xs
xsm
sm
md
lg

ยุ่นเตรียมกลั่น "เบียร์อวกาศ" ล็อตแรก ประเดิม 100 ขวดปลายปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักศึกษาสาวชาวรัสเซียจากมหาวิทยาลัยโอคายามา ถือมัดข้าวบาร์เลย์อวกาศรุ่นแรกโชว์สื่อมวลชนระหว่างการแถลงข่าวโครงการผลิต เบียร์อวกาศ ของซัปโปโร โฮลดิงส์ บริษัทผู้ผลิตเบียร์ในญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2551 (AFP)
เรื่องไอเดียสุดล้ำไม่มีใครเกินพี่ยุ่น ล่าสุดเตรียมผุด "เบียร์อวกาศ" ที่ผลิตจากข้าวบาร์เลย์อวกาศ หวังเอาใจนักท่องอวกาศและนักบินอวกาศให้ได้พักผ่อนหย่อนใจพร้อมจิบเบียร์เย็นๆ ตั้งเป้าผลิตให้ได้ 100 ขวด ปลายปีนี้

ซัปโปโร โฮลดิงส์ (Sapporo Holdings) บริษัทผู้ผลิตเบียร์ในประเทศญี่ปุ่นเกิดปิ๊งไอเดีย "เบียร์อวกาศ" ซึ่งจะนำข้าวบาร์เลย์อวกาศรุ่นที่ 3 มาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งเป็นข้าวบาร์เลย์ที่ขยายพันธุ์มาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ที่ถูกนำขึ้นไปทดลองปลูกบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) เมื่อปี 2549 เป็นเวลา 5 เดือน โดยวางแผนไว้ว่าจะผลิตเบียร์อวกาศชุดแรกให้ได้ภายในเดือน พ.ย. 2551 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับมนุษย์ที่จะขึ้นไปใช้ชีวิตบนอวกาศมากขึ้นในอนาคต

"พวกเราตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตเบียร์อวกาศให้เสร็จภายในเดือน พ.ย. ปีนี้ ซึ่งจะกลายเป็นเบียร์อวกาศชุดแรกของโลก" จุนอิชิ อิชิคาวา (Junichi Ichikawa) ผู้บริหารของซัปโปโร โฮลดิงส์ เผยกับผู้สื่อข่าว ซึ่งทางบริษัทเตรียมผลิตเบียร์อวกาศชุดแรกจำนวน 100 ขวด แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้วางแผนว่าจะขายทันทีหรือไม่

รายงานจากสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่าโครงการผลิตเบียร์อวกาศดังกล่าวทางซัปโปโร โฮลดิงส์ ได้ร่วมกันกับมานาบุ ซูกิโมโตะ (Manabu Sugimoto) นักชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยโอคายามา (Okayama University) ซึ่งเป็นนักวิจัยในโครงการอวกาศของรัสเซียที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเพาะปลูกพืชอาหารบนอวกาศ

ซูกิโมโตะ อธิบายว่า ข้าวบาร์เลย์นั้นสามารถปลูกได้ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างทรหด เช่น ที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือต่ำ และยังอุดมไปด้วยเส้นใยและคุณค่าทางโภชนาการ ฉะนั้นจึงเป็นพืชในอุดมคติสำหรับนำไปปลูกในอวกาศอย่างยิ่ง

"ในอนาคตมนุษย์เราอาจมีช่วงเวลาทำกิจกรรมหรือพักผ่อนหย่อนใจบนอวกาศยาวนานมากขึ้น ซึ่งจำต้องมีการเพาะปลูกพืชอาหารเพื่อเอื้ออำนวยให้พวกเราดำรงชีพอยู่บนอวกาศได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง" ซูกิโมโตะ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ นักวิจัยไม่พบว่ามีความแตกต่างใดๆ ระหว่างข้าวบาร์เลย์ที่ปลูกบนโลกกับข้าวบาร์เลย์ที่นำขึ้นไปปลูกบนสถานีอวกาศ ซึ่งซูกิโมโตะกำลังจะนำเสนอผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของข้าวบาร์เลย์อวกาศในงานประชุมวิชาการที่ประเทศแคนาดาเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งซูกิโมโตะบอกว่า พวกเขาหวังไว้ในระยะยาวว่างานวิจัยในอวกาศของเขาจะไม่ใช่แต่เพียงแค่การผลิตอาหารเท่านั้น แต่จะเป็นอาหารที่ให้ความเพลิดเพลินและผ่อนคลายแก่ผู้ที่ได้ลิ้มรส และการทดลองนี้นับเป็นการทดลองบนอวกาศที่เกี่ยวกับอาหารเป็นเรื่องล่าสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น