xs
xsm
sm
md
lg

ห้องสมุดของเล่น แห่งแรก-แห่งเดียวในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากยังจำกันได้...เร็วๆ นี้ ได้เกิดมีข่าวคาวๆ เสียหาย กรณีคู่รักวัยรุ่นยึดแหล่งความรู้สาธารณะเป็น “ม่านรูดชั่วคราว” โดยเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ ที่ห้องสมุดประชาชนใน จ.นครศรีธรรมราช จนมีคนแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ ก็พบทั้งคราบไคลและถุงยางอนามัยใช้แล้ว! ทำให้มีการล้อมคอกสั่งสังคายนาห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อมิให้เกิดเหตุพลอดรักของวัยรุ่นเกิดขึ้นอีกเป็นหนที่สอง โดยแนวทางคือ กำจัดมุมอับ ปรับภูมิทัศน์ สอดส่องให้เข้ม


...แต่การล้อมคอกคุมเข้มดังกล่าวเห็นจะเว้นไว้เสียที่หนึ่ง นั่นคือ ห้องสมุดของเล่น (Toy library) ในบริเวณสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นห้องสมุดแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีของเล่นสำหรับเด็ก ซึ่งมีปัญหาด้านพัฒนาการและสุขภาพจิต เพื่อจะส่งเสริมการเล่นที่เหมาะกับวัยและช่วยบำบัดอาการให้ดีขึ้น

***เล่นฟื้นฟูบนพื้นฐานความรู้แพทย์
นพ.สมัย ศิริทองถาวร
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวว่า ห้องสมุดไม่จำกัดแต่เพียงหนังสือเท่านั้น การยืมของเล่นกลับไปใช้ที่บ้านสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีทุนทรัพย์จึงน่าจะเป็นหนทางที่น่าสนใจ ดังนั้นจึงมีแนวคิดจัดทำห้องสมุดของเล่นขึ้นในปี 2541 โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การเล่น และของเล่นที่เหมาะสมจะสามารถฟื้นฟูเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ สมอง และจิตใจได้

ภายในห้องสมุดจะมีทั้งของเล่นทั่วไปและของเล่นพื้นบ้าน ซึ่งเราคิดว่าการเล่นเป็นเรื่องจำเป็นต่อพัฒนาการ ยิ่งถ้าหากได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม การเล่น หรือของเล่นนั้นก็จะเปรียบได้เสมือนยา เวลาเราเข้าโรงพยาบาลหมอบอกว่าไม่สบาย ก็จะได้ใบจ่ายยา แต่ที่นี่ เมื่อมีผลวินิจฉัยจากหมอแล้ว เด็กพัฒนาการช้าจะได้รายการของเล่นที่เขาจะต้องเล่นเพื่อกระตุ้น แล้วนำรายการนั้นมาเสนอต่อบรรณารักษ์ และสามารถยืมของเล่นนั้นกลับไปเล่นที่บ้านได้ จนกว่าจะครบกำหนดมาพบแพทย์อีกครั้ง

“ห้องสมุดของเล่นมีของเล่นกว่า 600 รายการ ของเล่นพื้นบ้านเกิดขึ้นจากการประยุกต์การใช้งานให้เข้ากับงบประมาณและลักษณะท้องถิ่นของผู้ปกครองของเด็กในความดูแลของโรงพยาบาล 10 ปีที่ผ่านมา เราจะมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุดเพื่อที่จะให้ความรู้เรื่องการใช้งานของเล่น ซึ่งการยืมของเล่นกลับบ้านนั้นจะต้องมีราชชื่อในรายการเท่านั้น ซึ่งของเล่นทุกชิ้นจะระบุว่าใช้งานอย่างไร และช่วยในเรื่องใดสำหรับเด็กบ้าง แต่ไม่เพียงของเล่นเท่านั้นที่จะช่วยบำบัดเด็กได้ การเล่นด้วยการสัมผัส การมีปฏิสัมพันธ์ก็จะทำให้เด็กฟื้นฟูได้เร็วขึ้น” ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าว

