xs
xsm
sm
md
lg

ปรับชีวิตพิชิต “ออฟฟิศซินโดรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โอ๊ย ทำไมปวดหลังแแบบนี้”... “เธอ ไม่รู้เป็นอะไร ฉันปวดคอไปหมดเลย” หรือว่าจะเป็น “หมอครับ ผมปวดร้าวๆ ที่แขน ตอนนี้ชาไปหมดแล้วครับ” ... สำหรับคนหนุ่มสาววัยทำงานหลายๆ คน อาจจะเคยได้ยินเพื่อนร่วมอาชีพบ่นในทำนองแบบนี้ หรืออาจจะกระทั่งมีอาการปวดชาในบริเวณดังกล่าวด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นการเจ็บป่วยอันเกิดจากพยาธิสภาพในร่างกาย โดยหารู้ไม่ว่าอาการปวดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของตนเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

“ถ้าคุณเป็นคนที่อายุราวๆ 30 ปี คุณจะเห็นความเปลี่ยนไปของโลกและของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน” ประโยคแรกอันน่าสนใจจากปากคำรศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช นายกสมาคมศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการปวดระดับแถวหน้า

“ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี่ก็คือ ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ส่วนใหญ่จะมาจากการยกของหนัก การเกิดอุบัติเหตุ หรือการทำงานในอาชีพที่ต้องทำงานหนักอย่างอาชีพเกษตรกร แต่ 30 ปีให้หลัง อาการเหล่านี้กลับเกิดในกลุ่มของผู้ที่ทำงานสบาย นั่งโต๊ะ อยู่ในห้องแอร์ และใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้เราเรียกมันว่า Office Syndrome หรือโรคคนทำงานนั่นเอง”

ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาด้านความปวดกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับคนทำงานออฟฟิศ ออฟฟิศถือเป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทรงอิทธิพลมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมที่มีขอบเขตจำกัดปะทะกับนวตกรรมสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์แห่งโลกยุคโลกาภิวัตน์อย่าง “คอมพิวเตอร์”

“คนถือเป็นสัตว์บกชนิดเดียวที่ธรรมชาติสร้างให้ท่าเดินเป็นการเดินสองเท้า ดังนั้นกระดูกสันหลังที่ถือเป็นแกนกลางของร่างกาย เวลาที่เราเปลี่ยนจากท่าเอนราบกับพื้น ไม่ว่าจะเป็นท่านั่งหรือท่านอนก็ตาม ถือเป็นท่าทางที่ทำให้แกนกลางร่างกายต้านกับแรงดึงดูดของโลก”

รศ.นพ.ประดิษฐ์ ให้ข้อมูลต่อว่า เมื่อเราใช้ร่างกายในการนั่งหรือยืนที่ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับภาระต้านกับแรงดึงดูดของโลกโดยอยู่ในท่านั้นๆ เป็นเวลานานๆ แล้ว ก็จะเกิดอาการปวดต่างๆ ตาม โดยเฉพาะสำหรับหนุ่มสาววัยทำงานคนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน

“อาการปวดจากการทำงานนั่งโต๊ะหรือทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆ นี้สามารถทำให้ปวดได้ทั้งร่างกายท่อนบนและท่อนล่าง เราเรียกอาการปวดนี้ว่าออฟฟิศซินโดรม”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาการปวดอธิบายถึงอาการปวดร่างกายท่อนบน ว่า ออฟฟิศซินโดรมจะเริ่มด้วยอาการปวดเกร็งตึงบริเวณกล้ามเนื้อบ่าเป็นจุดแรก จากนั้นหากทนนั่งทำงานต่อไปไม่เปลี่ยนอิริยาบถ จะทำให้การปวดเกร็งนั้นร้าวไปที่ท้ายทอยและลุกลามเป็นการปวดขมับและการปวดศีรษะ ตาพร่า อาจจะมีอาการชาท้องแขนตามมาด้วย

ส่วนอาการปวดในร่างกายท่อนล่าง เกิดจากน้ำหนักที่กดลงเนื่องจากการนั่ง ทำให้ผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรมมีอาการปวดที่กล้ามเนื้อแก้มก้น ลามชาไปถึงต้นขา และอาจส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งจะทำให้ท้องอืดและข้อเข่าเสื่อมด้วย

“และถ้ายังทนกับความเจ็บปวดนี้ต่อไปเรื่อยๆ ต่อไปโดยไม่แก้ไข กล้ามเนื้อที่ตึงเหล่านี้จะดึงกระดูกซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างร่างกายในระยะยาวด้วย และอาการออฟฟิศซินโดรมนี้ โดยมากแล้วจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย


รศ.นพ.ประดิษฐ์ อธิบายต่อถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคคนทำงานนี้มีอยู่ 3 ประการใหญ่ๆ ได้แก่ ฮอร์โมน ภาวะเครียด และท่าอาการ เช่น ลักษณะนิสัยการสวมรองเท้าส้นสูง ท่านั่งที่ส่งผลต่อลักษณะโครงสร้าง การวางท่าผิดธรรมชาติที่จะทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ

ด้าน “ดร.รุจน์” หรือดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไคโรแพรกติก ระบุว่า โครงสร้างหลักของร่างกายคือกระดูกสันหลังของมนุษย์ ถูกใช้ตลอดเวลายกเว้นในยามนอนราบ เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ถูกใช้อย่างสมบุกสมบัน ควรจะต้องตรวจสภาพ ปรับปรุง ดูแล ตลอดจนซ่อมแซมเพื่อให้ใช้ได้นานๆ

“โรคออฟฟิศซินโดรมไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง อาการปวดจะเริ่มจากปวดเป็นพักๆ ปวดเล็กน้อย เปลี่ยนเป็นปวดเรื้อรัง จนกระทั่งปวดรุนแรง ปวดจนทนไม่ได้ ซึ่งในบางรายหากปวดมาก แพทย์อาจจะวินิจฉัยให้รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งก็ไม่แน่ว่าการผ่าตัดนั้นจะเป็นจุดจบของอาการปวดด้วยหรือเปล่า”

ดร.รุจน์ แนะนำวิธีการป้องกันตัวเองง่ายๆ แบบทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเองเพื่อป้องกันอาการป่วยจากโรคออฟฟิศซินโดรมว่า สำหรับท่านั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรนั่งท่าตรง ท่านั่งของคนส่วนใหญ่ยังนั่งผิดอยู่มาก คือส่วนใหญ่จะนั่งไหล่ตก ท้องป่อง ซึ่งในความเป็นจริงท่านั่งเพื่อใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องคือต้องนั่งยืดตัว ตัวตรง ก้นชิดพนักเก้าอี้ เท้าวางราบบนพื้น หากขาลอยหรือไม่ถึงพื้น ควรหาเก้าอี้หรือกล่องมารองเท้า และควรใช้หมอนหนุนหลังเพื่อลดการแอ่นของกระดูกสันหลัง

สำหรับท่ายืน ดร.รุจน์ แนะนำเช่นเดียวกับท่านั่งคือ ยืดหลังให้ตรง เคล็ดง่ายๆ คือ พยายามยืนแบบทำให้ตัวเองดูสูง หลังจะยืดเองโดยอัตโนมัติ

“วิธีการเช็กว่ายืนตัวตรงถูกท่าไหม สามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ โดยให้เพื่อนช่วยดู หากยืนตรงถูกท่าแล้ว มองจากด้านข้าง หู ไหล่ สะโพก เข่า ข้อเท้า จะต้องอยู่ในแนวเดียวกันเป็นเส้นตรง”

ผู้เชี่ยวชาญด้านไคโรแพรกติกอธิบายเสริมถึงท่ายกของอันเป็นท่าที่คนส่วนใหญ่ยังทำผิด และได้รับบาดเจ็บเนื่องจากทำท่าทางที่ผิดและฝืนร่างกาย โดยท่าที่ถูกต้องเมื่อต้องการเก็บหรือหยิบของคือ ย่อเข่าลงไปเก็บ ไม่ใช้ก้มหลังลงไปเก็บ และหากของที่ย่อเข้าลงไปหยิบมีน้ำหนักมาก ควรถือให้ชิดกับลำตัวมากที่สุด นอกจากนี้ ท่าที่ทำให้ปวดหลังที่มีผู้มาขอคำปรึกษามากที่สุด คือ ท่าก้มเอี้ยวหยิบของ ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากกล้ามเนื้อในการบิดตัวเป็นกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรงและเป็นกล้ามเนื้อมัดสั้น ไม่เหมาะสำหรับการใช้กล้ามเนื้อดังกล่าวในการยกของหนักในลักษณะบิดตัว เพราะจะทำให้มีโอกาสที่กล้ามเนื้อจะได้รับบาดเจ็บสูง

“ผมเชื่อว่า การปรับพฤติกรรม ปรับลักษณะท่าทาง การเดิน นั่ง ยืน เดิน ให้ถูกต้อง จะช่วยป้องกันการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้ ส่วนคุณสุภาพสตรี เราเข้าใจว่าจะต้องรักสวยรักงามเป็นธรรมดา แต่การใส่รองเท้าส้นสูง เป็นปัจจัยในการทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใส่ไมได้เลย ทางที่ดีคือ ลดขนาดความสูง อาจจะจาก 4 นิ้ว เป็น 2 นิ้ว และควรสลับใส่รองเท้าไม่มีส้นบ้าง ไม่ควรใส่ส้นสูงติดกันทุกวัน”

ภายหลังแนะนำการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันไปแล้ว ดร.รุจน์ ก็ทิ้งท้ายด้วยการแนะนำการสร้างเกราะป้องกันกล้ามเนื้อที่ดี ว่า ควรออกกำลังกายในท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เช่นอาจจะออกกำลังกายด้วยการเล่นพิลาทิส ที่เป็นกีฬาที่มีแรงกระแทกต่ำ และเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อลึกที่อยู่ภายใน ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อส่วนลึกที่อยู่ใกล้กระดูกเหล่านั้นแข็งแรงแล้ว กล้ามเนื้อก็จะมีความแข็งแรงในการรับแรงต้านหรือแรงกระแทกอันเกิดจากการผิดท่าได้มากกว่าเดิม ก็เป็นตัวช่วยที่ดีอีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น