ไม่ว่าเสียงระเบิดจาก "เชอร์โนบิล" จะสิ้นไปนับสิบปี แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นก็ยากที่จะให้ใครลืมภาพ "ผีร้าย" ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงได้ แม้ว่านักวิชาการในวงการนิวเคลียร์ทั้งหลาย จะออกโรงชี้แจงว่าเทคโนโลยีแบบเชอร์โนบิล ไม่มีใครเขาใช้กันแล้วในปัจจุบัน
ล่าสุด ผศ.ปรีชา การสุทธิ์ นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง "นิวเคลียร์กับการรับรู้ของประชาชน" ที่จัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค.51 ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมฟังการเสวนาครั้งนี้ด้วยว่า ตอนนี้มีความพยายามให้ความรู้ประชาชน มากที่สุดกว่าที่เคย แต่ประชาชนก็ยังมองถึงภาพหลอน และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลตลอดเวลา
"ในสารานุกรมไทยหรือหนังสือเรียน ก็มีเรื่องนิวเคลียร์ แต่เราอ่านกันหรือเปล่า ตอนนี้เชอร์โนบิลไม่ใช่โรงไฟฟ้า แบบที่จะใช้เชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปัจจุบันที่ใช้กัน ได้รับการพิสูจน์ทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยแล้ว" ผศ.ปรีชากล่าว
อีกทั้งเขายังเผยในภายหลัง กับผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่าได้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อเดินสายประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เรื่องพลังงานนิวเคลียร์แก่ประชาชนทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดีนายกสมาคมนิวเคลียร์ฯ เผยว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศที่ทำประชามติรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างล้มเหลวหมด โดยหากจะทำประชามติ ก็ต้องทำให้ประชาชนทุกคนมีความรู้เรื่องนิวเคลียร์ ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องมีความรู้ระดับวิศวกรนิวเคลียร์
"ฝรั่งเศสทำประชามติประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เอา แต่ก็สร้าง วิธีทำคือต้องมีเหตุผล ต้องให้ข้อมูลที่แท้จริง ไม่ใช่พูดเรื่องเชอร์โนบิลหรือองค์รักษ์ (ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ ซึ่งเป็นปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ)"
"ในเมื่อของในบ้านเราไม่มี แต่จะบอกว่าสิ่งที่เกิดในบ้านเขาจะเกิดในบ้านเราได้อย่างไร เราต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา" ผศ.ปรีชากล่าว พร้อมทั้งระบุว่า ควรกำหนดให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นนโยบายของชาติ ไม่ใช่เป็นแค่แผนพัฒนาพลังงาน
ต่อความเห็นดังกล่าวนายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งร่วมในการเสวนาครั้งนี้ด้วยแย้งว่า การจะตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิวเคลียร์นั้น จะกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งชาติ โดยไม่โยงกับนโยบายอื่นไม่ได้ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องไม่ถูก ที่จะกำหนดเป็นแผ่นแห่งชาติโดยไม่ฟังการตัดสินใจทางการเมือง
พร้อมทั้งย้ำถึงประเด็น ที่ทางกรีนพีซพยายามจะชี้ให้เห็นต่อกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทย ที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550-2564 (พีดีพี2007) อาทิ ในส่วนของงบประมาณซึ่งมาจากส่วนหนึ่งของกองทุนอนุรักษ์พลังงานนั้น ที่ถูกต้อง แล้วควรนำไปทำอย่างอื่นดีกว่าหรือไม่
หรือในส่วนของแผนการสื่อสารที่ใช้เงินปีละกว่า 100 ล้านบาทเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนิวเคลียร์ให้ประชาชนนั้นต้องเสนอข้อมูลรอบด้านอย่างแท้จริงเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ดร.อภิสิทธ์ ปัจฉิมพัทธพงษ์ จากกองวิศวกรรมนิวเคลียร์ ฝ่ายวิศวกรรมเครื่องกล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเข้าร่วมเสวนาของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมนี้ด้วย กล่าวถึงการเตรียมพร้อมในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยว่า ตามแผนพีดีพีต้องเตรียมความพร้อม 3 ปีก่อนตัดสินใจเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ในส่วนบุคลากรก็มีการเตรียมความพร้อมไว้บ้าง รวมทั้งการหาสถานที่ตั้งที่เหมาะสมซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นที่ไหน แต่โดยคร่าวๆ คือพื้นที่ติดทะเลเพื่อใช้ในการระบายความร้อนของโรงไฟฟ้า
สำหรับการเสวนาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในครั้งนี้ ทางชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมจะได้นำข้อมูลไปใช้ในการเขียนบทความในหนังสือ "เมื่อปลาจะกินดาว" ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมบทความเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในฉบับถัดไป.