเล่ม ใช้เชือกผูกตามกัน แล้วควาญช้างก็ไส ช้างให้เดินหน้าและเฆี่ยนควายให้เดินตาม ในที่สุดก็สามารถดึงออกมาได้ เมื่อออกมาพ้นปากถ้ำแล้วก็ใช้เกวียนสามเล่มต่อกัน ใช้ช้างยกงูขึ้นใส่เกวียน แล้วจึงให้ช้างเดินนำหน้าช่วยลากงูไปจนถึงหมู่บ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านแล้วพวกเขา จึงพากันลงมือชำแหละเนื้องูออกมาทำเป็นอาหาร แจกจ่ายกันกินทั้งหมู่บ้าน มีทั้งเหล้ายา สาโท จ้อย ซอ กันอย่างสนุกสนาน ร่าเริงเต็มที่ ส่วนเนื้องูที่เหลือก็แบ่งปันกันทุกครัวเรือน ยกเว้นหญิงหม้ายผู้นั้นเพราะไม่ได้ไปช่วยเขาลากงู จึงไม่ได้รับส่วนแบ่ง

พอเวลากลางคืน ตอนดึกได้มีเทวดามาเข้าฝันโดยแปลงตัวเป็นคนแก่ ผมขาว หนวดยาว หลังโก่งถือไม้เท้าขึ้นบันไดมาหาหญิงหม้ายคนนั้นแล้วกำชับว่า คืนนี้ถ้าได้ยินเสียงอะไรที่อึกทึกครึกโครม หรือเสียงอะไรก็ตามห้าม ออกจากบ้านเป็นอันขาด อย่าลงบ้านไปไหนเพราะจะเป็นอันตราย พอสั่งแล้วเทวดาก็หายวับไปกับตา พอหญิงหม้ายนอนหลับไปก็ตกใจตื่นเนื่องจากมีเสียงดังอึกทึกครึกโครมเหมือนแผ่นดินจะถล่มทลาย หญิงหม้ายผู้นั้นจึงรีบวิ่งออกมาจากประตูเรือน แต่พอนึกถึงคำเตือนของชายชราผมขาวผู้นั้นได้จึงกลับไปนอนดังเดิม

ครั้นต่อมาได้ยินเสียงก็วิ่งออกนอกประตูเรือนมาดูอีก แต่ก็นึกถึงคำเตือนอีกครั้งก็กลับเข้าไปนอนทุกครั้ง พอครั้งที่สามวิ่งออกมาถึงหัวบันได สิ่งที่ปรากฏต่อสายตากลับมองดูเวิ้งว้าง บ้านเรือนที่ใกล้ชิดติดกันหายไปหมดไม่เหลือสักหลัง โล่งเป็นบริเวณกว้าง หญิงหม้ายรีบกลับเข้าไปนอน ไหว้พระสวดมนต์ พอรุ่งเช้าจึงออกมาดูข้างนอกเห็นบริเวณหมู่บ้านยุบลงไปหมด เหลือแต่บ้านของตนเพียงหลังเดียว หญิงหม้ายผู้นั้นจึงเก็บข้าวของที่มีค่าไปอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านที่ถล่มนั้น ปัจจุบันเรียกถ้ำนั้นว่า “ถ้ำย่าเถ็ก” บริเวณหมู่บ้านที่ถล่มลงไปนั้นปัจจุบันเรียกว่า “โป่งหล่ม”

ต่อมามีชาวบ้านที่ยากจนไม่มีอันจะกินได้พากันรอนแรมออกป่าล่าสัตว์ อพยพมาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้น ซึ่งมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก พอเพื่อนบ้านทราบข่าวเล่าสืบต่อๆ กันไป ก็เดินทางมาสมทบและอพยพมาเรื่อยๆ จนมาพบทำเลเหมาะ ดิน น้ำ อุดมสมบูรณ์ดี จึงพากันมาตั้งถิ่นฐานปลูกบ้านหลายหลังจนกลายเป็นหมู่บ้าน บริเวณนั้นมีต้นกล้วยป่าขึ้นเต็มไปหมด จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านแม่หยวก”

ต่อมาต้นกล้วยได้ถูกทำลายจนหมดสิ้น เพราะชาวบ้านขุดถางทำเป็นไร่นาไปหมด เมื่อไม่มีหยวกกล้วยเหลืออยู่แล้วจึงพากันเปลี่ยนชื่อบ้านใหม่ โดยให้ชื่อว่า "บ้านสามขา" ตามขาเก้งที่เหลือ ซึ่งหมายถึงความมั่นคง เปรียบดังก้อนเส้าสามก้อน และแก้วสามประการคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาจนทุกวันนี้

