xs
xsm
sm
md
lg

"ซอฟต์แวร์วัดไข้" หาคนป่วยผ่านอินฟาเรด ฝีมือนักวิจัยเนคเทค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร สาธิตการใช้งานของชุดอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายโดยไม่ต้องสัมผัสโดยมีคณะแพทย์ของ รพ.ราชวิถี ให้ความร่วมมือ
ปรอทวัดไข้ต้องหลีกทางให้ "ซอฟต์แวร์วัดไข้" ชั่วคราว เพราะนักวิจัยเนคเทค พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้ไช้ร่วมกับกล้องอินฟาเรดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สำหรับคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นได้ทีละหลายคนพร้อมกัน เพียงแค่เดินผ่านหน้ากล้อง พร้อมส่งต่อซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ต้นแบบให้โรงพยาบาลราชวิถีทดลองใช้เป็นแห่งแรก

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี จัดพิธีรับมอบโปรแกรมสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิระยะไกล เมื่อวันที่ 23 พ.ค.51 ที่โรงพยาบาลราชวิถี โดยโปรแกรมดังกล่าวเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาของ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ และนักวิจัยอาวุโสของเนคเทค สำหรับใช้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยไข้ และอุณหภูมิร่างกายสูงเกินปกติออกจากคนปกติในเบื้องต้น

ดร.ศรัณย์ อธิบายว่า โดยปกติการวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วย จะต้องมีการสัมผัสกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะวัดโดยปรอทวัดไข้หรือเครื่องวัดอุณหภูมิที่เสียบเข้าที่รูหู ซึ่งวัดได้ทีละคน และทำให้ช้า ผู้ถูกวัดเกิดความรำคาญ และอาจมีของเสียติดอยู่กับเครื่องมือวัดได้ ทำให้ นพ.ทวีทอง กออนันตกูล ที่ปรึกษาของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เกิดแนวคิดว่าจะมีวิธีใดแก้ปัญหานี้ได้บ้าง

ประกอบกับขณะนั้นเขาเองกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับการวัดความร้อนอยู่พอดี นพ.ทวีทอง จึงนำโจทย์ดังกล่าวมาเสนอแนะ และได้พัฒนาเป็นระบบตรวจวัดอุณหภูมิบุคคล แบบไม่ต้องสัมผัส โดยใช้กล้องถ่ายภาพรังสีความร้อนหรือกล้องอินฟาเรดที่ใช้ตรวจับวัดอุณหภูมิได้ เพื่อใช้คัดกรองบุคคล และสามารถตรวจวัดได้ทีละหลายๆ คน พร้อมกัน ทั้งนี้ นพ.ทวีทอง เป็นพี่ชายแท้ๆ ของ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.เนคเทคคนก่อน

ดร.ศรัณย์ อธิบายต่อว่า เทคโนโลยีการตรวจวัดอุณหภูมิคนด้วยกล้องถ่ายภาพรังสีความร้อน ที่ใช้กันอยู่ในหลายประเทศนั้นสามารถวัดได้ทีละคน โดยผู้ที่ถูกวัดจะต้องยืนอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมและหยุดนิ่งนาน 2-3 วินาที เพื่อให้ใบหน้าและดวงตาอยู่ภายในกรอบที่กำหนด และแสดงระดับของอุณหภูมิเป็นแถบสีที่ ไม่แสดงค่าเป็นตัวเลข ทำให้ล่าช้าและอาจเกิดความคลาดเคลื่อน

"ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนา ให้ตรวจวัดอุณหภูมิได้ทีละหลายคนพร้อมกัน ทว่าก็ยังแสดงระดับของอุณหภูมิเป็นแถบสี ทั้งใบหน้าของผู้ที่ถูกตรวจและสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความสับสนได้ว่าแถบสีบางแถบคือใบหน้าคนหรือไม่ และการใช้แหล่งกำเนิดรังสีความร้อนอ้างอิงก็ทำให้ต้นทุนของระบบสูงขึ้นด้วย"

