ปัญหาการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ของผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการทำงาน หรือกระทั่งโอกาสการฟื้นฟูรักษาสภาพร่างกายที่ผิดปกติ ยังคงมีไม่มากนัก แต่หากเทียบกับเมื่อก่อนนี้ ก็ยังพอจะพูดได้ว่าเริ่มมีมากขึ้นบ้าง หลายฝ่ายหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามให้ความช่วยเหลือผู้พิการเหล่านี้ โดยเฉพาะหน่วยงาน อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี... “ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ” กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
** กำเนิดแห่งศูนย์สิริธร
นับเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2535 ตั้งแต่ศูนย์เปิดให้บริการรักษาฟื้นฟูผู้พิการที่อาคารชั่วคราว ตึกสถาบันทันตกรรม กระทรวงสาธารณสุข จน 2 ปีให้หลัง ปี พ.ศ.2537 อาคารถาวรของศูนย์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ ที่บริเวณหลังโรงพยาบาลบำราศนราดูร ติดกับกระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งนอกจากจะมีอาคารถาวรแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถอย่างพอเพียง จึงทำให้ศูนย์ มีการเดินหน้าทำงานบริการสังคมด้านการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้อย่างเต็มที่
โดยในระยะแรก ศูนย์เริ่มเปิดให้บริการในรูปแบบผู้ป่วยนอกก่อน และต่อมาในปี พ.ศ.2538 จึงเปิดบริการรับรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยใน จำนวน 30 เตียง และเพิ่มเป็น 48 เตียงในปี พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยมีองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จเป็นองค์ประธานเมื่อ พ.ศ.2543
“เราให้บริการแบบตติยภูมิ คือ ทั้งรักษา ฟื้นฟู ควบคู่ไปกับการทำวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ แล้วทางศูนย์ก็รับดูแลรักษาเด็กสมองพิการด้วย เรารับทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ฟื้นฟูทั้งด้วยวิธีกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด รวมถึงงานด้านกายอุปกรณ์ที่ทำทั้งสร้างใหม่และซ่อมแซม” พญ.ดารณี สุวพันธ์ รักษาราชการแทน ผอ.ศูนย์ฯ อธิบายหน้าที่และภารกิจของศูนย์แบบคร่าวๆ ให้ฟัง ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมว่าในแต่ละวัน จะมีผู้ป่วยนอกเดินทางมารับบริการการรักษาและฟื้นฟูของศูนย์ประมาณวันละ 200 ราย
ด้าน พิมพ์ใจ สุวรรณพฤกษ์ รอง ผอ.ศูนย์ฯ แจกแจงการทำงานด้านการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยว่า ภายในศูนย์ฯ นี้ ประกอบด้วยบุคลากรหลายอาชีพที่จำเป็นต่อการรักษาและบำบัดฟื้นฟู ซึ่งจะทำงานกันเป็นทีมเพื่อดูแลผู้ป่วยแต่ละคน
“เรามีแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ และนักกายอุปกรณ์ ทำงานด้วยกันเป็นทีมเดียวกัน และในคนไข้หนึ่งคนเราจะใช้ทีมนี้ช่วยดูแลทั้งทีม เพราะการจะฟื้นฟูผู้ป่วยได้จำเป็นต้องใช้หลายด้านเข้ามาช่วยเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้มากที่สุด” พิมพ์ใจขยายความเพิ่มเติม
** ความภูมิใจ ช่างกายอุปกรณ์
“แต่ละปี เราทำขาเทียมประมาณ 300 ข้าง”
เดชา สิตกรโกวิท ช่างกายอุปกรณ์ ประจำศูนย์ เริ่มต้นให้ภาพการทำงานด้านอุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์เทียมแก่ผู้พิการด้วยประโยคง่ายๆ ในห้องกายอุปกรณ์ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นสารทำแห้งปูนที่ใช้ประดิษฐ์กายอุปกรณ์
