xs
xsm
sm
md
lg

เผยผู้สูงอายุ 1 ใน 2 มีโรคประจำตัว พบ 20% ครองเตียง รพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เผยขณะนี้ผู้สูงอายุไทย 1 ใน 2 มีโรคประจำตัว พบมากที่สุด ได้แก่ โรคข้อเสื่อม โรคปวดหลัง ครองเตียงนอนรักษาในโรงพยาบาลมากถึงร้อยละ 28 ชี้คนไทยทุกคนหลีกเลี่ยงความแก่ชราไม่ได้ แต่ชะลอความชราให้ช้าลงได้ โดยออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี เริ่มตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจึงจะได้ผลดี


วันนี้ (5 ก.พ.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรมกีฬาพื้นบ้าน ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2551 ณ สนามกีฬาสมโภช 700 ปี จัดโดยเครือข่ายองค์กรดำเนินงานผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ 67 องค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมกับสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา อนุรักษ์และเผยแพร่กีฬาพื้นบ้านล้านนา สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เชิดชูคุณค่าของผู้สูงอายุ และกระตุ้นส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้ใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างมีความสุข โดยมีผู้สูงอายุจาก 1,886 ชมรม ในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 10,000 คน

นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ ในปี 2550 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบ 7 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ โดยแนวโน้มคนไทยจะมีอายุยืนยาวมากขึ้น เนื่องจากระบบการสาธารณสุขของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าขึ้น และครอบคลุมทั่วประเทศ คาดว่าในปี 2563-2568 ผู้หญิงไทยจะมีอายุเฉลี่ย 80.25 ปี ส่วนผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ย 74.72 ปี ในช่วงเดียวกัน

นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า สภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุไทยขณะนี้นับว่าน่าเป็นห่วงมาก เป็นวัยแห่งความเสื่อมของร่างกาย ส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว จากการศึกษาระดับประเทศล่าสุด พ.ศ.2550 พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 52 ไม่เคยตรวจสุขภาพ ร้อยละ 42 ออกกำลังกายเป็นประจำ ร้อยละ 63 รับประทานผักสด ผลไม้เป็นประจำ และในปี 2548 พบผู้สูงอายุทุก 1 ใน 2 คนมีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างที่เคยมาได้ โดยโรคเรื้อรังที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคข้อเสื่อม ปวดข้อเรื้อรัง พบร้อยละ 50-70 ปวดหลังเรื้อรัง ร้อยละ 50-55 โรคตาต้อกระจก ร้อยละ 40-45 มีไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 15-20 หูตึง ร้อยละ 21 โรค ความดันโลหิตสูงร้อยละ 20-30 ทำให้เตียงของโรงพยาบาลทั่วประเทศขณะนี้ ร้อยละ 28 เป็นเตียงของผู้ป่วยสูงอายุ แนวโน้มจะมากขึ้น หากเร่งส่งเสริมการดูแลสุขภาพตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีสุขภาพดี มีอายุยืน

นอกจากจะจัดสวัสดิการรักษาฟรีผู้สูงอายุแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจึงส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ทำให้มีความสนุกเพลิดเพลิน ซึ่งจะได้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี ขณะนี้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุได้แล้วกว่า 4,000 ชมรม มีสมาชิกกว่า 2 ล้านคน

“คนเราทุกคนหลีกเลี่ยงความแก่ไม่พ้น แต่สามารถชะลอความแก่ให้ช้าลงได้ หลักปฏิบัติที่สำคัญได้แก่ การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และทำจิตใจให้เบิกบาน ซึ่งจะได้ทั้งความแข็งแรงและมีสุขภาพจิตดี ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับ การออกกำลังกายไม่ว่าจะอายุเท่าใด แต่หากเริ่มต้นเร็วจะยิ่งได้ผลดีมาก ในทางการแพทย์พบว่าผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ใบหน้าอ่อนวัยด้วย” นายแพทย์มงคล กล่าว

การออกกำลังกายในผู้สูงอายุจะเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ทำให้สมรรถภาพของร่างกายดีขึ้น ชะลอการเสื่อมสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย และมีอายุยืนยาวขึ้น การออกกำลังกายของผู้สูงอายุที่เหมาะสมควรเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ขา แขน ลำตัว โดยทำต่อเนื่องวันละ 20-30 นาที แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง โดยออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชอบ เช่น การเดิน-เดินเร็วประมาณ 20-30 นาที การรำมวยจีน ชี่กง อย่างน้อย 40 นาที ปั่นจักรยานอยู่กับที่อย่างน้อย 40 นาที

กำลังโหลดความคิดเห็น