"อีกทั้งยังไม่มีระบบการชดเชยอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมด้วย เช่นในสนามบินต่างๆ เมื่อช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์ส เนื่องจากอุณหภูมิค่อนข้างคงที่อยู่แล้ว แต่บริเวณทางเข้าออกโรงพยาลบาลที่เปิดประตูไว้ตลอดเวลาอาจทำให้อุณหภูมิที่วัดได้ไม่แม่นยำนัก" ดร.ศรัณย์ แจง

ดังนั้น ดร.ศรัณย์และทีมงานจึงพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ขจัดปัญหาดังกล่าวออกไปโดยใช้เทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ร่วมกับอิเล็กทรอนิกส์และการประมวลผลภาพ จนได้ซอฟต์แวร์ที่สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายได้พร้อมกันทีละหลายคน ซึ่งมีระบบค้นหาตำแหน่งใบหน้า และตรวจจับบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดบนใบหน้า แล้วแสดงค่าของอุณหภูมิที่วัดได้ทันที ซึ่งใช้เวลาเพียง 0.03 วินาทีเท่านั้น และมีระบบการชดเชยอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อมโดยอัตโนมัติ

"ผู้ใช้สามารถตั้งค่าอุณหภูมิอ้างอิงได้ตามความเหมาะสม ผู้ที่เดินผ่านหน้ากล้องก็จะถูกตรวจวัดอุณหภูมิได้อย่างรวดเร็ว และแสดงค่าออกมาเหนือใบหน้าที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ทันที"

"หากตรวจพบว่าผู้ใดมีอุณหภูมิสูงเกินอุณหภูมิอ้างอิง ก็จะแสดงภาพใบหน้าเป็นสีแดงพร้อมกับมีเสียงร้องเตือน และหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำบุคคลนั้นไปตรวจวัดอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง" ดร.ศรัณย์อธิบาย

ทั้งนี้จากการพัฒนาโปรแกรมมาเป็นเวลา 4 เดือน และทดลองมาแล้วให้ผลแม่นยำ 90% เนื่องจากสามารถคัดกรองผู้ป่วยได้ 100 คน แต่เมื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่ถูกคัดกรองตามวิธีมาตรฐาน พบว่ามีผู้ที่ป่วยไข้จริง 90 คน ที่เหลืออีก 10 คนไม่ป่วย" ดร.ศรัณย์กล่าว และบอกว่าการที่มีผู้ไม่ป่วยติดผ่านเข้ามาด้วยนั้นดีกว่าปล่อยให้ผู้ป่วยหลุดรอดไปได้

ทั้งนี้ นักวิจัยได้จดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ดังกล่าวแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.50 และได้มอบซอฟต์แวร์ต้นแบบ ให้โรงพยาบาลราชวิถีนำไปทดลองใช้เป็นแห่งแรก โดยทางโรงพยาบาลจะนำไปใช้ในแผนกคัดกรองผู้ป่วย และจะทำการทดสอบประสิทธิภาพ และเก็บข้อมูลอีกประมาณ 200 คน เปรียบเทียบกับการตรวจวัดอุณหภูมิด้วยวิธีปกติ เพื่อดูว่ามีข้อบกพร่องประการใดที่ต้องแก้ไขอีกหรือไม่

หากใช้ได้ผลดีที่จะดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติมในบริเวณหรือแผนกอื่น และเปิดเผยให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่ง น.พ.สมปอง ธนไพศาลกิจ แพทย์ด้านเวชกรรมของโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่าโปรแกรมและระบบคัดกรองนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการคัดกรองผู้ป่วยที่มีไข้สูงในกรณีที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก หรือโรคซาร์ส

ดร.ศรัณย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จำนวนบุคคลที่คัดกรองขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์ คุณสมบัติของกล้อง รวมทั้งตำแหน่งของแต่ละคนที่ผ่านหน้ากล้องด้วย ซึ่งต้นทุนของระบบคัดกรองนี้ ขึ้นอยู่กับราคากล้องเป็นหลัก เนื่องจากกล้องชนิดนี้ราคาค่อนข้างแพง และอยู่ในหลักแสนขึ้นไป และต้องเป็นกล้องที่สามารถตรวจจับความร้อนที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 3,000 นาโนเมตรขึ้นไป

หากโรงพยาบาลใดสนใจเทคโนโลยีดังกล่าวก็สามารถติดต่อได้ที่เนคเทค โดยทางเนคเทคยินดีสนับสนุนในส่วนของซอฟต์แวร์ หรือบริษัทเอกชนรายใดสนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ก็สามารถติดต่อที่เนคเทคได้เช่นกัน.
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร และชุดอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายโดยไม่ต้องสัมผัส
*******

*หมายเหตุ* (27 พ.ค. 2551)

ต้องขออภัยอย่างยิ่งหากเนื้อหาในข่าวขาดความชัดเจนจนทำให้ผู้อ่านสับสนดังนั้นผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงขออนุญาตเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนจากที่ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ได้ให้สัมภาษณ์และชี้แจงเพิ่มเติมว่า "เทคโนโลยีการตรวจวัดอุณหภูมิด้วยกล้องถ่ายภาพรังสีความร้อน" ที่มีใช้อยู่ก่อนหน้านี้ในต่างประเทศหรือสนามบินต่างๆ สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของคนเพื่อคัดกรองบุคคลที่มีอุณหภูมิสูงเกินอุณหภูมิอ้างอิงของระบบนั้นมีข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ

1. ระบบที่สามารถตรวจวัดได้ทีละคน บุคคลผู้นั้นจะต้องยืนอยู่ในตำแน่งที่เหมาะสมและหยุดนนิ่งนาน 2-3 นาที เพื่อให้ใบหน้าและดวงตาอยู่ภายในกรอบที่กำหนดไว้สำหรับตรวจวัดรังสีความร้อน ซึ่งอาจแสดงระดับความร้อนเป็นแถบสีหรือแสดงค่าอุณหภูมิเป็นตัวเลข

2. ระบบที่สามารถตรวจวัดได้หลายคนพร้อมกัน (ที่มักนำไปใช้ในสนามบิน) จะตรวจวัดอุณภูมิและรังสีความร้อนทั้งจากผู้คนที่ผ่านไปมาและสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น แล้วบ่งบอกระดับของอุณหภูมิโดยแสดงเป็นแถบสี เช่น บริเวณในอุณหภูมิสูงเกินก็ปรากฏเป็นแถบสีแดง ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าแถบสีที่ปรากฏนั้นใช่ใบหน้าคนหรือไม่ และยากแก่การบ่งบอกค่าอุณหภูมิที่แน่ชัด อีกทั้งยังไม่มีการชดเชยอุณหภูมิหรือค่าความชื้นสัมพัทธ์ของสิ่งแวดล้อมในบริเวณระยะห่างระหว่างกล้องถ่ายภาพรังสีความร้อนกับบุคคล ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ค่าอุณหภูมิของบุคคลที่อ่านได้ผิดพลาดไปด้วย

สำหรับเทคโนโลยีการตรวจวัดอุณหภูมิด้วยกล้องถ่ายภาพรังสีความร้อนที่ ดร.ศรัณย์ พัฒนาขึ้นนั้นก็เพื่อลบข้อจำกัดข้างต้นออกไปเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ สามารถตรวจวัดได้หลายคนพร้อมกันโดยไม่ต้องหยุดนิ่งในตำแหน่งที่เหมาะสม, ระบบมีการคำนวณเพื่อค้นหาตำแหน่งใบหน้า และแสดงผลของอุณหภูมิที่วัดได้เป็นแถบสีพร้อมกับบ่งบอกค่าเป็นตัวเลขในทันที, ระบบมีการชดเชยอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมระหว่างระหว่างกล้องถ่ายภาพรังสีความร้อนกับบุคคล

ภาพใบหน้าของผู้ที่ถูกตรวจวัดอุณหภูมิโดยซอฟต์แวร์วัดอุณหภูมิของเนคเทคที่ปรากฏอยู่บนจอคอมพิวเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น