ไซน์เดลี- นักวิจัยแคนาดาพบ "เกรลิน" ฮอร์โมนกระตุ้นหิวทำให้อาหารน่ากินขึ้น ทั้งกระตุ้นให้เกิดการเผาพลาญอาหารและความเพลิดเพลินจากการกิน
จากการศึกษาของนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการมอนทรีอัล (Montreal Neurological Institute) มหาวิทยาลัยแมคกริล (McGrill University) แคนาดา พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับฮอร์โมนกระตุ้นความหิว "เกรลิน" (ghrelin) มีสัญญาณทางสมองตอบสนองอย่างแรงต่อภาพอาหาร โดยพบปัจจัยที่ขับให้เกิดการกินอาหารคือสัญญาณเผาพลาญอาหารและสัญญาณความเพลิดเพลินต่ออาหาร
"เมื่อเราไปซูเปอร์มาร์เก็ตตอนหิว อาหารทุกอย่างดูน่ากินขึ้น สมองของคุณกำลังสั่งให้จับจ่ายอาหารทุกอย่าง ตอนนี้เราพบว่าเป็นเพราะเกรลินกระทำต่อสมองทำให้อาหารน่ากินขึ้น" อาเลียน ดาเจอร์ (Alain Dagher) นักวิจัยจากสถาบันโภชนาการมอนทรีอัลกล่าว
ดาเจอร์เสริมว่าพฤติกรรมกินอาการอย่างเพลิดเพลิน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในภาวะที่ร่างกายขาดแคลนสารอาหารหรือพลังงาน อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวของมนุษย์ แต่ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์พฤติกรรมดังกล่าวดูจะเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและยังพบว่ามีความเชื่อมโยงกับการเป็นโรคอีกด้วย
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่าฮอร์โมนเกรลินนั้น หลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหารและเซลล์เนื้อเยื่ออื่นๆ ก่อนมื้ออาหารและลดลงหลังจากนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุของความหิวและกระตุ้นให้เกิดการกินอาหาร
ดาเจอร์ยังระบุอีกว่าจากการทดลองทั้งคนผอมและคนอ้วนที่ได้รับฮอร์โมนเกรลิน จะกินอาหารโดยได้รับแคลอรีเยอะกว่ากลุ่มคนที่ได้รับฮอร์โมนหลอก เมื่อให้เลือกกินอาหารโดยอิสระ แต่จะกินมาก-กินน้อยอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนโดยธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่า เกรลินกระตุ้นการกินจากการกระทำต่อสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีตัวรับฮอร์โมนเกรลินอยู่หนาแน่น อย่างไรก็ดีสมองส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวและความพึงพอใจก็ได้รับผลอย่างเจาะจงจากฮอร์โมนนี้เช่นกัน
ในการศึกษาครั้งนี้ทีมวิจัยได้ใช้เครื่องสแกนเอฟเอ็มอาร์ไอ (fMRI) วัดการตอบสนองของสมอง ต่อภาพที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารในอาสาสมัครที่ได้รับฮอร์โมน โดยมี 12 คนที่ได้รับฮอร์โมนและอีก 8 คนที่ได้รับฮอร์โมนหลอก จากนั้นให้อาสาสมัครดูภาพอาหารทั้งก่อนและหลังได้รับฮอร์โมน พบว่าเกรลินเพิ่มการตอบสนองต่อภาพอาหารในหลายๆ ส่วนของสมอง
"เกรลินส่งผลที่กว้างมาก มันไม่ใช่แค่หนึ่งหรือสองของบริเวณสมองแต่เป็นเครือข่ายทั้งหมด ภาพอาหารดูเด่นขึ้นมาและพวกเขามองเห็นภาพเหล่านั้นได้ดีขึ้น และไม่เพียงมีอิทธิพลต่อกระบวนการมองเห็นเท่านั้นแต่ยังมีผลต่อความจำด้วย อาสาสมัครจำภาพอาหารได้ดีกว่าเมื่อมีระดับเกรลินสูง" ดาเจอร์อธิบาย
การบำบัดโรคอ้วนด้วยการรบกวนผลที่เกิดจากเกรลินนี้อาจเป็นไปได้ แต่เพราะฮอร์โมนนี้มีอิทธิพลต่อสมองส่วนของความพึงพอใจด้วย ดาเจอร์จึงเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงทางด้านอารมณ์ตามมา อย่างไรก็ดีเขากล่าวว่าการค้นพบนี้ก็น่ามีความหมายต่อสุขภาพของสาธารณชน.