ภัทราวุธ กิ่งแก้ว นักกิจกรรมบำบัด กล่าวว่า กิจกรรมบำบัดเป็นหนึ่งในขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และจิตใจของเด็กพัฒนาการช้า ซึ่งการกำหนดกิจกรรมให้ผู้ป่วยแต่ละคนต้องอยู่บนพื้นฐานทางการแพทย์ และใช้ทฤษฎีมาออกแบบกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว ชนิดของเล่นที่จะใช้ในกิจกรรมนั้น เช่น หากเด็กมีพัฒนาการทางสมองช้า มีความผิดปกติด้านการทรงตัว กิจกรรม และของเล่นที่จะใช้คือ การเดินทรงตัวบนพื้นเนินลาด เดินย่ำในอ่างลูกบอล แล้วกลับมาต่อจิ๊กซอว์ภาษาอังกฤษ ทำเช่นนี้จนกว่าเด็กจะมีสมาธิ แล้วจึงนำเข้ากิจกรรมอื่นต่อๆ ไป

“สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์จะไม่แยกเด็กที่มีปัญหาออกจากสังคมภายนอก พวกเขาสามารถเรียนรวมกับเด็กปกติได้ แม้ว่าการเข้ารับรักษาจะมาอยู่โรงพยาบาลนานเป็นเดือน แต่การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ก็จะไม่เป็นปัญหากับเขา ดังนั้น นอกจากเราจะฟื้นฟู บำบัดผู้ป่วยซึ่งเป็นเด็กแล้ว สถาบันฯจะเน้นให้ความรู้กับผู้ปกครองด้วย เพื่อที่จะสามารถให้การดูแลลูกหลานได้อย่างถูกต้อง จึงจะเห็นว่าทุกกิจกรรม พ่อแม่จะเข้ามาเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เพื่อที่จะนำไปปฏิบัติที่บ้านโดยไม่ต้องรอเวลามาหาหมออย่างเดียว” นักกิจกรรมบำบัดให้ข้อมูล

***พัฒนาการช้าซ่อมได้ สร้างได้
จุฑามณี ขุนหาร หรือ แม่น้อง รับรู้ว่า น้องเปรียว-ด.ช.ณัฐวุฒิ มาคูณ มีพัฒนาการช้า 11 เดือน ไม่พูด ไม่เดิน เมื่อปรึกษาแพทย์ทำให้ได้ทราบว่าเป็นอาการของออทิสซึม กระนั้นก็ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษา ในเบื้องต้นหมอให้นวด และกายภาพบำบัดก่อน ก่อนหน้าน้องเปรียวเป็นเด็กอารมณ์ร้อน กล้ามเนื้อกระตุกตลอดเวลา และไม่สบตา จนเมื่อได้เข้าเป็นคนไข้ของแพทย์พอ.สว.เมื่อปลายปีที่ผ่านมา วันนี้น้องเปรียววัย 4 ปีได้รับการรักษาที่ถูกทางขึ้น

“หมอจะให้แม่กับน้องมานอนที่สถาบันคราวละ 15 วัน แต่ละครั้งที่มาน้องก็จะได้ทำกายภาพบำบัด ทำกิจกรรมบำบัดที่หมอและครูสอนให้ มีนั่งสมาธิ และห้องฝึกพูด 6-7 เดือนที่ผ่านมา อาการดีขึ้น 70-80% เห็นได้จากน้องหงุดหงิดน้อยลง จากที่เดินไม่ได้ตอนนี้เริ่มจับ และยืนทรงตัวได้ ไม่สบตาก็สบตาและพูดรู้ความมากขึ้น เขาจะเรียกแม่ได้ ซึ่งเท่านี้ก็ทำให้เราหายเหนื่อย หมอที่นี่ให้ความรักและเอ็นดูเด็กพิการและบกพร่องมาก ถ้ามานอนที่นี่ก็จะได้ใช้ห้องสมุดของเล่นทุกวัน ก่อนหน้านี้จะมีคนสอนให้แต่ตอนนี้เราก็สอนลูกได้เอง” แม่น้องกล่าวพร้อมกระชับอ้อมกอดที่มีน้องเปรียวนั่งยิ้มอยู่

