xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมยาไทยเพิ่งเริ่มไปนอก ทั้งที่มีนโยบายระดับชาติมากว่า 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี
รองเลขาฯ สภาอุตสาหกรรมฯ ระบุยาไทยเพิ่งเริ่มไปนอก ทั้งที่มีนโนบายประเทศมากว่าทศวรรษ อีกทั้งสถิติทะเบียนยานำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในรอบ 10 ปี ส่วนยาที่ผลิตในประเทศเพิ่มไม่ถึง 3 เท่า ชี้รัฐต้องส่งเสริมทั้งวิจัยและพัฒนา รวมทั้งส่งออก หากคิดบุกตลาดจีน อินเดีย ต้องเอาคุณภาพเข้าสู้ เผยขณะนี้กำลังเร่งดันยาไทยให้ได้ไปนอกจริงจัง แต่ยังต้องลุ้นผลลอีก 2-3 ปี

ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอุปนายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันหรือทีพีเอ็มเอ (Thai Pharmaceutical Manufacturers Association: TPMA) ได้บรรยายเรื่อง "ยาไทย...ไปนอก???" ในงานทีเซลส์เดย์ (TCELS Day) เมื่อวันที่ 29 พ.ค.51 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ทั้งที่ประเทศไทยมีนโยบายแห่งชาติด้านยามากว่า 10 ปีแล้ว และขณะนี้ทางทีพีเอ็มเอก็กำลังเร่งผลักดันให้ยาไทยได้ไปนอกจริงโดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ความร่วมมือ

ดร.นิลสุวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันรวม 144 แห่ง โดยอยู่ในกรุงเทพฯ 102 แห่ง และในจังหวัดใกล้เคียงอีก 42 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นขนาดกลาง และไทยมีการส่งออกยาราว 7-10% จากอุตสาหกรรมส่งออกทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมยาที่จะส่งออกได้ต้องเป็นอุตสาหรรมขนาดกลางขึ้นไปด้วย

"เมื่อย้อนกลับไปดูในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเห็นว่าประเทศไทยมีนโยบายแห่งชาติด้านยาบรรจุอยู่ในแผนฯ 7 (2535-2539) ซึ่งระบุว่าต้องพัฒนาอุตสาหกรรมยาโดยเน้นที่การวิจัยและพัฒนา และส่งเสริมการส่งออก ซึ่งกว่าจะได้ยาดีๆ ที่นำมาใช้ได้แต่ละชนิดต้องวิจัยและพัฒนากันเป็น 10 ปี และไทยก็มีนโยบายนี้มาแล้วเมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่พอถึงปี 2549 ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น" ดร.นิลสุวรรณ เผย

"ยาทุกชนิดต้องขึ้นทะเบียนยาในทุกประเทศที่มีการจำหน่ายยาชนิดนั้น โดยในประเทศไทยเมื่อปี 2533 มีทะเบียนยานำเข้าจำนวน 352 ชนิด ส่วนที่ผลิตได้ในประเทศมี 7,024 ชนิด และเมื่อถึงปี 2551 จำนวนทะเบียนยานำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 4,831 ชนิด"

"ส่วนที่ผลิตเองในประเทศเพิ่มเป็น 19,092 ชนิด ซึ่งแม้ที่ผลิตได้ในประเทศจะมากกว่า และเมื่อเปรียบเทียบอัตราที่เพิ่มขึ้น จำนวนทะเบียนยานำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่าหลายเท่าตัว และจำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันทางการค้ามากขึ้นและการเปิดการค้าเสรีระหว่างประเทศ" ดร.นิลสุวรรณแจกแจงรายละเอียด ซึ่งในอนาคตประเทศไทยก็จะมีการเปิดเขตการค้าเสรีกับอีกหลายประเทศและเปิดโอกาสให้ไทยได้ขยายการส่งออกยาได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ดร.นิลสุวรรณ บอกว่าอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย เริ่มต้นมาจากการพัฒนาสูตรตำรับยา มาจากยาสิทธิบัตรที่มีอายุเกิน 20 ปีแล้ว ยังไม่มีขีดความสามารถในการพัฒนาแบบครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและพัฒนา ซึ่งภาครัฐต้องให้การส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และหากจะลงทุนในอุตสาหกรรมส่งออกยาต้องดูพฤติกรรมการใช้ยาของผู้บริโภคด้วยว่าตรงกับยาที่เราจะผลิตหรือไม่ และไทยสามารถแข่งขันได้หรือไม่

