ศูนย์ข่าวขอนแก่น-"ซิป้า" รุกช่วยผู้ประกอบการรถบรรทุกอีสาน เพิ่มประสิทธิภาพขนส่งสินค้าในยุคน้ำมันแพง รุกใช้เทคโนโลยีไอซีทีประยุกต์ใช้บริหารจัดการธุรกิจ เตรียมพัฒนาซอฟต์แวร์รองรับ พร้อมนำเทคโนโลยี RFID มาปรับใช้ หวังลดการสูญเสียจากการขนส่งให้ต่ำที่สุด แก้ปัญหาตีรถเปล่าที่มีกว่า 20% ทั้งการขึ้น-ลงสินค้าทำได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เบื้องต้นในระยะศึกษามี 15 บริษัทขนส่งสินค้าภาคอีสานเข้าร่วม ก่อนขยายผลให้ครอบคลุมทั้งสมาชิก 478 ราย หรือรถบรรทุกกว่า 9,700 คัน ทั้งเป็นต้นแบบใช้ขยายผลในกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกทั้งประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สาขาขอนแก่น จัดพิธีลงนามความร่วมมือ ตามโครงการ Khonkaen พัฒนาระบบงานสำหรับการประยุกต์ใช้ RFID (Radio Frequency Identification )แก่ผู้ประกอบการขนส่งไทย และโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ Open Source ERP สำหรับสมาชิกในสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน โดยมีนายปราโมทย์ กงทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน ลงนามร่วมกับผู้บริหารซิป้า ณ ห้องเอราวัณ โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
นายสมพล หิรัญญสุทธิ์ เลขาธิการ สมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า ตามกรอบความร่วมมือพัฒนาซอฟต์แวร์และประยุกต์ใช้ RFID กับสมาคมรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน ในระยะเริ่มต้นมีผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าอีสานเข้าร่วม 15 ราย ที่พร้อมให้ความร่วมมือจัดทำฐานข้อมูลปริมาณการรับงาน ปริมาณรถบรรทุก ประเภทสินค้า จุดขึ้น-ลงสินค้า เส้นทางเดินรถ ระยะเวลาวิ่ง รวมถึงข้อมูลอื่นๆ แลกเปลี่ยนฐานข้อมูลและจัดส่งให้กับบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน ประสบปัญหาต้นทุนการดำเนินงานสูง จากผลพวงของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วมาก ล่าสุดดีเซลสูงถึง 42 บาท/ลิตร จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการขนส่งสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคุ้มค่ากับน้ำมันทุกหยดที่ใช้ไป
“การให้บริการขนส่งสินค้าของสมาชิกในกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสาน ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการจะว่าจ้างขนส่งสินค้าเกษตรจากภาคอีสาน ลงกรุงเทพฯและภาคกลาง ส่วนขาขึ้นจะขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภคกลับมายังภาคอีสาน แต่กรณีขาขึ้นรถบรรทุกจะไม่สามารถบรรทุกสินค้ากลับมาได้ครบทุกคัน ปัญหาวิ่งรถเปล่ากลับมายังภาคอีสาน ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงโดยเปล่าประโยชน์ เฉลี่ยแล้วจะมีรถเปล่าประมาณ 20%”นายสมพล กล่าวและว่า
โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำมันแพง การตีรถเปล่ากลับมารับสินค้ายังภาคอีสาน จะทำให้ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการสูงมาก การปรับตัวรับสถานการณ์น้ำมันแพงล่าสุด ผู้ประกอบการรถบรรทุกพยายามลดปริมาณตีรถเปล่ากลับให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการจอดรถบรรทุกสินค้าหยุดรอขนสินค้ากลับ เฉลี่ยต้องรอขนสินค้าประมาณ 2-7 วัน ทำให้เสียโอกาสในการรับงานใหม่ สร้างรายได้ไม่เต็มที่
เลขาธิการ สมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน กล่าวว่า สมาคมเชื่อมั่นว่า การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาประยุกต์ใช้ในกิจการขนส่งสินค้า จะช่วยลดการสูญเสีย โดยเฉพาะการวิ่งรถเปล่ากลับมายังภาคอีสานลดลงได้ เนื่องจากจะมีฐานข้อมูลและระบบจัดการที่ทันสมัย มาช่วยบริหารจัดการการขนส่งสินค้าในกลุ่มสมาชิกดีขึ้น ไม่ต้องวิ่งรถเปล่า ลดการวิ่งทับซ้อนเส้นทาง จุดขึ้นลงสินค้าแม่นยำ ฯลฯ
ที่สำคัญจะช่วยสร้างรายได้จากการประกอบการได้สูงขึ้น ถือเป็นโครงการนำร่อง ที่เริ่มต้นศึกษาระยะแรก 15 บริษัท หากเกิดความชัดเจนของการจัดการข้อมูลและการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี RFID ได้สมบูรณ์ จะขยายฐานความร่วมมือให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสานทั้ง 478 ราย หรือรถบรรทุกกว่า 9,700 คัน เข้าสู่ระบบเดียวกัน ถือเป็นโครงการนำร่อง ที่อาจนำไปใช้ขยายผลในกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าทั้งประเทศได้
ด้านนายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้จัดการสาขาขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามกรอบความร่วมมือดำเนิน โครงการพัฒนาระบบงานสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID แก่ผู้ประกอบการขนส่งไทย ที่มีผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสาน , สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมดำเนินโครงการนั้น
ซิป้าจะผลักดันให้ สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามารับผิดชอบพัฒนาซอฟต์แวร์รองรับการใช้เทคโนโลยี RFID ในกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสาน โดยจะมีการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่มารองรับแชร์ข้อมูลจากผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน ร่วมกันใช้ให้เกิดประโยชน์ในกิจการขนส่งสินค้าภาคอีสาน
ประโยชน์ที่จะเกิดตามโครงการดังกล่าว เป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยตรง ให้เกิดการขยายตัวและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน จะได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี RFID มาช่วยในการบริหารจัดการขนส่งสินค้าในยุคที่ประสบปัญหาน้ำมันแพง ลดการสูญเสียด้านต่างๆลง สร้างผลกำไรเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการรถบรรทุก
ที่ผ่านมาซิป้าขอนแก่น ประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการ ERP/Logistic ข้าวหอมมะลิสูงมาก การนำเทคโนโลยีไอซีที มาประยุกต์ใช้กับห่วงโซ่อุปทานข้าวหอมมะลิ ตั้งแต่ต้นทางเกษตรกรที่ปลูกข้าว ครอบคลุมจนถึงผู้บริโภคข้าวหอมมะลิปลายทาง สามารถลดการสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจและสร้างผลกำไรในการค้าข้าวหอมมะลิสูงขึ้น และที่สำคัญช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ตามโครงการดังกล่าว จะนำซอฟต์แวร์กลางที่พัฒนาขึ้น เชื่อมโยงข้อมูลทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในลักษณะ Real Time ด้วยข้อมูลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Data Interchange : EDI ทั้งสหกรณ์การเกษตรผู้ผลิตข้าวเปลือก โรงสีข้าวผู้ค้า และบริษัทขนส่งสินค้า เพื่อติดต่อซื้อขาย จ่ายเงิน การขนส่งสินค้า จึงลดการสูญเสียและต้นทุนการติดต่อโทรศัพท์ แฟกซ์เอกสารรับออเดอร์ ฯลฯ