ไม่เพียงเด็กออทิสติกเท่านั้นที่ได้รับการดูแลสมานแผลด้วยของเล่นและกิจกรรมในห้องสมุดของเล่น เด็กที่พิการทางสมอง อย่างน้องมุก-ด.ญ.ชณิดาภา ธนกุล ก็ได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน ความจริงแล้วในวัย 7 ปี เด็กทั่วไปจะต้องเข้าเรียนประถมศึกษาแล้ว ทว่าด้วยกล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรงตั้งแต่กำเนิดทำให้ไม่สามารถเดิน พูด หรือทำกิจกรรมใดๆ ได้

อรัญญา ชุ่มมนัญ ป้าของน้องมุกบอกว่า เมื่อปี 2548 มุกได้เข้ารับการรักษาในสถาบันฯ แม้จะต้องเดินทางเทียวไปเทียวมาลำพูน-เชียงใหม่ ก็ไม่ท้อ เพราะการรักษาที่ผ่านมานับว่าคุ้มกับพัฒนาการที่ค่อยๆ ดีขึ้น

“มาแต่ละครั้งจะอยู่ที่นี่ 1 เดือน หมอจะฝังเข็มให้ทุกวัน ทำกายภาพบำบัด และฝึกพูด กรณีน้องมุกจะต้องกระตุ้นสมองมากๆ การอ่านนิทาน หรือเล่าเรื่องต่างๆ ให้เขาฟังจะช่วยได้เยอะ ห้องสมุดของเล่นก็จะมีนิทานให้ยืมด้วย จะมีทั้งนิทานที่ทำจากผ้า เขาจะได้ฟังเรื่องพร้อมกับฝึกกล้ามเนื้อมือด้วย”

น้องมุกในวันนี้ยังต้องนั่งรถเข็นเนื่องจากทรงตัวไม่ได้ แต่สิ่งที่ป้าของน้องมุกคาดหวัง ก็คือ การบำบัดเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะช่วยให้น้องมุกฟัง พูด นั่ง และช่วยเหลือตัวเองได้

***ของเล่นเหนือขยายความรู้สู่กรุงเทพฯ
ครูกี้ – สังเวียน ธำรงวจนเมธาวี
หัวหน้าพยาบาล สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวว่า ของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่ 1-3 ปีนั้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการมาก ไม่เฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องเท่านั้น เด็กทั่วไปก็เช่นกัน หากได้รับการกระตุ้นที่ถูกต้องจะสามารถทำให้มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)

สำหรับโครงการของเล่นที่จะนำร่องที่ห้องสมุดทีเคพาร์ค กรุงเทพฯ นั้นส่วนใหญ่เป็นของเล่นที่ผลิตโดยผู้ปกครองของเด็กที่เข้ารับการรักษาในสถาบัน ซึ่งกว่าจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนานานกว่า 10 ปี โดยของเล่นชุดแรกที่นำขบวนไปก่อน คือ รถไฟฟ้า ที่บรรจุบล็อกไม้สีและขนาดต่างๆ รวมถึงหนังสือผ้าที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก จำนวน 8 ชุด 50 ชิ้น ซึ่งกว่าจะได้รูปแบบที่สำเร็จนี้ มีการลองผิดลองถูกนานพอสมควร

“แรกเริ่มเราใช้ผ้าเย็บเป็นนิทานเล่ม แต่เด็กจะชอบดึง วัสดุที่นำมาปรับปรุงเป็นลูกบอลบ้าง เป็นรถไฟ หรือใช้วัสดุที่ทำให้เด็กปะติดได้สะดวก ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมพฤติกรรมการเล่นของเด็กในทุกรูปแบบ นอกจากเด็กทุกคนจะได้ประโยชน์จากของเล่นนี้แล้ว เราก็จะได้ของเล่นที่คงทนด้วย”

นับเป็นโชคดีของเด็กยุคใหม่ที่มีผู้ใหญ่ใจดีเล็งเห็นความสำคัญของการเล่น นั่นคงเป็น เพราะพัฒนาการของประเทศนี้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการเด็กวันนี้กระมัง...



กำลังโหลดความคิดเห็น