xs
xsm
sm
md
lg

ส่งต่อเครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัดไทยทำ สู่ รพ.หล่มสักคุณภาพทัดเทียมต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางศรีวัย พีระเดชมนตรี
วว.ส่งต่อเครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัด 30 เครื่องสู่ รพ.หล่มสัก ชี้มีคุณภาพทัดเทียมต่างชาติแต่ถูกกว่า 5-6 เท่า ด้านชาวบ้านในพื้นที่ตอบรับใช้งานได้ดี ผู้ว่าการ วว.เผยเปิดรอเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ขยายผลใช้จริงทั่วประเทศในราคาไม่แพงนัก

"ก่อนหน้านี้จะปวดหลังมาก เวลาจะลุกขึ้นต้องคลาน และเวลาเดินหลังจะค่อม เพราะเมื่อเดือนก่อนไปยกหม้อยาผิดท่าจนกระดูกลั่น กินยาแก้ปวดก็หายปวดเป็นพักๆ แล้วก็กลับมาปวดใหม่ แต่พอมาที่โรงพยาบาลตำบลหนองไขว่แล้วใช้เครื่องอัลตราโซนิกส์ช่วยกายภาพบำบัดอาทิตย์ละ 2 ครั้งๆ ละ 5 นาที ประมาณ 1 เดือน อาการก็ดีขึ้น ไม่ต้องกินยาอีก แถมยังเดินหลังตรงได้เหมือนเดิม" นางศรีวัย พีระเดชมนตรี ชาวบ้านวัย 62 ปีใน ต.หนองไขว่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ นางศรีวัย เป็นหนึ่งในชาวบ้าน อ.หล่มสัก ซึ่งได้รับการกายภาพบำบัดด้วยเครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบ้ดที่วิจัยพัฒนาโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่ได้มีการส่งมอบจนครบ 30 เครี่องเมื่อวันที่ 18 มี.ค.51 ที่ผ่านมา

นพ.พงษ์พิชญ์ วงศ์มณี ผอ.โรงพยาบาลหล่มสัก ผู้ริเริ่ม “โครงการ 2 บาทร่วมลงขัน สร้างสรรค์โรงพยาบาลตำบล” ซึ่งยกระดับอนามัยชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลตำบลที่มีขีดความสามารถการรักษาพยาบาลมากขึ้น เผยว่าทั้ง 30 เครื่องจะถูกส่งไปใช้ในโรงพยาบาลตำบล 30 แห่งใน 22 ตำบลของ อ.หล่มสัก ที่ยังไม่มีเครื่องดังกล่าวใช้ โดย วว.ได้รับมอบเพื่อใช้งานมาก่อนแล้ว 23 เครื่อง ส่วนงวดล่าสุดเป็นการรับมอบอีก 7 เครื่องที่เหลือ

สำหรับอุปกรณ์ที่มีการพัฒนาขึ้น ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว.เผยว่า ทีมวิจัย วว.ได้ศึกษาข้อดี-ข้อเสียของเครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัดชนิดต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2547 และพัฒนาตามแบบวิศวกรรมย้อนรอยจนได้เครื่องต้นแบบรุ่น UT 4702 เป็นผลสำเร็จในอีก 2 ปีให้หลัง

เครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัดของ วว.มีต้นทุนถูกกว่านำเข้า 5-6 เท่า เพียง 1.3 หมื่นบาท/เครื่องจากราคา 6-8 หมื่นบาท/เครื่อง แต่มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน ผ่านการทดสอบใช้งานกับผู้ป่วยโรงเรียนกายภาพบำบัด ศิริราชพยาบาล 1 ปี ได้ผลน่าพอใจ ได้รับมาตรฐานการทดสอบเครื่องมือการแพทย์ระดับสากล IEC601-1:1988 และได้รับอนุญาตการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

ที่สำคัญ วว.ยังได้พัฒนาให้มีปุ่มปิด-เปิดเครื่องที่ใช้งานง่าย ป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนที่ “เฟียโซอิเล็กตริก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ราคาแพงและเป็นต้นกำเนิดคลื่นจะได้รับความเสียหายจากการเปิดแช่ไว้ การต่อยอดดังกล่าวจึงยืดอายุอุปกรณ์ให้ใช้งานยาวนานขึ้น

สำหรับ “เครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัด” ถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานของนักกายภาพบำบัดในการนวดกล้ามเนื้อผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการปวด และกระตุ้นกล้ามเนื้อที่เสื่อมสภาพจากการเคลื่อนไหวท่าซ้ำๆ เป็นเวลานาน อีกทั้งใช้กับผู้ป่วยผ่าตัดที่เส้นเอ็นยึดให้ทำงานได้ดีขึ้น เมื่อใช้ควบคู่กับการทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดการใช้ยา เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งมีผลข้างเคียงสะสมได้ด้วย

ขณะนี้ วว.กำลังเปิดรับเอกชนที่ต้องการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีผู้สนใจติดต่อมาแล้ว 2-3 ราย ซึ่งจะต้องทำแผนธุรกิจประกอบการพิจารณาเพื่อรับประกันได้ว่าจะเกิดการนำไปขยายผลจริงๆ และมีการตั้งราคาที่ไม่สูงเกินไปเพื่อให้เข้าถึงสถานพยาบาลทั่วประเทศที่ต้องการมีไว้ใช้งานได้” ผู้ว่าการ วว.กล่าว

นอกจากนั้น เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วว.ยังน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัด 89 เครื่องแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาลหรือสถานบำบัดชุมชนที่อยู่ห่างไกลตามพระราชประสงค์ด้วย

ส่วนอุปกรณ์ด้านสุขภาพอื่นๆ ของ วว.เวลานี้ได้พัฒนาเครื่องพ่นยาสำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้ โดยกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบระดับคลินิกกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเครื่องพ่นยาดังกล่าวจะใช้การสั่นสะเทือนของเฟียโซอิเล็กตริกทำให้อนุภาคของยาพ่นมีอนุภาคระดับนาโนเมตร จึงช่วยส่งยาถึงปอดดีขึ้น

ผู้สนใจเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัด” ติดต่อได้ที่ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ วว. เบอร์โทรศัพท์ 0-2579-1121-30 ต่อ 2120 ในวันและเวลาราชการ หรือที่อีเมลแอดเดรส tistr@tistr.or.th
พิธีส่งมอบเครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัด 30 เครื่องสู่ รพ.หล่มสัก
เครื่องอัลตราโซนิกส์กายภาพบำบัดที่วิจัยพัฒนาโดย วว.
นพ.พงษ์พิชญ์ วงศ์มณี
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี
กำลังโหลดความคิดเห็น