วันเวลาผ่านมา...จากตำนานเล่าขานกลายเป็นนิทานก่อนนอน หรือเรื่องเล่ารอบกองไฟในค่ำคืนที่เหน็บหนาว ลูกหลานชาวบ้านสามขาทุกวันนี้ยังจดจำที่มาแห่งตำนานประวัติหมู่บ้านของพวกเขาได้ และพยายามพลิกฟื้นนิทานดังกล่าวให้กลายเป็นตำนานที่มีชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องเล่า เพราะทุกวันนี้พวกเขากำลังสร้างตำนานบทใหม่
ตำนานแห่งการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำ และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า

-2-

“ป่าถ้าเราไม่ช่วยเขา เขาจะทำลายเรา”

บุญส่ง บุญเจริญ คณะกรรมการหมู่บ้านสามขา เอ่ยถึงคติในการทำงานอนุรักษ์ที่ดำเนินการมาถึงวันนี้เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ทำให้พฤติกรรมผู้คนในชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

บ้านสามขา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา และห่างไกลจากความเจริญ แต่เดิมชาวบ้านใช้ชีวิตพึ่งพิงป่า และต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตล้วนเอื้อต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ปลูกข้าว ปลูกผักไว้เพื่อกินเอง หาปลาในหนองน้ำหลังหมู่บ้าน รวมทั้งหาเห็ด หาหน่อไม้จากป่าซึ่งได้รับการดูแลรักษาจากคนรุ่นต่อรุ่นมาเป็นอย่างดี ผลผลิตบางอย่างที่ได้มาหากเหลือก็จะแจกจ่ายเพื่อนบ้าน

บ้านสามขามีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 16,291 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ต้นน้ำประมาณ 12,000 ไร่ แต่ในช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา ห้วยสามขาที่เคยไหลรินตลอดปีในหมู่บ้านกลับแห้งขอด น้ำในอ่างเก็บน้ำบ้านสามขามีปริมาณน้อยและมีตะกอนสะสมมาก ปัญหาทั้งหมดนั้นเกิดจากป่าต้นน้ำถูกทำลาย เพราะไฟป่าที่ชาวบ้านจุดเพื่อให้เกิดผักหวานและเห็ดเผาะ รวมทั้งการล่าสัตว์อย่างหนักที่ทำให้พื้นที่ป่าของชุมชนเกิดวิกฤต

เมื่อความแห้งแล้งของป่าส่งผลกระทบถึงน้ำต้นทุนที่มีน้อยลง การเกษตรของชาวบ้านจึงพลอยได้ผลผลิตไม่ดี เกิดปัญหากับรายได้และหนี้สินของทั้งชุมชน ราษฎรจึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำห้วยสามขา เพื่อไว้ใช้กักเก็บน้ำในการทำเกษตรได้ตลอดปี

“เมื่อก่อนคิดอยากได้ไม้ ก็ตัดไม้ทำลายป่า ไม่รู้ถึงผลเสีย แต่พอมาเจอวิกฤตที่ทุกข์สุดๆ เมื่อปี 2545 ผู้ที่ทำนาก็ทำเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้เก็บเพราะไม่มีน้ำ เราคิดว่าจะพึ่งใครดี จะไปพึ่งชลประทานให้มาช่วยลอกอ่าง เขาบอกใช้งบเยอะไม่ไหว จะไปทำที่ใหม่ที่ก็ไม่มีที่ให้ไป ก็มาปรึกษามาประชุมเปิดเวทีคุยกับคณะกรรมการ พอดีมีผู้ใจบุญบอกให้ไปศึกษาดูงาน ทางโรงเรียนได้พาเด็กๆ ไปดูก่อน พอเด็กไปดูผู้ใหญ่ก็ไปดู ผู้ใหญ่ไปดูกลับมาก็ไม่ทำ แต่เด็กทำ”

ทางชุมชนจึงริเริ่มช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เริ่มจากเยาวชนและชาวบ้าน ร่วมกันสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อฟื้นฟูป่า จัดตั้งชุดเวรยามดูแลดับไฟป่า ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้โดยลงมือทำ แล้วเป็นแกนนำขยายแนวคิดไปสู่เครือข่ายในลุ่มน้ำจาง

“เขาบอกว่าป่าผืนนี้พวกเขาจะช่วยกันรักษาและจะศึกษาว่าใบไม้มีประโยชน์อะไรบ้าง ผมมาเรียนรู้ทีหลังมาดูแล้วน่าจะดีทำพวกนี้ดีพอเราทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้คิดหลายอย่าง พอทำฝายแล้วเด็กทำให้ดูก็ลองทำกับเด็กดู คณะกรรมการบอกว่า ถ้าทำฝายแล้วไม่รักษาดูไฟป่าไม่ต้องทำดีกว่า ปีแรกทำแล้วไฟไหม้พอฝนมาตะกอนลงมาเต็มหมด เวลาฝนตกน้ำไม่ไหลใบไม้ก็เป็นฟองน้ำคอยซับ เราเรียนรู้จากของจริงมันแน่นอนกว่า ทุกวันนี้ดีใจมากมีเยาวชนนักศึกษามาศึกษา พวกผมถ้าว่างๆ จะเข้ามาให้ความรู้เขา”