ดร.นิลสุวรรณ ยกตัวอย่าง 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีน อินเดีย และจีน ซึ่งอินโดนีเซียนั้นสามารถผลิตยาราคาถูกได้เอง มีจำนวนประชากรมาก แสดงว่าตลาดใหญ่พอสมควรและยิ่งจะทำให้ราคายาถูกลงอีก อีกทั้งประชาชนของอินโดนีเซียไม่นิยมซื้อยาของต่างประเทศ จึงทำให้ยาไทยที่ราคาแพงกว่าอาจขายไม่ได้ในอินโดนีเซีย

เมื่อมองมาที่อินเดียและจีนที่ผลิตยาราคาถูกได้, มีจำนวนประชากรมาก, มีเทคโนโลยี และมีวัตถุดิบในประเทศ ขณะที่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบยาจากต่างประเทศทำให้เสียเปรียบมากกว่า แต่ยาไทยสามารถแข่งขันกับของจีนและอินเดียในเรื่องของคุณภาพได้

ทว่ายาไทยที่ส่งเข้าไปจีนและอินเดียย่อมราคาแพงกว่าเพราะมีค่าขนส่ง ฉะนั้นจึงต้องมีการพัฒนาในด้านโลจิสติกส์ด้วยเพื่อให้ยามีราคาถูกลงไปได้อีก ซึ่งหากเป็นดังที่กล่าวยาไทยก็จะสามารถไปนอกได้แน่นอน

ดร.นิลสุวรรณ เพิ่มเติมว่า ในปี 2552 ไทยจะใช้วิธีการขึ้นทะเบียนยาแบบเอซีทีดี (ACTD: ASEAN Common Technical Dossier) ซึ่งขึ้นทะเบียนยาครั้งเดียวสามารถใช้ได้ทันทีใน 10 ประเทศสมาชิกของอาเซียน

ส่วนการส่งออกไปประเทศต่างๆ นอกเหนือจากนี้ ไทยก็กำลังจะนำมาตรฐานการตรวจสอบจีเอ็มพี (GMP) ที่เรียกว่า พีไอซี/เอส (PIC/S: Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) ของสหภาพยุโรปมาใช้ ซึ่งจะทำให้มีการตรวจสอบจีเอ็มพีเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้เป็นการรับรองในระดับสากลได้เลย

ในตอนท้าย ดร.นิลสุวรรณ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ขณะนี้การส่งออกยาไทยไปต่างประเทศถือว่าเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น แม้ว่าจะมีนโยบายแห่งชาติมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที

ฉะนั้นสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันจึงต้องหันมาเร่งดำเนินการต่อเรื่องนี้กันเองอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้ทาง อย. ก็ร่วมมือกับเราแล้ว แต่ผลจะเป็นอย่างไรนั้นต้องรอดูอีกสัก 2-3 ปี ซึ่งยาไทยจะไปนอกได้ ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสนใจกับเรื่องนี้ด้วย

อีกทั้งในอนาคตอันใกล้ยาสามัญที่ผลิตออกมาจะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากจะต้องมีการแสดงผลประสิทธิภาพการรักษาได้เทียบเท่ากับยาต้นแบบนอกเหนือจากมาตรฐานคุณภาพในระดับสากล

ทั้งนี้ ยาที่ถูกวิจัยพัฒนาขึ้นมาจะต้องมีสิทธิบัตรคุ้มครองเป็นเวลา 20 ปี หลังจากนั้นผู้อื่นจึงจะสามารถผลิตยาดังกล่าวได้โดยการพัฒนาสูตรตำรับยาดังกล่าวและผลิตเป็นยาชื่อสามัญพร้อมกับขึ้นทะเบียนยาและจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไปได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น