“สัดส่วนการทำกายอุปกรณ์ที่มากที่สุดต่อปี ก็คือ ขาเทียม รองลงมา คือ เหล็กพยุงขา ที่นี่เราทำแบบทั้งทำใหม่และซ่อมแซมให้แก่คนไข้ที่มีอุปกรณ์ชำรุด เพราะบางคนจะหวง พังก็จะเอามาซ่อม เพราะรู้สึกชินกับกายอุปกรณ์เทียมอันนั้น”
เมื่อถามต่อถึงราคาของกายอุปกรณ์ที่ทางศูนย์จัดทำขึ้นนั้น เดชา ระบุว่า สำหรับขาเทียมแบบใต้เข่า จะอยู่ที่ข้างละ 7,100 บาท และถ้าเป็นขาเทียมเหนือเข่าจะอยู่ที่ประมาณข้างละ 29,000 บาท แต่ถ้าเป็นขาเทียมแบบเหนือเข่าที่เป็นแบบแกนจะข้างละ 50,000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้พิการที่มีสมุด พ.ร.บ.คนพิการ จะได้รับการบริการด้านการรักษา ด้านการฟื้นฟู และรวมถึงการได้รับกายอุปกรณ์เหล่านี้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น
“ทำอุปกรณ์เทียมและอุปกรณ์เสริมแบบนี้ต้องลองและแก้ให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยหลายหน เพราะความพิการแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหรือท้ออะไรนะครับ เพราะเราคิดเสมอว่า ถ้าเป็นเรา ถ้าเราพิการ เราก็อยากได้กายอุปกรณ์ที่เหมาะกับเรา พอดีกับร่างกายเรา ใส่แล้วไม่เจ็บ คนไข้ก็อยากได้แบบนี้ครับ”
เดชายังได้ถ่ายทอดประสบการณ์อันน่าประทับใจเหตุการณ์หนึ่งว่า เคยทำขาเทียมเหนือเข่าให้แก่คนไข้ที่ถูกรถไฟทับขาขาดสองข้าง ที่หมดอาลัยตายอยากในชีวิต เพราะหมอที่ให้การรักษาเบื้องต้นได้แจ้งแก่เจ้าตัวว่า เขาหมดโอกาสที่จะยืนบนขาของตัวเองแล้ว แต่ด้วยความร่วมมือกันทำงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์ในศูนย์ได้ช่วยฟื้นกำลังใจให้ชายหนุ่มคนนั้น เข้ารับการทำกายภาพบำบัดไม่นานเขาก็เดินได้อีกครั้งบนขาเทียมอันใหม่ที่เดชาเป็นคนทำให้
** 3 คน 3 ชะตากรรม กับโอกาสแห่งชีวิต
และสำหรับผู้ที่เคยผ่านช่วงชีวิตที่ต้องทุกข์ทรมานจากความพิการ จนฟันฝ่าอุปสรรคข้อจำกัดด้านร่างกายจนขณะนี้ เขากำลัง “พลิก” ประสบการณ์อันวิกฤต ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เป็น “โอกาส” แก่ผู้พิการทุกคน “เทิดเกียรติ ฉายจรุง” เปิดเผยอดีตของตัวเองว่า ตอนเป็นเด็ก อายุประมาณ 13 เขาได้รับอุบัติเหตุจนทำให้เป็นอัมพาต
“กระดูกคอหัก 2 ข้อครับ ทำให้เดินไม่ได้ ต้องนอนอย่างเดียว ทำอะไรไม่ได้ พูดได้อย่างเดียว แล้วก็เคลื่อนไหวได้แต่ดวงตา ผมรู้สึกแย่มาก นอนถอดใจอยู่ 3 ปี ตอนแรกก็ท้อแท้มาก แต่ตอนหลังเราเริ่มอยู่กับมันได้ แล้วก็ลองเปลี่ยนมุมมอง จากที่เคยมองว่าเราเคยมี แล้วเราไม่มี มาเป็นสำรวจสิ่งที่เรามีเหลือ แล้วก็คิดว่า อย่างน้อยเราก็ยังมีเหลืออยู่ และเรายังมีชีวิต”
เทิดเกียรติเล่าด้วยน้ำเสียงสบายๆ ก่อนจะเล่าต่อว่า จากนั้นด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง เขาตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียว และพยายามฟื้นฟูตัวเองจนสามารถนั่งได้บนรถเข็น จากนั้น ผู้ชายหัวใจไม่แพ้คนนี้ ทำในสิ่งที่เขาอยากทำมากที่สุด
“ผมเริ่มเรียนปริญญาตรีที่ มสธ.เรียนที่บ้านและนั่งรถเข็นไปสอบ ผมจบด้านศึกษาศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ แล้วจากนั้นก็เปิดร้านคอมพิวเตอร์เล็กๆ ของตัวเอง พร้อมๆ กับที่สมัครเป็นครูไว้ด้วย จากนั้นโรงเรียนศรีสังวาลก็เรียกมา ผมก็เลยปิดร้านไปสอนที่ขอนแก่น ต่อมาผมมีโอกาสได้รู้จักคุณหมอแท้จริง แล้วก็โชคดีมาก ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพฯ ได้รับพระราชทานทุนเรียนต่อปริญญาโท”
