เสนอโรดแม็ป "ไบโอพลาสติก" เข้า ครม.22 ก.ค.นี้ สนช.และเครือข่ายพันธมิตรพลาสติกชีวภาพตั้งตารอรัฐบาลหนุนอย่างเป็นทางการ ปีหน้าเตรียมศึกษาเพื่อจัดตั้งโรงงานต้นแบบ หวังผลิตเม็ด PLA ให้ได้หมื่นตันต่อปี พร้อมตั้งนิคมฯ -แล็บวัดคุณภาพ ให้ไทยตอบสนองความต้องการของตลาดโลกแบบครบวงจร
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดการประชุมสัมมนา "กรอบการวิจัยพลาสติกชีวภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 2" เมื่อวันที่ 21 ก.ค.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีนักวิจัยและผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 100 คน และมีสื่อมวลชนรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ร่วมสังเกตการณ์
ในการประชุมครั้งนี้ ดร.วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการนวัตกรรม สนช. กล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติกในประเทศไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเรามีศักยภาพในด้านวัตถุดิบ ในการผลิตพลาสติกชีวภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และจัดว่าเป็นประเทศที่มีชีวมวลมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากบราซิล และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็มีความพร้อมในส่วนของโรงงานแปรรูปวัตถุดิบในระดับต้นน้ำ และโรงงานขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ซึ่งอยู่ระดับปลายน้ำ
ทว่าสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ในตอนนี้คือ โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ซึ่งผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของไทยต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพปีละไม่ต่ำกว่า 300 ตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ และจีน ซึ่งนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนมาก ทำให้ต้นทุนของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในประเทศไทยยังคงสูงอยู่
ดร.วันทนีย์ เผยอีกว่า ทาง สนช. ได้เริ่มศึกษาเพื่อพัฒนางานวิจัย, เทคโนโลยี และศักยภาพของประเทศไทยที่จะผลิตพลาสติกชีวภาพได้ตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำมาตั้งแต่ปี 2546 พร้อมทั้งได้ร่วมมือกับ วช. ในโครงการ “สานเกลียววิจัยคู่นวัตกรรม: สนับสนุนการวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพ”
กระทั่งในปี 2549 ก็ได้เริ่มจัดทำแผนที่นำทาง (โรดแม็ป) “การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” ซึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้วภายหลังจากนั้นในระยะเวลา 1 ปี และเตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 ก.ค. 2551 เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาให้การสนับสนุนต่อไป
ทั้งนี้ แผนที่นำทางดังกล่าวครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 2551-2555 ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบ ใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท, กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยพัฒนาและสร้างเทคโนโลยี งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท, กลยุทธ์ที่ 3 การสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ งบประมาณ 500 ล้านบาท และ กลยุทธ์ที่ 4 การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ด้วยงบประมาณราว 200 ล้านบาท
"หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย เพราะสิ่งนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังและอ้อยได้มากถึง 10 เท่า อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานในการผลิตต่ำกว่า และทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี" ดร.วันทนีย์ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์
"ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถย่อยสลายได้ในสภาพธรรมชาติในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งหากมีการจัดการกับขยะอย่างเป็นระบบ ก็สามารถนำขยะพลาสติกชีวภาพเหล่านั้นมาหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือก๊าซชีวภาพ แล้วนำไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีก ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นเขาก็จัดการกับขยะพลาสติกชีวภาพด้วยวิธีการลักษณะนี้" ดร.วันทนีย์ กล่าว
ดร.วันทนีย์ กล่าวต่ออีกว่า หากแผนที่นำทางดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ทางพันธมิตรด้านพลาสติกชีวภาพ ก็จะเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างโรงงานต้นแบบ สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทันที ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ที่ 3 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปีหน้า
อีกทั้ง ขณะนี้พิจารณาไว้บ้างแล้วว่าจะสร้างโรงงานต้นแบบที่มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดพีแอลเอ (PLA) 10,000 ตัน/ปี ซึ่งก็มีเอกชนหลายรายที่สนใจให้ความร่วมมือ ส่วนพื้นที่ในการก่อสร้างโรงงานหากตั้งอยู่ในภาคตะวันออกน่าจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากแหล่งปลูกมันสำปะหลัง และมีท่าเรือที่สะดวกในเรื่องของโลจิสติกส์
"ตั้งแต่ปี 2548 ตลาดพลาสติกชีวภาพทั่วโลกเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ส่วนความต้องการของตลาดโลกขณะนี้สูงถึง 8 แสนตัน/ปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ล้านตันในปี 2553 หากประเทศไทยเรามีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเป็นของตัวเอง ก็จะทำให้เรามีอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศได้มากทีเดียว" ดร.วันทนีย์ กล่าว
นอกจากนี้ สนช. ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจทางด้านพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร รวมทั้งกำลังศึกษาเทคโนโลยีในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานระดับสากล สำหรับตรวจสอบและให้การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต.