xs
xsm
sm
md
lg

มอ.เป็นเจ้าภาพดึงงานวิจัย เสริมศักยภาพ 3 ธุรกิจเด่นใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมนี (GTZ) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำโครงการแผนที่และจับคู่นวัตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ยางพารา และกุ้ง
ผู้จัดการรายวัน-มอ. เตรียมเป็นสื่อกลางจับคู่นักวิจัยและผู้ประกอบการ ให้หันมาร่วมมือกันผลักดันธุรกิจด้วยนวัตกรรม เน้น 3 ธุรกิจหลัก กุ้ง ปาล์ม ยางพารา สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัย ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จ. สงขลา ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา, สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมนี (GTZ) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำโครงการแผนที่และจับคู่นวัตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ยางพารา และกุ้ง อันเป็นจุดเด่นของภาคใต้ให้มีศักยภาพมากขึ้น และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการ ในการแก้ปัญหาที่มักเกิดขึ้นในธุรกิจดังกล่าว
       
       รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รอง ผอ.ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สวทช. กล่าวว่า โครงการทำแผนที่นวัตกรรมและการจับคู่ธุรกิจนวัตกรรมนี้เกิดขึ้น ด้วยจุดประสงค์ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีต่างๆ และช่วยพัฒนาทักษะของภาคเอกชน ในการทำธุรกิจและแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมนี เริ่มด้วยการสำรวจความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านน้ำมันปาล์มและยางพาราในจังหวัดกระบี่และสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเรื่องดังกล่าว
       
       สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปกุ้งจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน แต่ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ จากนั้นจะเร่งสร้างแผนที่นำทางเทคโนโลยี นำผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่วมกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรและให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
       
      
 ด้าน ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผอ.ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มอ. เผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยสามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้ราว 1.5 ตันต่อไร่ ขณะที่มาเลเซียผลิตได้มากถึง 4 ตันต่อไร่ ซึ่งทำให้เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความรู้เรื่องปาล์มมากขึ้น ซึ่งต้องเริ่มจากทำความเข้าใจถึงปัญหาของอุตสาหกรรมว่า ยังขาดเรื่องใดหรือมีความต้องการด้านไหนเพิ่มเติม
       
       อีกทั้ง ตอนนี้ก็มีนักวิจัยที่พร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของพันธุ์ปาล์มที่ดี การจัดการสวนปาล์มและกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มที่มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การใช้ประโยชน์ของสารสำคัญที่มีอยู่ในน้ำมันปาล์ม เช่น เอทานอล วิตามินอี แคโรทีนอยด์ เป็นต้น

"เราจะเริ่มใช้จังหวัดกระบี่เป็นฐาน เพราะมีความเข้มแข็งในเรื่องของปาล์มน้ำมัน มีนโยบายที่ชัดเจนของจังหวัด แม้ว่าการดำเนินการที่มีอยู่จะยังไม่ครอบคลุมงานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็มาจากมาเลเซีย เช่น เครื่องเก็บเกี่ยว เสียม เป็นต้น แต่ใม่ใช่ว่าเราจะนำเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาแทนที่ จะเน้นการให้ความรู้ทางวิชาการแก่เกษตรกรมากกว่า เพื่อให้มีการจัดการสวนปาล์มที่ดี ปลูกปาล์มอย่างครบวงจร และใช้ประโยชน์จากปาล์มอย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ใช้ทางปาล์มเป็นอาหารเลี้ยงแพะ ส่วนยางพาราก็อาจเน้นทางด้านการวิจัยประโยชน์ของน้ำยาง เช่น ศึกษาว่ามีสาระสำคัญอะไรที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้น้ำยางได้ เบื้องต้นนี้ มีเกษตรกรทำสวนปาล์มเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 150 ราย " ผศ.คำรณ กล่าว
       
       ส่วนในเรื่องของอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ผศ.ดร.จักรี ทองเรือง คณะอุตสาหกรรมเกษตร มอ. เผยว่า ได้เริ่มทำข้อมูลพื้นฐานของโครงสร้างในอุตสาหกรรมกุ้งแล้ว พบว่า กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งใน จ. สุราษฎร์ธานี มีความเข้มแข็งมากที่สุด และเบื้องต้นพบว่าเกษตรกรมีความต้องการเครื่องจักรสำหรับตีน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง การจัดการบ่อกุ้ง การแก้ปัญหาอาหารกุ้ง โรคกุ้ง และการแปรรูปกุ้ง
       
       "อาหารที่ใช้เลี้ยงแม่พันธุ์กุ้งคือเพรียงทราย ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมักจับเพรียงมาจากทะเล ทำให้มีจำนวนในธรรมชาติลดลง อีกทั้งอาจเป็นสาเหตุนำโรคมาสู่กุ้งได้ ซึ่งต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเพรียงทรายควบคู่กันด้วย และกุ้งที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นกุ้งขาว จึงเป็นปัญหาในการทำให้กุ้งเป็นสีแดง และมีสีเหมือนกันทั้งบ่อ ตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการลวกกุ้งให้สุกทั่วทั้งตัวและสุกเท่ากันทุกตัว ตลอดจนพัฒนาการใช้ประโยชน์จากไคโตซาน ซึ่งมีมากในเปลือกกุ้ง จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ของเหลือทิ้งได้อย่างดี" ผศ.ดร.จักรี แจง
       
       ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแผนที่นวัตกรรมและธุรกิจนวัตกรรมดังกล่าว มีหน้าที่เปรียบเสมือนสื่อกลางที่จะดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในอุตสาหกรรมหรือเกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมกับผลักดันให้เกิดงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรได้ดียิ่งขึ้น ในเบื้องต้นของโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น