มหาบัณฑิตหมาดๆ จากรั้วมหิดล กล่าวต่อไปว่า เป็นความกดดันที่เป็นประโยชน์ในการที่เขาได้รับพระราชทานทุน เขาเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำได้แน่
“ผมเชื่อว่าผมเรียนได้ แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ว่าจะทำอย่างไร ที่ผมจะทำประโยชน์ ทำความดีให้แก่ประเทศให้สมกับที่ผมได้รับพระเมตตา”
ปัจจุบันเทิดเกียรติจึงเลือกที่จะใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ชีวิตในการทำหน้าที่เป็นนักให้คำปรึกษาประจำศูนย์
ด้านคนไข้ของศูนย์อย่าง “นิติพร แซ่ตั้ง” วัย 27 ปี ชายหนุ่มผู้พิการด้านการได้ยินมาแต่กำเนิด เขาเดินข้ามทางรถไฟเมื่อเห็นรถไฟจอดสนิทดีแล้ว แต่ระหว่างที่เขากำลังเดินก้าว รถไฟกลับเคลื่อนตัว พร้อมทั้งบีบแตรดังสนั่น แต่ชายหูหนวกผู้โชคร้ายไม่มีโอกาสได้ยิน..ผลคือ นิติพร โดนรถไฟทับขาขาดทั้งสองข้าง
“เขาเป็นเด็กดีครับ ทำงานเป็นบริการอยู่ที่ รร.อมารี วอเตอร์เกท” พี่ชายแท้ๆ ผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามแทนนิติพรแปลภาษามือของผู้เป็นน้องชาย
นิติพร เล่าต่อว่า จนถึงวันนี้เขายังไม่ได้รับการติดต่อ แสดงความรับผิดชอบ หรือแม้กระทั่งการสอบถาม และการขอโทษจากการรถไฟแต่อย่างใด ที่ทำให้เขากลายเป็นคนพิการไปแบบนี้ “ก่อนหน้านี้ น้องเขาเป็นนักกีฬาครับ เล่นกีฬาทุกประเภท ชอบกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ” ผู้เป็นพี่ชายเล่าด้วยเคร่งๆ ก่อนจะหันไปดูน้องชายผู้สวมเสื้อบอลทีมดังที่กำลังขะมักเขม้นฝึกเดินด้วยขาเทียมแบบแกนท่ามกลางการดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัดอย่างใกล้ชิด เขาพยายามมากครับ นี่เหตุการณ์ผ่านมา 6 เดือน ตอนนี้เขาเริ่มชินกับขาเทียมแล้ว แล้วก็โชคดีมากที่ทางโรงแรมจะรับเขาเข้าทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวมากนัก พวกงานด้านเช็กเวลา ให้เขามีรายได้ดูแลตัวเองได้”
นิติพร ทำไม้ทำมือบอกเล่าผ่านพี่ชาย ว่า เขารู้ว่าเขาไม่สามารถจะกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเก่า แต่ถ้ามีโอกาสฟื้นตัว เขาก็อยากจะลองเตะฟุตบอลด้วยขาเทียมดูสักครั้ง
“ผมฟื้นตัวได้เร็ว จากความช่วยเหลือของศูนย์นี้ ขอบคุณมากครับ รู้สึกดีมากที่มีศูนย์แบบนี้เพื่อช่วยเหลือคนพิการ” นิติพร ทิ้งท้าย
และอีกหนึ่งตัวอย่างผู้ได้รับชีวิตใหม่โดยความช่วยเหลือจากศูนย์นี้อย่าง “ลุงฉลอง ศิริเขน” วัย 55 ที่ประสบอุบัติเหตุรถชน แรงกระแทกทำให้ลุงกระเด็นไปกลางถนนและถูกสิบล้อทับอีกที ทำให้จำเป็นต้องตัดขาทิ้ง 1 ข้างบริเวณเหนือเข่า หลังจากพ้นขีดอันตรายและพักฟื้นได้ระยะหนึ่งที่รพ.ในจังหวัดกำแพงเพชร หมอที่นั่นแนะนำให้ลุงเดินทางมารับการฟื้นฟูที่ศูนย์
“ศูนย์บริการลุงฟรีหมด ทั้งเรื่องรักษา ฟื้นฟู และขาเทียม จนวันนี้ลุงใช้มา 4 ขาแล้ว เขาก็เปลี่ยนให้ลุงฟรี เมื่อก่อนจะขาขาดก็เป็นช่าง พอขาขาดตอนแรกก็กังวลว่าจะทำมาหากินอะไร แต่พอมาฟื้นฟูที่นี่แล้ว ลุงใช้ขาเทียมได้ชำนาญขึ้น”
ลุงฉลอง เล่าถึงผลจากการทำฟื้นฟูกับผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดที่ศูนย์นี้ ว่า ปัจจุบัน ลุงก็ยังคงหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่าง ขาที่หายไปและได้รับขาเทียมพร้อมทักษะการใช้อย่างเชี่ยวชาญมาแทน มิได้เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหว
“ทุกวันนี้ผมยังปีนหลังคา มุงกระเบื้อง ทำหลังคา ต่อรางน้ำ และทำงานได้เป็นปกติเหมือนคนอื่นๆ ภูมิใจมากที่แม้จะใช้ขาเทียม ก็ยังทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้แบบนี้” ลุงฉลองสรุปชีวิตให้ฟังทิ้งท้าย