ชุมชนบ้านสามขาซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ได้เรียนรู้การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำตามแนวทางพระราชดำริ ปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนเห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำ โดยเยาวชนและชาวบ้านร่วมกันสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น สร้างแนวป้องกันไฟป่า ให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการเรียนรู้โดยลงมือทำ แล้วเป็นแกนนำในการขยายแนวคิดการจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่เครือข่ายลุ่มน้ำของชุมชน จนกระทั่งได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ต้นแบบจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย

“ผมดีใจมาก ที่มีคนอื่นมาเรียนรู้ คงจะดีขึ้นเพราะคนหลายบ้านหลายจังหวัดมาศึกษามาเรียนรู้ ความจริงมันเป็นภูมิปัญญา มันมีวิธีบริหารจัดการของมันถ้าพูดให้ชาวบ้านเข้าใจก็ไม่ยาก ต้องอิงวัฒนธรรมแต่ละบ้านแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน บ้านสามขาเป็นบ้านประวัติศาสตร์ตั้งมาหลายร้อยปี เราถือเอาบรรพบุรุษเป็นที่ตั้ง เราถือเป็นประเพณีวัฒนธรรม เวลาวันวิสาขะบูชาก็มาทำบุญสืบชะตาป่า ให้ทางชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมพระก็มาเทศน์ นี่คือวัฒนธรรมของเรา อย่างข้อมูลของป่าต้องเก็บไว้แล้วคืนให้ชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 ชาวบ้านเข้าใจจริงๆ เพียง 20% เท่านั้นแต่เดี๋ยวนี้เข้าใจและร่วมมือร่วมใจกว่า 80% แล้ว"

บุญทัน สุวรรณวงศ์ วัย 62 ปี ชาวบ้านสามขาผู้หนึ่งเล่าว่า ทุกปีในเดือน 9 ของทางภาคเหนือ ชาวบ้านจะนำของมาเซ่นไหว้ “ศาลเจ้าพ่อขุนน้ำ” ที่ตั้งอยู่กลางป่าต้นน้ำของชุมชน เพื่อขอฟ้าฝนตามประเพณี แม้กระทั่งต้นตะเคียนใหญ่อายุนับร้อยปีชาวบ้านก็ให้ความเคารพ ไม่มีใครตัดไม้ในบริเวณนั้น จะมีก็แต่คนถิ่นอื่นที่นำช้างเข้ามาชักลากไม้ที่ลักลอบตัดออกไปจากป่ารอยต่อทางจังหวัดแพร่ ซึ่งมีอาณาเขตติดกัน แม้ว่าทางชาวบ้านจะพยายามจัดหน่วยลาดตระเวนส่งข่าว แต่ก็ยังมีผู้แอบลักลอบเข้ามาตัดไม้ในป่าอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะไม้หอมอย่างกฤษณาที่มีมากในป่าแห่งนี้

-3-

หมอกขาวโรยตัวหนาทึบขณะรถแล่นไปตามเส้นทางคดเคี้ยวที่ตัดผ่านทิวเขาสลับซับซ้อนบนถนนสายลำปาง-เด่นชัย สภาพพื้นที่ของบ้านสามขาเป็นที่ราบต่างระดับ มีภูเขา และป่าไม้ล้อมรอบทำให้ช่วงเวลานี้ของทุกปีของชุมชนบ้านสามขาจะมีอากาศหนาวเย็น

แดดสายแทบไม่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นเท่าใดนัก แม้เมื่อจะออกเดินทางไปยังบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านสามขาแล้ว อากาศก็ยังชุ่มชื้นไปด้วยไอเย็นที่หลงเหลือจากสายหมอกยามเช้า ธรรมชาติของพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เราเห็นยังคงความอุดมสมบูรณ์จนแทบไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่ง บริเวณแถบนี้แทบทั้งหมดเคยเป็นภูเขาหัวโล้นแทบไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่สักต้น

จำนงค์ จันทร์จอม ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านสามขา อธิบายถึงสภาพพื้นที่ทั้งหมดในหมู่บ้านสามขาจำนวนทั้งหมด 16,291 ไร่ ว่าแบ่งออกเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่สาธารณประโยชน์ และพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งแม้ภายหลังทางกรมอุทยานจะพยายามขอเข้ามาจัดการดูแลพื้นที่ป่าในส่วนนี้ แต่ชาวบ้านสามขาก็ยืนกรานว่าพวกเขาจะช่วยกันดูแลอนุรักษ์ผืนป่าบรรพบุรุษที่ฟื้นคืนมาส่วนนี้ด้วยตัวเอง

โดยทางชุมชนได้จัดการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 3 โซน คือ โซน A เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ห้ามตัดไม้ทุกชนิด รวมทั้งห้ามจับปลา แต่สามารถหาของป่าได้, โซน เป็นป่ากันชนรอยต่อระหว่าหมู่บ้านใกล้เคียง หากจะตัดไม้ไปสร้างบ้านเรือนต้องขออนุญาตก่อน และโซน C เป็นป่าตามหัวไร่ปลายนา สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

“เกี่ยวกับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้น มีคนแนะนำแต่ก็ยังลังเล กลัวหลายอย่าง กำลังคิดอยู่ต้องมาศึกษาก่อน มีคนนำเสนอหลายฝ่าย ผมนึกถึงผลเสียไว้ก่อน กลัวเพราะว่าใช้น้ำดื่มกลัวสิ่งสกปรกเกิดขึ้นในพื้นที่ นำคนเข้ามาเยอะๆ ชุมชนจะแตกแยกไหม ผมว่าน่าจะค่อยเป็นค่อยไปก่อนไม่รีบเร่งอยู่อย่างทุกวันก็ดีแล้ว"

ผู้ใหญ่จำนงบอกว่า ชาวบ้านที่นี่อยู่กันอย่างมีความสุข เพราะแทบไม่มีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยใดๆ อาหารก็หาได้ตามธรรมชาติไม่ปรุงแต่งหรือมีสารพิษ เมื่อชุมชนร่วมกันปลูกป่าและสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับป่าได้ จึงทำให้พวกเขาไม่ต้องย้ายออกจากเขตอุทยาน โดยได้มีการกำหนดกฎระเบียบชุมชนในการเก็บหาของป่า และนำวัตถุดิบจากป่ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งมีกฎระเบียบ ร่วมกับอุทยาน ในการดูแลและรักษาป่า

สมวร วงค์จินา วัย 51 ปี ชาวบ้านสามขาที่มีอาชีพหาของป่า บอกเล่าถึงทรัพยากรที่มีในชุมชนให้ฟังว่า นอกจากเป็นป่าต้นน้ำลำธารแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้มีแหล่งดินขาว และผลผลิตจากป่า เช่น ปลี ตาล หอม กระเทียม มะขาม เห็ด ผักหวาน และน้ำผึ้งป่า ซึ่งสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของเขาถึงปีละ 7-8 หมื่นบาท โดยจะมีแม่ค้าจากลำปางมารับไปขายต่อที่ตลาดอีกทีหนึ่ง

“เมื่อก่อนนี้แห้งแล้งมาก เพราะชาวบ้านจุดไฟเผาป่ากันเยอะมาก เขามีความเชื่อว่าหากถูกไฟเผาแล้วผักหวานจะแตกยอดใหม่เร็วกว่าปกติ แต่ตอนนี้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้นว่าพอถึงฤดูมันก็จะแตกยอดออกมาใหม่เอง หรือหากจะเร่งก็ใช้วิธีเอาไฟแช็คจุดลนเฉพาะใกล้ๆ ต้น ให้ใบแก่มันเฉาแล้วผลัดใบใหม่ ไม่ใช่เผาไปหมดทั้งป่าอย่างเมื่อก่อน”

เพราะความรู้จักความพอเพียง ไม่โลภ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน โดยยึดถือตำนานของหมู่บ้านเป็นบทเรียนสอนใจ ทำให้ชาวหมู่บ้านสามขาในทุกวันนี้ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านอุดมคติเก่าแก่อายุนับร้อยปี รวมทั้งเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จควบคู่กันอย่างน่าชื่นชม

ดังเช่นข้อคิดที่ชาวหมู่บ้านสามขาบอกทิ้งท้ายกับเราว่า

“ธรรมชาติคนที่หากินกับป่า อยู่กับป่าจะรู้ ถ้าเราเก็บไปหมดไม่รู้จักพอเพียง ต่อไปก็จะไม่เหลืออะไรไว้ให้เก็บกินอีก ความพออยู่พอกิน ไม่ใช่แค่ปลูกพริกมะเขือกินเองเท่านั้น แต่ต้องพอเพียงด้านจิตใจด้วย”





ฝายแม้ว หรือฝายชะลอความชุ่มชื้นแก่ป่าต้นน้ำลำธารของชาวบ้านสามขา
อ่างเก็บน้ำห้วยสามขา


ช่วยกันสร้างฝายแม้ว
ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และจัดเวรยามระวังไฟป่า

ภาพการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในอดีตของชุมชนบ้านห้วยสามขา


ป่าอันอุดมสมบูรณ์เหลือเพียงภูเขาหัวโล้น
ความอุดมสมบูรณ์ที่ฟื้นคืนกลับมา

ผักหวานป่า

กำลังโหลดความคิดเห็น